ไลฟ์สไตล์

จะลูกโป่งล้อเลียนทรัมป์ หรือ ภูเขาไขมันในท่อ ก็ควรไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ (?)

The Momentum
อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 07.59 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 07.54 น. • Museum Minds

In focus

  • การเก็บของที่เป็นสิ่งที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Contemporary Collecting เพื่อที่ว่าในวันหนึ่งมันจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า เป็นอีกภารกิจที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์สมัยนี้
  • พิพิธภัณฑ์ในลอนดอนหลายแห่งเก็บของในยุคสมัยนี้เข้าคอลเลคชั่น เช่นกางเกงยีนส์ราคาถูกที่ผลิตในโรงงานในบังกลาเทศที่มีตึกถล่ม สะท้อนภาพวิกฤติแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า หรือบอลลูนรูปใบหน้าของทรัมป์ที่เป็นเด็กทารกเกรี้ยวกราด ที่คน UK รวมเงินกันสร้างเพื่อประท้วงในคราวที่ทรัมป์มาเยือนสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2018
  • มีเสียงบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พิพิธภัณฑ์ไล่สะสมสิ่งของที่เป็น ‘พาดหัวข่าว’ หรือแม้แต่การ ‘เลือก’ เก็บสิ่งของที่มีนัยทางการเมือง ที่อาจกลายเป็นการสนับสนุนความคิดทางการเมืองด้านใดด้านหนึ่งมากเกินงาม
  • การเก็บของในยุคปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ของที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ของเกิดขึ้นมาจากการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ก็เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ เช่นพิพิธภัณฑ์ได้เก็บภูเขาไขมันที่อุดตันท่อน้ำทิ้งใต้ดิน ที่สะท้อนปัญหาที่ลอนดอนเผชิญอยู่ เพราะนี่คือผลลัพธ์จากที่ผู้คนและธุรกิจต่างๆ ทิ้งไขมันและขยะลงในระบบท่อน้ำทิ้งอันเก่าแก่

ลองคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ ในอีก 100 ปีข้างหน้าจะมีความหมายอย่างไร? สิ่งของที่เราเห็นๆ กันอยู่ อาจกลายเป็นของหายาก ที่บอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่คนลืมเลือนไปแล้วในอีก 3-4 ชั่วอายุคนก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ การเก็บของที่เป็นสิ่งที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Contemporary Collecting เพื่อที่ว่าในวันหนึ่งมันจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ก็เป็นภารกิจที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์สมัยนี้ ไม่ด้อยไปกว่าการเก็บอนุรักษ์โบราณวัตถุเก่าแก่เลยทีเดียว และหลายๆ มิวเซียมก็เอาจริงเอาจังกับงานนี้เสียด้วย เราลองข้ามฝั่งไปดูตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศอังกฤษกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไวกว่า เก็บได้ก่อน

ที่ The Victoria and Albert Museum (V&A) พิพิธภัณฑ์อันมีชื่อเสียงของลอนดอนที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุว่าด้วยเรื่องของ ‘ดีไซน์’ โดยมองว่าการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อดีไซน์และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นสำคัญมาก ถึงขนาดออกกลยุทธ์ด้านคอลเลคชั่น ที่ชื่อว่า rapid response collecting (การเก็บสะสมแบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว) ซึ่งทำให้การเก็บของที่อาจจะหายไปในไม่ช้าทำได้ทันท่วงที ตัวอย่างเช่น V&A เก็บกางเกงยีนส์รุ่นหนึ่งที่ขายที่ห้าง Primark ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องแต่งกายที่เน้นตลาดเสื้อผ้าราคาถูก แต่คุณภาพดีพอประมาณ ดีไซน์สวยงามตามแฟชั่น ซึ่งตามปกติแล้ว ของที่ขายตามร้านค้าทั่วไปเช่นนี้ไม่น่าจะได้ตบเท้าเข้าพิพิธภัณฑ์ระดับ V&A แต่ความพิเศษของเจ้ากางเกงยีนส์ตัวนี้ก็คือ มันถูกผลิตที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มเมื่อปี 2013 มีผู้เสียชีวิตพันกว่าราย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,500 ยีนส์ตัวนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงสินค้าแฟชั่นทั่วไป แต่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนปัญหาแรงงานในธุรกิจการผลิตเสื้อผ้าในยุคปัจจุบัน และปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องมาตรฐานอาคารในบังคลาเทศ กระแสบริโภคนิยมในโลกตะวันตก เป็นต้น 

หลังจากเหตุการณ์อุบัติเหตุนี้กลายเป็นข่าวปุ๊บ ทาง V&A ก็จัดหากางเกงยีนส์ตัวนี้มาไว้ในคอลเลคชั่นทันที ซึ่งคิวเรเตอร์อาวุโส Kieran Long ได้กล่าวไว้ว่า การที่พิพิธภัณฑ์สามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วได้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเนื่องจากคนส่วนมากมักเก็บแต่ของที่มีมูลค่า สิ่งของที่เปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมเพียงชั่วครู่ เพียงปีสองปีผ่านไปก็อาจจะหาไม่ได้แล้วก็เป็นได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ช่วงที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนสหราชอาณาจักร ผู้ประท้วงจำนวนมากร่วมกันลงขันเงินถึง 18,000 ปอนด์ (ราว 7 แสนกว่าบาท) เพื่อสร้างบอลลูนขนาดใหญ่ สูง 6 เมตร เป็นหน้าของทรัมป์ในรูปร่างเด็กทารก สีหน้าเกรี้ยวกราด ในมือถือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สื่อถึงการใช้ทวิตเตอร์อย่างไม่ค่อยยั้งคิดของทรัมป์ เพื่อนำมาใช้ประท้วงการเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีสหรัฐผู้นี้ และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้เอง ทรัมป์ก็ได้มาเยือนสหราชอาณาจักรอีกครั้ง เจ้าบอลลูนทารกทรัมป์นี่ก็ไม่วาย ตามมาลอยอยู่บริเวณรัฐสภาอังกฤษอีกเป็นครั้งที่สองอีกด้วย

เมื่อบอลลูนนี้กลายเป็นข่าวดังปุ๊บ มิวเซียมตาไวหลายแห่งก็แสดงความสนใจในการจับจองมาไว้ในคอลเลคชั่นทันที ไม่ว่าจะเป็น Science Museum แห่งลอนดอน, Bishopsgate Institute, Museum of London (MOL) แม้กระทั่ง British Museum ในขณะที่ British Museum สนใจจะยืมมาเพื่อจัดแสดงในนิทรรศว่าด้วยเรื่องของการต่อต้าน ทาง MOL นั้นสนใจจะเก็บเข้าคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์เลย โดยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Sharon Ament กล่าวว่าบอลลูนนี้สะท้อนวิธีการที่ผู้คนในลอนดอนประท้วงได้เป็นอย่างดี เธอยังสนใจในบอลลูนรูปนายกเทศมนตรีลอนดอน Sadiq Khan ในชุดบิกินีสีเหลือง ที่กลุ่มสนับสนุนทรัมป์ทำขึ้นเพื่อต่อต้านการที่ Khan อนุญาตให้ผู้ประท้วงลอยบอลลูนทารกทรัมป์ถึงสองครั้งอีกด้วย (คือต้องการจะสื่อว่า ฟังความทั้งสองข้าง ว่างั้นเถอะ) 

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พิพิธภัณฑ์ไล่สะสมสิ่งของที่เป็น ‘พาดหัวข่าว’ เช่นนี้ เพราะอาจมองได้ว่าเป็นการทำเพื่อสร้างกระแสเพียงชั่วครู่ แทนที่จะมองภาพการทำงานในระยะยาว หรือแม้แต่การ ‘เลือก’ เก็บสิ่งของที่มีนัยทางการเมือง ก็อาจกลายเป็นการสนับสนุนความคิดทางการเมืองด้านใดด้านหนึ่งมากเกินงามก็ได้?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เก็บของเสีย?

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเก็บของในยุคปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ของที่เป็นกระแส ที่มนุษย์สร้างขึ้นในสังคมร่วมสมัยเท่านั้น ของที่คนไม่ได้ตั้งใจสร้าง แต่เกิดขึ้นมาจากการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ก็เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้! 

เรากลับไปที่ Museum of London อีกครั้ง บางคนอาจจะได้เห็นข่าวเมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้เก็บภูเขาไขมัน (Fatberg) ที่อุดตันท่อน้ำทิ้งใต้ดินบริเวณ Whitechapel เข้าสู่คอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร แต่แค่เก็บยังไม่พอ พิพิธภัณฑ์ยังนำเจ้าก้อนที่เต็มไปด้วยไขมัน สิ่งปฏิกูล ผลิตภัณฑ์อนามัย และเปลือกขนม ที่ถูกทิ้งจนแข็งตัวรวมกันนี้ มาจัดแสดงในตู้กระจก แถมถ่ายทอดแบบสตรีมออนไลน์กันสดๆ อีกด้วย กลายเป็นวัตถุยอดฮิตของพิพิธภัณฑ์ในบัดดล มันทั้งดึงดูดความสนใจและสร้างความคลื่นไส้ให้กับผู้ชมไปในเวลาเดียวกัน 

Vyki Sparkes คิวเรเตอร์ด้านประวัติศาสตร์สังคมกล่าวว่า ภูเขาไขมันนี้เป็นวัตถุที่มีอิทธิพลมาก ที่สร้างความรู้สึกประหลาดใจและขยะแขยงอย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้คนสะท้อนคิดเรื่องปัญหาสังคมที่เมืองลอนดอนกำลังเผชิญอยู่อีกด้วย เพราะนี่คือผลลัพธ์จากที่ผู้คนและธุรกิจต่างๆ ทิ้งไขมันและขยะลงในระบบท่อน้ำทิ้งอันเก่าแก่ การที่เราเก็บของชิ้นนี้เข้าสู่คอลเลคชั่นพิพิธภัณฑ์ ทำให้เรามีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการใช้ชีวิตของเรา ณ วันนี้ และเมื่อการใช้ชีวิตและทัศนคติของเราเปลี่ยนไป ก้อนไขมันนี้อาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเลยก็ได้! แต่การอนุรักษ์ก้อนไขมันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่นำมาจัดแสดง มันได้เปลี่ยนสี มีแมลงวันฟักตัวออกมา และมีราขึ้น แม้นำออกจากตู้ดิสเพลย์แล้ว การควบคุมของที่มีสภาพเป็นพิษเช่นนี้ในคลังของพิพิธภัณฑ์ก็ต้องมีการจัดการอย่างรัดกุม

ภูเขาไขมันของ MOL นี้ ยังย้ำเตือนถึงอีกประเด็นของ contemporary collecting ที่ต้องคำนึงถึง กล่าวคือ นอกจากการเก็บประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่สำคัญของสังคมแล้ว การนำวัตถุเข้าสู่คอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบระยะยาวในการอนุรักษ์ของสิ่งนั้นๆ เพราะการเอาสิ่งของเข้าคอลเลคชั่นนั้น ง่ายกว่าการกำจัดออกมากนัก (ซึ่งจะไปเกี่ยวโยงกับข้อจำกัดด้านหลักจริยศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์อีกยาวเหยียด) ดังนั้น การตัดสินใจเลือกของมาเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ย่อมต้องมาพร้อมๆกับวิจารณญาณและวิสัยทัศน์ที่เฉียบคม ว่าอะไรที่ควรค่าแก่การเก็บ และจะเป็นตัวแทนบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญในหลายๆแง่มุมเมื่อเวลาผ่านพ้นไป

แล้วท่านผู้อ่านล่ะ คิดว่าวันนี้มีอะไรที่เราควรเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไหม? 

อ้างอิง:

https://www.businessinsider.com/trump-baby-blimp-state-visit-flies-2019-6

https://www.bbc.com/news/uk-england-london-48494926

https://www.dezeen.com/2013/12/18/rapid-response-collecting-victoria-and-albert-museum-kieran-long/

https://www.theguardian.com/culture/2018/aug/14/view-the-fat-museum-of-london-launches-live-stream-of-fatberg

 

ภาพ: MykReeve

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • กาย meow meow KU69
    สะใจจริงๆ ไอ้ทรัมป์ อากทำกับคนจีน รู้ไว้ด้วยว่า ประเทศมะกันอย่างมึงมาได้เพราะมีคนจีนช่วยพัฒนาให้ แล้วยังเนรคุณคนจีน สมควรที่จีนจะก้าวหน้าแน่ล่ะ
    24 ก.ค. 2562 เวลา 01.30 น.
ดูทั้งหมด