"ถ้าคนแบบอ้อมยังเปลี่ยนได้ ใคร ๆ ก็เปลี่ยนได้" คำพูดตรง ๆ จากใจของ "อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์" ศิลปินและดีเจผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน จากคนที่เคยใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งในทุกด้าน ทั้งกินเหล้า เจ้าชู้ เจ้าอารมณ์ กลายเป็นคนที่ศรัทธาในโลกแห่งธรรม จนตกลงปลงใจบวชถึง 3 ครั้ง อะไรที่ทำให้เธอเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ LINE TODAY ชวนอ่านมุมมองเรื่องธรรมะแบบธรรมชาติในความคิดของอ้อม สุนิสากันค่ะ
บทบาทในวงการบันเทิง
"ตอนนี้ในวงการ งานประจำอ้อมทำแค่ดีเจ จัดรายการวิทยุที่ EFM และกรีนเวฟ ส่วนที่เหลือเป็นงานจิตอาสา ทำรายการธรรมะให้วัดพระรามเก้า จัดรายการให้เสถียรธรรมสถาน แล้วก็จัดเสวนาดูหนังหาแก่นธรรม ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) และงานอื่น ๆ ที่ติดต่อมาค่ะ ซึ่งอ้อมทำงานจิตอาสามากกว่างานประจำอีก งานประจำทำเอาสนุก แต่งานอาสาต่าง ๆ ทำเพื่อความสุขค่ะ"
ก้าวแรกสู่วงการธรรมะ
"13 ปีก่อนอยากทำรายการธรรมะทางทีวี ตอนนั้นอยากทำเพราะแค่อยากรู้ว่า ทำไมไหว้พระต้องจุดธูป ทำไมต้องสวดมนต์แล้วแปล ถ้าไม่แปลแล้วจะได้บุญต่างกันไหม นี่คือจุดที่คิดในเวลานั้น เลยอยากทำรายการธรรมะสั้น ๆ เริ่มจากนำเงินส่วนตัวที่มีอยู่ไปจ้างคนทำ จ้างพิธีกร จำได้ว่าไปสัมภาษณ์ท่านว.วชิรเมธี (พระเมธีวชิโรดม) รายการธรรมะมันตอบโจทย์หลายอย่างเลยนะ ความคิดในตอนนั้นคือภาพลักษณ์ก็ได้ เงินก็ได้บ้าง ความรู้ก็ได้ด้วย พอรายการเสร็จก็รู้สึกว่าน่ารักดี แต่ปรากฏว่าหาเวลาที่จะลงในช่องทีวีไม่ได้ รู้สึกผิดหวังมาก ทำไมรายการอื่นลงได้ แต่รายการธรรมะแค่ 1 นาทีกลับไม่มีใครต้องการ
ก็เลยไปปรึกษาแม่ชีศันสนีย์ ท่านเลยชวนเข้าไปฟังธรรมะ จากแค่ฟังก็เริ่มมีถาม มีตอบ เลยไปจนถึงช่วยเหลือการทำงานของเสถียรธรรมสถาน ตอนนั้นเริ่มสนุกกับมันแล้ว จนปี 2552 เราบวช พอสึกมาก็มีโอกาสเจอกับ คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช เลยได้ไปร่วมงานกับสวนโมกข์กรุงเทพฯ โดยไม่ได้ตั้งใจ จากนั้นก็ทำมาตลอดควบคู่กับเสถียรธรรมสถาน และวัดพระรามเก้า ทำแบบนี้เราไม่ได้เงินนะ แต่สิ่งที่ได้รับมันยิ่งใหญ่มาก มันเปลี่ยนตัวเองได้ อ้อมเลยเชื่อว่า ธรรมะดีจริง"
จากความสงสัยและอยากหาคำตอบ นำพาอ้อม สุนิสา เข้าสู่ศาสนาพุทธอย่างเต็มขั้น
"ย้อนกลับไปสมัยก่อนเราเป็นคนที่ใช้ชีวิตสุดโต่งมาก ศีล 5 ข้อเราอาจจะยังไม่ได้ทำแค่ฆ่าคน ฆ่าสัตว์ล่ะมั้ง ที่เหลือทั้งดื่มเหล้า เจ้าชู้ เราเป็นมาหมดแล้ว ถ้าไปทำเรื่องธรรมะแบบเจาะลึกมาก ภาพลักษณ์เราอาจจะยังไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะมองว่า หากสิ่งที่เรากำลังทำมันสามารถเปลี่ยนแปลงคนได้ แม้เพียงคนเดียวก็ตาม นั่นคือกำไรแล้ว เพราะถ้าคนนั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนอื่นได้อีก ก็กำไรมากขึ้นไปอีก"
"เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าเราเป็นทุกข์ เราสถาปนาตัวเองเป็น ‘เจ้าลัทธิแห่งความสุข’ เลยแหละ พอวันนึงได้ฟังบทสวดมนต์ มันถึงรู้ตัวว่า อ้าว เรากำลังทุกข์หรือนี่ เรามักเข้าใจว่าความทุกข์ต้องเป็นแค่เรื่องใหญ่ ๆ จริง ๆ มันก็ทุกข์ แค่จะมากหรือน้อย แต่ถ้าเราดีลกับทุกข์ได้มันก็สุข สำหรับอ้อมจะมองว่ามนุษย์คือก้อนทุกข์เคลื่อนที่ ถ้าคนได้ยินแบบนี้แล้วเขาไม่เข้าใจ เขาจะบอกว่าเรามองโลกในแง่ลบ เปล่าเลย เราไม่ได้มองแง่ลบ เราแค่มองความจริง ทุกข์ก็ทุกข์ จะน้อยจะมากก็ว่ากันไป เรากลายเป็นคนยอมรับความจริงง่ายขึ้น แล้วเวลายอมรับความจริงได้ มันสนุกกว่า ทำให้เราเข้าใจตัวเองเร็ว ถึงบอกว่า ถ้าอ้อมเปลี่ยนได้ ใครก็เปลี่ยนได้"
อ้อม สุนิสาในอดีต กับ อ้อม สุนิสาในปัจจุบัน
"ตอนนี้อ้อมก็ยังเป็นคนอารมณ์ร้อนนะคะ โดยเฉพาะเวลาทำงาน เพราะว่าเราเป็นคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เด็ก อายุแค่ 16 ปีก็มีงาน มีชื่อเสียง คนรอบข้างก็เลยพร้อมจะตามใจ ทำให้เรารอไม่เป็น โทษคนอื่นตลอด อย่างเวลาไปทำงานสาย เพราะออกจากบ้านช้า เราก็ดันไปหงุดหงิดรถคันข้างหน้าว่าทำไมขับช้า ทำไมรถติด แต่เรากลับไม่โทษที่ตัวเองออกจากบ้านช้าเอง คือโทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง แต่ทุกวันนี้เรากลับมายอมรับตัวเองง่ายขึ้น กลับมามองตัวเองมากขึ้น ก็ยังมีขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่บ้าง แต่พยายามบาลานซ์ให้มากขึ้น สบายขึ้น เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม ยากแค่ไหน เราจะสามารถรับมือกับมันได้ ไม่ว่ามากหรือน้อยก็สามารถจัดการได้ เราอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้นด้วยค่ะ"
เมื่อไถ่ถามคนรอบข้างของอ้อม สุนิสาว่าเจ้าตัวเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ก็ได้คำตอบว่า ใจเย็นขึ้นเยอะ ส่วนอารมณ์หงุดหงิดที่เคยเป็น ยังมีอยู่บ้าง แต่รู้ตัวเร็วขึ้น รู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น แต่เชื่อว่าไม่ว่าใคร อารมณ์เหล่านี้มันไม่มีทางหายไป 100% เพราะยังไงเราก็ยังเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดาคนนึงเท่านั้น
"อ้อมว่าธรรมะมันสนุกมากเลยนะ สนุกตรงที่ว่ามันกลับมาที่เราเอง เราเคยทำงานแล้วรู้สึกไม่ถูกใจคนร่วมงานเลย ตอนนั้นก็รู้สึกหงุดหงิดในใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ พอมาตอนนี้เวลาเจอเรื่องอะไรไม่ถูกใจ เรากลับปล่อยวางได้ มีครั้งนึงเราเคยโดนแม่ชีศันสนีย์ดุท่ามกลางคนจำนวนมาก เราก็ไม่พอใจ แล้วคิดว่าท่านดุเราทำไม นี่เรามาช่วยท่านทำงานนะ แต่ตอนนี้คือดุด่ามาเลย ถ้ามันเป็นเรื่องจริง ก็ปล่อยเพราะมันจริง ถ้ามันไม่ใช่เรื่องจริง ก็ปล่อยเพราะมันไม่จริง ไม่รู้จะรับมาทำไม เท่านั้นเลยค่ะ"
เมื่อถามว่าที่เปลี่ยนไปเป็นเพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วยหรือไม่ กลับได้คำตอบว่า อายุเป็นแค่เหตุปัจจัยที่เพิ่มขึ้นและทำให้เรายังไม่ตาย เพราะหากอายุทำให้คนเปลี่ยนจริง ตอนนี้โลกเราเต็มไปด้วยคนสูงอายุ มันก็น่าจะต้องดีขึ้น แต่นี่ยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นอายุอาจไม่ได้เปลี่ยนคนได้เสมอไป
"ตอนที่เราบวชครั้งล่าสุด เราถูกสอนให้ยอมเลยนะ เขาสอนว่า ต่อให้เราเป็นเสือ แล้วจุดนึงเราต้องยอมจนเหมือนหมา ถ้าทำได้ก็ให้ทำ ถ้าการยอมจนอาจจะถูกหยามนั้นมันทำให้เราพัฒนาตนเอง เสือก็ยังเป็นเสืออยู่วันยังค่ำ ต่อให้ถูกมองว่าเป็นหมาไปแล้วก็เถอะ มันเป็นเรื่องของเขา เพราะถ้าเราเป็นเสือจริงเราจะไม่แคร์เลย มันไม่ง่ายนะคะ แต่ต้องอดทน"
เพราะธรรมะจะเป็นเรื่องสนุกสำหรับอ้อม สุนิสา เธอจึงใช้มันเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตทุกอย่างด้วย
"ช่วงที่เคร่งมาก ๆ จะกังวลไปซะทุกอย่างเลย เวลาไปงานเลี้ยง มันก็จำเป็นต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วางบนโต๊ะ เราก็จะคิดแล้วว่า คนอื่นจะมองเรายังไง เขาจะมองว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วยังดื่มแบบนี้ไม่ถูกต้องหรือเปล่า แต่บางครั้งมันจำเป็นในการเข้าสังคมจริง ๆ ถามว่าไม่ดื่มได้ไหม บางทีมันเกี่ยวกับมารยาททางสังคม เราก็แค่ชิม แต่มีสติว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีเจตนาที่ดี เรื่องที่คนอื่นจะมองเราอย่างไรนั่นมันเรื่องของเขาแล้ว เราไม่เกี่ยว"
อะไรคือส่วนที่ยากที่สุดในโลกแห่งธรรม
"อัตตาน่ากลัว ความเป็น ‘ตัวกู’ นี่แหละที่น่ากลัว ‘กู’ มันทำให้ทุกอย่างน่ากลัวไปหมดเลย กูอยากได้ก็น่ากลัว กูจะช็อปปิง กูอยากได้อันนั้น กูอยากได้อันนี้ กูยังไม่มี ไม่ใช่กูยังไม่มีอันนี้แต่ยังไม่มีสีนี้ ปัญหาคือกูยังไม่มี หรือว่ากูโกรธ กูไม่ชอบที่ทำแบบนี้กับกู กูใหญ่ไปหมด ตัวกูนี่แหละที่ใหญ่ พอเราเอากูเป็นที่ตั้งค่ะ เหลืออย่างเดียวที่กูไม่เคยรู้เลย คือกูไม่อยากเปลี่ยนตัวเอง อ้อมว่ามันน่ากลัว แต่ถามว่ายากไหม มันไม่ยากนะคะ มันต้องพยายามหัดไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างหัดได้ อ้อมก็ยังเชื่อว่าถ้าคนอย่างอ้อมยังเปลี่ยนได้ ใครก็เปลี่ยนได้"
ว่าด้วยเรื่องของการบวช
"อ้อมบวชทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกปี 2552 แล้วก็ปี 2555 ที่บวชอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจ คุณแม่ชีศันสนีย์ชวนไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ๆ ที่ไปบวชที่อินเดีย แล้วเขาก็ถามว่าบวชไหมลูก? เราก็ไม่บวช คนอย่างอ้อมไม่มีทางบวชที่อินเดีย เพราะอินเดียฉี่ยาก ในมุมมองเราถ้าจะต้องถกผ้าและฉี่ที่อินเดีย อ้อมไม่ทำ มีช่วงนึงขณะที่กำลังนั่งรถ รู้สึกปวดห้องน้ำ แต่ไม่อยากลงข้างทาง เลยอดทน จนถึงจุดหนึ่งอ้อมเริ่มเห็นแม่ชีศันสนีย์และคนอื่น ๆ ลงข้างทาง แล้วเขาก็ขึ้นรถมาหน้าตาสบายเชียว แต่อ้อมคนเดียวที่นั่งปวดท้อง เริ่มไม่สนุกแล้ว พอป้ายหน้าเขาบอกคุณอ้อมลงเหอะ อ้อมก็ลองดูสักตั้ง แล้วอ้อมก็ลงจริง ๆ ตอนนั้นเป็นความรู้สึกที่เห็นธรรม คำว่า 'ปลดทุกข์' คืออันนี้เลย มันคือปลดทุกข์ และพอทุกข์หาย เราจะเห็นความเบา และสบาย เข้าใจเลยจริง ๆ
จบคืนนั้น ก็ตัดสินใจบวช นั่นเป็นครั้งที่ 2 ถามว่าภาวนาได้เยอะไหม ถ้าเรามองว่าภาวนาคือการที่จะต้องนั่งสวดมนต์และเดินจงกรม เราอาจจะทำได้ไม่เยอะหรอก แต่ถ้าภาวนามันอยู่กับทุกขณะที่เราพึงทำได้ ซึ่งจริง ๆ ครูบาอาจารย์เขาก็สอนอยู่แล้วว่า ถ้ารู้ตัวอยู่เรื่อย ๆ มันก็คือภาวนานั่นแหละ เผลอ ๆ มันใช้เวลามากกว่าอยู่ในวัดอีก ส่วนการบวชครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเพราะว่าหลวงพี่ที่วัดพระรามเก้า ชวนบวชให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ค่ะ"
บวชครั้งต่อไป
"ถ้ามีครั้งที่ 4 อ้อมคิดไว้ว่าน่าจะเป็นครั้งที่ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าถามว่าคิดจะบวชตลอดชีวิตไหม ถ้าเลือกได้อ้อมอยากนะ ถ้ามีที่ที่เหมาะและปลอดภัยสำหรับผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกัน คนก็บอกว่าอ้อมใช้ชีวิตทางโลกก็ได้ แต่เป็นสื่อให้คนอื่นแทน อ้อมถูกกอปรมาให้เป็นแบบนี้ มันก็เลยยังอยู่ในช่วงเวลาที่ยังคาบเกี่ยวว่า อ้อมจะบวชดีไหม แต่ถ้าบวช อ้อมไม่อยากลั่นออกไปว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ตลอดชีวิต เพราะเราก็ไม่รู้อนาคตหรอกว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และคนบางคนพอเราลั่นไปเขาจะถามว่าถ้าเราสึก เขาจะหาว่าเราผิดคำพูด แต่ถ้าเป็นไปได้ อะไรก็ได้ที่ทำให้อ้อมเลือกทางนี้ จะเป็นภาคไหนก็ได้ที่มันทำให้อ้อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และผู้อื่น อ้อมว่ามันก็แล้วแต่เหตุปัจจัย"
จุดมุ่งหมายสูงสุดคือการว่าง
"อ้อมอยากว่าง อะไรก็ได้ว่าง ๆ สบาย ๆ เพราะที่ผ่านมามันวุ่น ถ้าอ้อมได้ว่างแบบยาว ๆ ก็คงเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามันว่างไม่ยาวได้เท่านั้น ก็ว่างให้ได้มากที่สุด"
อยากศึกษาธรรมะ ต้องเริ่มอย่างไร
"แล้วแต่สไตล์นะ อ้อมบอกว่าไปสวดมนต์เถอะ บางคนก็ไม่ชอบ แต่ถ้าใครอยากสวดแนะนำให้สวดมนต์แปล เพราะคำแปลมันจะบอกอะไรบางอย่าง อย่างน้อยเข้าใจคำแปล การสวดมนต์มันช่วยให้ใจเราอยู่ตรงนี้ ถ้ามันแว้บก็รู้ หรือบางคนอาจจะฝึกไปนั่งสมาธิก็ได้ แล้วแต่ชอบ บางคนไปเดินจงกรมก็ได้ แล้วแต่จะฝึกเลย เอาที่ชอบที่ถนัดดีกว่า"
พื้นฐานที่สุดของธรรมะอาจไม่ใช่การฝึกภาวนาใด ๆ แต่เป็นการรู้ทันตัวเอง ถ้ารู้ว่าทุกข์ ก็ยอมรับว่าทุกข์ เสมือนเวลาเป็นแผล ต้องยอมรับว่าเป็นแผล จึงจะเริ่มหาทางรักษา
"ธรรมะเป็นเรื่องสนุก เรามองว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้เรากลับมาที่ตัวเอง ไม่ใช่เห็นแก่ตัวนะคะ แต่กลับมาพัฒนาตัวเอง เข้าใจ และกลับมาด่าตัวเองได้ อันนั้นคือสนุกที่สุด ปกติเราคงไม่ชอบให้คนอื่นมาด่าเราหรอก แล้วเราก็ไม่ชอบให้ตัวเองด่าตัวเองหรอก แต่ถึงที่สุดถ้าเรากล้าพอที่จะให้ตัวเราด่าเรา มันก็ย่อมดีกว่าคนอื่นด่าเรานี่ แล้วเราจะมีโอกาสแก้ไขตัวเองก่อน มันเป็นโอกาสที่ดีค่ะ"
สำหรับบทบาทใหม่ที่ 'อ้อม สุนิสา' กำลังจะทำคือการเป็นผู้ดำเนินรายการ 'ธรรมlife' ครั้งแรกของรายการธรรมะ บนแพลตฟอร์ม LINE ที่นำเสนอเรื่องราวของธรรมะกับชีวิตประจำวันที่เข้าใจง่าย และนำไปปรับใช้ได้จริง
"ผู้ที่ชมรายการ 'ธรรมlife' อย่างน้อยที่สุดบางอย่างในรายการคงได้บรรเทาทุกข์ที่ติดขัดอยู่ในใจบางเรื่อง แม้คำถามเดียวมันอาจไม่เยียวยาได้ทุกคน แต่ถ้าดูไปเรื่อย ๆ มันก็จะเข้าไปที่เรื่องเดียวกันคือ ต้นเหตุ คือทุกข์อะไรก็แก้ที่ตรงนั้น ส่วนใหญ่มันไม่ได้ทุกข์ที่ไหนหรอกค่ะ มันทุกข์ที่ใจ ถ้าดูรายการนี้แล้วใจเบา มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ได้บอกว่าคำแนะนำเราดีที่สุด มันเป็นอีกแค่หนึ่งทางเลือก ทางแก้ไขเท่านั้น อย่างคำถามที่ถามพระ หนึ่งคำถามอาจจะมีสิบคำตอบก็ได้นะ เพราะฉะนั้นมันเป็นอีกทางออกหนึ่งเท่านั้นเอง อาจจะทำให้คนคิดได้ว่า ธรรมะอยู่รอบตัวเราจริง ๆ"
"อย่างมีคนถามมาในรายการว่า มีประจำเดือนเข้าวัดได้ไหม เราก็คิดนะตอนนั้นว่ามีคนเชื่อแบบนี้จริง ๆ เหรอ สรุปคือคนใกล้ตัวเรายังเชื่อเลย แปลกมาก เราเลยนำคำถามไปถามพระคุณเจ้า ก็ได้คำตอบว่า ประจำเดือนมันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันห้ามกันไม่ได้ ส่วนเรื่องเข้าวัดได้ ไม่ได้นั้นมันเป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ สะอาดไม่สะอาดอยู่ที่ใจค่ะ ถ้ามีความตั้งใจจะทำกุศลซะอย่าง ไม่ใช่ปัญหาเลยค่ะ
คิดดูถ้าวันนั้นเราไม่หาคำตอบกับเรื่องนี้ จะมีคนอีกสักกี่คนจะพลาดโอกาสในการเข้าวัดไปเพราะความเชื่อที่เชื่อต่อกันมาแบบนี้ จากเรื่องนี้มันทำให้เราคิดเลยว่า มีคำถามอีกมากมายร้อยแปดที่มันซ่อนอยู่ในจิตใจคน เพียงแต่เราต้องกล้าถาม กล้าหาคำตอบถึงจะดี รายการนี้น่าจะมีประโยชน์กับคนที่อยากได้คำตอบในทุก ๆ เรื่อง โดยมีคำตอบทั้งทางธรรมและทางโลกค่ะ แม้แค่คำถามเดียวจากคนเดียว แต่ถ้ามันช่วยคลายทุกข์ที่เขาแบกไว้ได้ มันก็มีคุณค่าค่ะ หรือคนที่ดูแล้วยังไม่ได้เจอปัญหาแบบนี้ แต่ในอนาคตอาจจะเจอเอง หรือมีคนมาปรึกษา เราเองก็จะช่วยบรรเทาความทุกข์เหล่านี้ ส่งต่อความเบาในใจให้เขาได้ รายการเรามีเท่านี้เอง อ้อมอยากให้ทุกคนช่วยกันแชร์ ส่งต่อรายการนี้ เพื่อบรรเทาเยียวยาเพื่อนร่วมทุกข์ซึ่งกันและกันได้ค่ะ"
ติดตามรายการ 'ธรรมlife' ได้ทุกวันเช้าพุธ และวันอาทิตย์ เวลา 08.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2562 ที่ LINE TODAY #ปุ่ม4ในLINE
ผมชอบเวลาที่คุณได้อธิบายขยายธรรมนะ เพราะว่าคุณสามารถที่จะนำเอาในหลักของการดำเนินชีวิตมาประยุกต์เข้ากับธรรมมะมาอธิบายขยายได้น่าฟังทำให้ได้แง่คิดที่ดีๆและน่าฟังมาก.
18 ก.ย 2562 เวลา 10.58 น.
Priwan อนุโมทนาสาธุด้วยนะครับ. ช่วยกันเผยแพร่คำสอนพระศาสดาให้ชั่วลูกชั่วหลาน
18 ก.ย 2562 เวลา 22.25 น.
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการดับทุกข์ การมีดวงตาเห็นธรรมเป็นเรื่องน่ายินดี
18 ก.ย 2562 เวลา 16.43 น.
Panta ดีเจรุ่นแรกๆเลย น่ารักมาก ดีใจที่อ้อมรู้จักตัวตนและวิธีดำรงชีวิต
18 ก.ย 2562 เวลา 22.29 น.
Arpon สาธุค่ะ ชอบพี่อ้อมมากๆๆๆ พี่อ้อมเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
18 ก.ย 2562 เวลา 08.41 น.
ดูทั้งหมด