ไอที ธุรกิจ

หวั่น "การบินไทย" ขาดทุนทะลัก คลังเร่งกู้ชีพจบใน 2 เดือน

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 08.49 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 23.02 น.
A Thai Airways International Pcl Airbus A350 aircraft taxis after landing for the first time at Suvarnabhumi Airport in Bangkok, Thailand, on Wednesday, Aug. 31, 2016. After a five-year austerity drive, Thai Airways is ready to expand again. The airline, which last ordered planes in 2011, is drawing up a 10-year plan through 2027 that will include aircraft purchases to help boost passenger growth. Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

“บินไทย” วิกฤตหนักแบกต้นทุน-เสี่ยงล้มละลาย เผยเหลือกระแสเงินสด 1 หมื่นล้านไม่พอใช้หนี้ แนะเร่งทำแผนรีเซตธุรกิจ ถกเครียดลดเงินเดือนพนักงาน 25-40% รมว.คลังยันพร้อมหนุน เร่งสรุปแนวทางแก้ไขใน 2 เดือนนี้ อดีตผู้บริหารแนะทางรอด รัฐต้องอุ้ม-ผ่าตัดครั้งใหญ่ ดาวน์ไซซ์องค์กร แก้โจทย์ต้นทุน ชี้ถ้าไม่เร่งแก้ ตัวเลขขาดทุนอาจพุ่งแตะแสนล้าน

การประกาศปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราวของทุกสายการบินในประเทศไทย จากมาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ห้ามคนทั่วโลกเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบธุรกิจสายการบินของไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะการบินไทย เนื่องจากเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบฟูลเซอร์วิสเพียงรายเดียวที่ให้บริการเส้นทางบินในทุกภูมิภาคทั่วโลก และมีต้นทุนการดำเนินงานสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านต่อเดือน แต่ไม่มีรายได้เข้ามา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่ต้องเพิ่มทุน เพราะสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูง รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (net debt to EBIDA) สูงถึง 36.4 เท่า

ถาวรแนะบินไทย “รีเซตธุรกิจ”

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ไปพบผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ THAI Operations Control Centre หรือ TOCC ของ บมจ.การบินไทย เพื่อลดผลกระทบจากการระงับทุกเที่ยวบิน เบื้องต้นให้โจทย์ไปคิด 4 ประเด็น คือ 1.เครื่องบินที่จอดไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 20 ล้านบาท/เดือน จะบริหารจัดการอย่างไร สามารถต่อรองได้หรือไม่ หรือย้ายไปจอดที่สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และสนามบินภายใต้การกำกับของทหาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2.การเพิ่มภารกิจด้านการขนส่งสินค้า (cargo mission) ระหว่างที่ไม่ได้ทำการบิน ให้พิจารณาเส้นทางที่เหมาะสม แล้วปรับมาขนส่งสินค้าให้ได้มากที่สุด 3.ปรับเปลี่ยนบทบาทลูกเรือให้ไปทำงานด้านอื่น 4.เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นหลังงดทำการบิน 2-4 เดือนแล้ว การบินไทยมีแผนที่จะรีเซตธุรกิจอย่างไร ทั้งหมดจะต้องมีการนำเสนอผู้บริหารการบินไทยด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน และวันนี้ (27 มี.ค.) ตนจะไปพบ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.การบินไทย หารือประเด็นต่าง ๆ รวมถึงแผนฟื้นฟูและแผนจัดซื้อเครื่องบินด้วย

จ่าย พนักงาน 3 พันล้าน/เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลงบการเงินปี 2562 ของ บมจ.การบินไทย มีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท มีหนี้สินของบริษัทและบริษัทย่อย 244,899 ล้านบาท เป็นหนี้สินหมุนเวียน 62,636 ล้านบาท มีหนี้สินกำหนดชำระใน 1 ปี 21,731 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2561 การบินไทยมีพนักงาน 22,054 คน ค่าใช้จ่ายพนักงานรวม 33,865 ล้านบาท หรือเดือนละ 2,822 ล้านบาท นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มผลตอบแทนพนักงานขึ้นอีก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้นช่วงที่หยุดทำการบินทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยก็โอนให้ทางสายการบินไทยสมายล์บินแทน ให้พนักงานทั้งหมดหยุดงานเบื้องต้น 2 เดือน ทำให้บริษัทต้องแบกภาระรายจ่ายพนักงานเดือนละ 3,000 ล้านบาท โดยที่แทบจะไม่มีรายได้เข้ามา

ปรับลดเงินเดือน 25-40%

แหล่งข่าวใน บมจ.การบินไทยระบุว่า ขณะนี้ผู้บริหารบริษัทและทางสหภาพแรงงานการบินไทย อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะปรับลดการจ่ายผลตอบแทนพนักงานในสัดส่วนเท่าไหร่ ในช่วงที่หยุดงาน ซึ่งตามหลักการเงินเดือนสูง จะถูกปรับลดในสัดส่วนที่สูง เบื้องต้นได้กำหนดว่า เงินเดือนไม่เกิน 40,000 บาท ปรับลด 25%, เงินเดือน 40,001-60,000 บาทลด 30%, เงินเดือน 60,000 บาทขึ้นไปลด 40%

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะทางผู้บริหารยังมีการขอเจรจาต่อรองเพิ่มเติม ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าการหยุดบินอาจยาวนานกว่า 2 เดือน

เหลือเงินสดหมื่นล้าน-ไม่พอจ่ายหนี้

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เผยว่า ข้อมูลงบการเงินของ บมจ.การบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีกระแสเงินสด 21,000 ล้านบาท มีส่วนที่ต้องจ่ายเป็นเงินสด 11,000 ล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดคงเหลือราว 10,000 ล้านบาท รองรับการดำเนินการปี 2563 แต่เนื่องจากมีหนี้ครบกำหนดชำระปีนี้ราว 25,000 ล้านบาท จึงอาจขาดสภาพคล่อง ซึ่งภาครัฐที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีกระแสข่าวว่าจะเข้ามาช่วยค้ำประกันเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้

คลังถกคมนาคมแก้ปมบินไทย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ปัญหาของการบินไทย กระทรวงการคลังและคมนาคมซึ่งร่วมกันกำกับดูแลหารือกันอยู่เป็นระยะ ๆ ทั้ง 2 กระทรวงพร้อมสนับสนุนการบินไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามแผนที่การบินไทยกำลังเร่งทำ หากต้องพิจารณาเพิ่มทุน ก็ต้องมีแผนชัดเจนมาให้พิจารณาว่าต้องการสนับสนุนทุนอย่างไร เบื้องต้นคลังกับคมนาคมก็ช่วยกันดูแลให้เดินหน้าผ่านไปได้ในช่วงเวลาที่ลำบาก

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทั้งคลังและคมนาคมรับรู้ข้อมูลปัญหาขอการบินไทยมาโดยตลอด จะเร่งสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ในแง่การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องนั้นมี 2แนวทาง คือ เพิ่มทุน หรือการกู้เงิน ซึ่งจะต้องประเมินถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะยืดเยื้อไปอีกระยะเวลาเท่าไหร่ด้วย

แนะรัฐผ่าตัดด่วน

อดีตผู้บริหาร บมจ.การบินไทย รายหนึ่งให้ความเห็นว่า รอบหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินประสบปัญหาทั้งระบบ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคา ทุกสายการบินมีปัญหาตัวเลขผลประกอบการ บวกกับโครงสร้างการบินไทยมีขนาดใหญ่ มีบุคลากรถึงราว 2 หมื่นคน ทางเดียวที่จะอยู่รอด คือ ต้องกล้าที่จะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด ดาวน์ไซซ์ทั้งเรื่องขนาดองค์กร บุคลากร ฯลฯ

“จุดเปลี่ยนสำคัญของการบินไทยในตอนนี้ คือ หากรัฐบาลยังมองว่าประเทศไทยควรจะมีสายการบินแห่งชาติต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่เงินเข้ามาช่วยอุ้ม และต้องรีบจัดการให้เสร็จโดยเร็ว หรือภายในเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากสถานะของการบินไทยตอนนี้ไม่มีเงินเหลือที่จะเดินต่อไปแล้ว แต่ถ้าหากคิดว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติก็เตรียมปิดกิจการได้เลย”

ในส่วนของการบินไทยนั้น แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ไวรัสโควิดได้ส่งผลกระทบชัดเจนมาตั้งแต่เดือน ก.พ. และรายได้เริ่มสะดุด ถ้าสถานการณ์ลากยาวไปอีก หรืออาจจะถึงสิ้นปี หากทุกฝ่ายยังนิ่งเฉย มีโอกาสสูงมากที่ตัวเลขขาดทุนจะพุ่งหลายหมื่นล้าน

ชี้ “ผู้นำ” บริหารผิดพลาด

แหล่งข่าวในธุรกิจการเงินรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า จุดเปลี่ยนและจุดเสี่ยงสำคัญของการบินไทยในวิกฤตรอบนี้ คือ การที่ผู้บริหารโอนทุนสำรองตามกฎหมาย 2,691 ล้านบาท และเงินสำรองที่เกิดจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 2.55 หมื่นล้านบาท ไปชดเชยผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการ 2.8 หมื่นล้านบาท (มูลค่า ณ เมื่อ 31 ธ.ค. 2561) เมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้บริหารให้เหตุผลว่า วิธีนี้จะทำให้องค์กรอยู่รอดและเห็นผลเร็วที่สุด ทำให้บริษัทไม่เหลือเงินคงคลังเพื่อนำมาใช้ในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

ศักดิ์สยามรื้อแผนฟื้นฟูบินไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูของ บมจ.การบินไทยว่า ได้ให้แนวคิดไปว่าควรมีการหารือกับสถาบันทางการเงินทุกแห่งทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสรุปข้อมูลทางการเงินให้เรียบร้อย หากการบินไทยต้องการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยควรระบุจำนวนเงินและแผนงานให้ชัดเจน ซึ่งตนจะหารือ รมว.คลัง เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ขณะที่แผนซื้อฝูงบินใหม่ก็ต้องทบทวนใหม่ ส่วนตัวยังยืนยันเรื่องการเช่ามากกว่า

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 9
  • Pop Prapan
    สายการบินแห่งชาติ หรือรายจ่ายแห่งชาติกันแน่
    31 มี.ค. 2563 เวลา 01.29 น.
  • j.jumphol
    จำนำข้าวเจ๊ง คนทำติดคุก ทำสายการบินเจ๊ง สุขสบายกันทั่วหน้า เอาเงินกูไปจ่าย บริหารอย่างนี้ คือสัญญลัษณ์ของชาติ(โคตรแพงชิบหาย) ค่าคำว่า”แห่งชาติ”
    30 มี.ค. 2563 เวลา 15.44 น.
  • Kriangsak
    ที่ผ่านมากก็ขาดทุนอยู่แล้ว ไม่รู้จะอุ้มไปทำไม ภาษีล้วนๆ รึท่านจะเถียง ภาครัฐเอาเงินมาจากไหน ก็รู้ว่ามันไม่คุ้ม ยังจะดันทุรังตำนำ้พริกละลายแม่น้ำ ขาดทุนมากี่ปี เปลี่ยนผู้บริหารมากี่ชุด ถ้าเอาเงินไปพัฒนาสร้างโรงพยาบาลดีกว่าไหม เพราะว่าประชาชนทุกคนได้ใช้ประโยชน์ แต่นี้แค่องค์กรเดียว ขายให้เอกชนเขาบริหารเถอะ รอเก็บค่าเช่าค่าบริการต่างๆก็พอ ก็รู้ว่าขาดทุน พวกคุณก็ดันทุรัง นักลงทุนเขาใช้สมองกันครับ ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก อ้อ!ลืมไปไม่ใช่เงินพวกคุณ ผมถามหน่อยเถอะองค์กรนี้เคยสร้างรายได้ให้ประเทศไหม มีแต่ใช้
    30 มี.ค. 2563 เวลา 15.35 น.
  • TA
    ปล่อยล้มแล้วล้างใหม่เถอะ... ทำแบบ jal เก่งแต่ใช้ภาษีอุ้ม
    30 มี.ค. 2563 เวลา 15.35 น.
  • Man Z
    ปรกติก็ขาดทุนอยู่แล้วนี่
    30 มี.ค. 2563 เวลา 13.47 น.
ดูทั้งหมด