‘ปล่อยนก-ปล่อยปลา’ ที่เขาขาย‘ได้บุญ’ หรือ‘สนับสนุนบาป’ ?
“คัจเฉวะ โข ตะวัง ตะระมานานะรูโป มา ตัง อะมิตตา ปุนะ อัคคะ เหสุง ทุกโข หิ ลุทโทหิ ปุมา สะมาคะโม อัทสะนัง โภชะปุตตานัง คัจฉะฯ”
“ข้าพเจ้าขอปล่อยท่านเหล่านี้ให้เป็นอิสระ ข้าพเจ้าช่วยท่านทั้งหลายเหล่านี้จากความทุกข์ ความเดือดร้อน พ้นจากการถูกเขาประหาร ด้วยบุญกุศลที่ข้าทำในครั้งนี้ ขออุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอจงอโหสิกรรม และอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันอีกเลย”
เชื่อว่าคนไทยที่ระบุบนบัตรประชาชนว่านับถือพุทธศาสนามากกว่า 50% ต้องเคยตั้งนะโมฯ 3 จบ กล่าวคาถานี้ก่อนการปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อหวัง ‘สร้างบุญ’ จากการช่วยชีวิตสัตว์เหล่านี้ให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้
และเชื่อว่า 80% ในจำนวนชาวพุทธเหล่านั้น ก็ข้ามคำกล่าวอโหสิกรรมดังกล่าว ไปยังคำอธิษฐานเพื่อ ‘ตัวเอง’ ทำนองว่า “ด้วยอำนาจของกุศลผลบุญครั้งนี้ จงสะเดาะเคราะห์ร้าย ของข้าพเจ้าให้กลับกลายเป็นดี มีความร่มเย็นเป็นสุข ประสบความสำเร็จสมหวังในสิ่งที่พึงปรารถนา มีความเจริญก้าวหน้า มีชีวิตสดชื่น สุขสดใส ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วยเทอ” ไปเลย
จนทำให้ในแต่ละปีจะมีสัตว์ยอดฮิตที่ถูกมนุษย์ตีตราแฝง ‘แต้มบุญ’ มาให้โดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทั้งนกขนาดเล็ก, ปลาไหล, ปลาดุก, ปลาหมอ, ปลาบู่, กบ, เต่า ฯลฯ ถูก ‘จับ’ มาเพื่อหมุนเวียนธุรกิจแห่งบุญนี้ให้เติบโตไปอย่างไม่มีสิ้นสุด
ประเด็นนี้เป็นคำถามที่อยู่คู่สังคมไทย (รวมทั้งสังคมพุทธในหลายประเทศ) ว่าการ ‘ปล่อยสัตว์’ ด้วยวิธีดังกล่าวนั้น ‘สร้างบุญ’ ได้อย่างที่คิดหรือไม่ เพราะมีการสำรวจพบว่าในแต่ละปีจะมีนกกะติ๊ด (นกขนาดเล็กจำพวกเดียวกับนกกระจอก) ถูกจับมาเพื่อเป็นเครื่องบูชายัญเสวยบุญจากทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านตัว
แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ ในจำนวนนั้นจะมีประมาณ 700,000 ตัว ที่เสียชีวิตจากการขนย้ายเพราะถูกจับมัดรวมกันอยู่ในกระสอบเล็กๆ หากรอดชีวิตมาได้ ก็จะมี 150,000 ตัวเสียชีวิตอยู่ในกรงระหว่างรอผู้ใจบุญมาปล่อย และจะมีเพียง 100,000 ตัวเท่านั้นที่มีชีวิตกลับสู่ธรรมชาติได้จริงๆ
ส่วนการปล่อยปลาไม่มีการสำรวจตัวเลขที่แน่ชัด เพราะความหลากหลายของสายพันธุ์และจำนวนที่มากเกินกว่าจะประเมินได้ แต่คาดว่าน่าจะมีมากกว่านกอยู่หลายเท่าตัว
กระทั่ง "พระพยอม กัลฺยาโณ" เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี ยังเคยออกมาให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“พระพุทธเจ้าได้เทศนาธรรมสั่งสอนไว้ว่า การทำบุญ จะทำมาก หรือทำน้อย ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่วินิจฉัย ใคร่ครวญ ทบทวน ถ้วนถี่ ปล่อยไปแล้วสัตว์เหล่านั้นรอดหรือไม่ หากไม่ อันนี้ก็เป็นบาปแน่นอน เป็นด้วยความโง่”
ทีนี้เรามาลองดูว่าความ ‘ถ้วนถี่’ ที่พระพยอมบอก แต่ชาวพุทธอาจหลงลืมไปมีอะไรบ้าง
1. หากปล่อยปลาที่มีขนาดเล็กต้องว่าว่ายน้ำได้ดี หลบหลีกศัตรู หรือกลุ่มนักล่าได้หรือไม่ ควรปล่อยในแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ มีความลึกไม่มากนัก มีที่หลบภัย เช่น มีพันธุ์ไม้น้ำริมฝั่ง โขดหิน และไม่ปล่อยบริเวณที่มีศัตรูตามธรรมชาติจำนวนมาก หรือมีปลากินเนื้อชุกชุม
2. ปลาไหล ปลาหลด ปลาดุก เป็นสัตว์น้ำในกลุ่มที่ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่น้ำนิ่ง หรือแหล่งน้ำค่อนข้างตื้น หากเอามันไปปล่อยที่ท่าน้ำหน้าวัด หรือแม่น้ำขนาดใหญ่ กว่าจะว่ายไปหาแหล่งน้ำนิ่งๆ ปลาจะต้องเหนื่อยมาก ถือว่าเป็นการทรมานสัตว์มากกว่า
3. เต่า ตะพาบ กบ และเขียด เป็นสัตว์ที่ไม่ได้อาศัยอยู่แต่ในน้ำตลอดเวลา จะต้องมีพื้นที่บนบกให้ขึ้นมานอนพักผึ่งแดด หากปล่อยลงแม่น้ำ หรือริมฝั่งน้ำที่มีเขื่อนมีกำแพงสูง ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นมาพักข้างบนได้ จะตายอย่างทุกข์ทรมานในที่สุด
**สำคัญที่สุด คือการปล่อยในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ใช่อาศัยว่ามีเงินมาก ก็ปล่อยมาก แล้วคิดว่าจะได้บุญเยอะตามไปด้วย สุดท้ายปลาที่ปล่อยไปไม่มีอาหารกินก็ต้องแย่งอาหารไปจนถึงขั้นกินกันเองเพื่อเอาชีวิตรอด แบบนี้คงชัดเจนมากพอจะได้บาปหรือบุญมากกว่านั้นโดยไม่ต้องรอให้พระผู้ใหญ่ที่ไหนมาบอก
ย้อนกลับไปประเด็นคำอธิษฐานที่เราขอให้ ‘สิ่งดีๆ’ เข้ามาในชีวิต แต่หากก่อนขอพร เราได้กระทำการโหดร้าย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นจำนวนมาก แล้วเราจะกล้าคาดหวัง ‘สิ่งดีๆ’ จากการกระทำนั้นได้อย่างไร
แล้วเคยมีใครเก็บสถิติเอาไว้หรือไม่ว่า หลังจาก ‘ปล่อยสัตว์’ ต่างๆ ไปแล้ว คำขอพรต่างๆ นั้นทำใช้ชีวิตของคนๆ นั้นดีขึ้นจริงหรือไม่ หรือมีเพียง ‘พ่อค้า แม่ค้า’ หัวใส ที่ดีวันดีคืน ในขณะที่ชีวิตสัตว์เหล่านั้นค่อยๆ ล้มหายตายจากมากขึ้นทุกวัน
สุดท้าย ขอยกคำกล่าวของ "พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)" ที่ว่า “ถ้าท่านเมตตาจริงๆ นะ ปล่อยให้นกอยู่บนฟ้า ปล่อยให้ปลาอยู่ในน้ำ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ปล่อยให้สัตว์ได้อยู่อย่างสัตว์ นั่นแหละคือการปล่อยนกปล่อยปลาที่แท้จริง”
ฝากให้ชาวพุทธผู้แสนใจบุญได้ไต่ตรองให้ดีกันอีกสักครั้งว่าเราควรจะแลกชีวิตสัตว์เหล่านั้น เพื่อเปลี่ยนเป็นแต้มบุญที่ไม่รู้จะได้จริงหรือเปล่าต่อไปอย่างนั้นจริงหรือ
อ้างอิง
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640405
https://www.thairath.co.th/content/825273
https://www.posttoday.com/social/general/400424
ภาพประกอบ
เราซื้อที่ตลาดสด ที่กำลังจะโดนฆ่า เอาไปปล่อย
11 ธ.ค. 2561 เวลา 05.14 น.
Tong(พ่อพัตเตอร์) บาปล้วนๆไม้มีบุญ คิดก่อนให้นะคับ
11 ธ.ค. 2561 เวลา 05.16 น.
bae อยู่กับคนขายถ้าไม่มีคนซื้อคนขายก้อขายไม่ออกปล่อยไปเอง ถ้าซื้อเหมือนส่งเสริมให้คนขายจับนกมาทรมาน เหมือนพวกให้เงินขอทานเด็ก เปนการส่งเสริมให้คนเอาเด็กมาทรมานขอทานมากขึ้น
11 ธ.ค. 2561 เวลา 05.15 น.
N: Mo กรรมของนกที่โดนจับ บาปของคนที่ไปจับ บุญของคนที่ช่วยเหลือ ...แยกออกจากกัน
11 ธ.ค. 2561 เวลา 05.18 น.
Rath โรงเรียนแถวบ้านบังคับนักเรียนจ่าค่าปล่อยนกปล่อยปลา ปีก่อนสิบบาท ปีนี้ยี่สิบ ผมมองว่ามันเป็นการเรียกค่าไถ่สัตว์ ตรงข้ามกับการทำความดีโดยสิ้นเชิง
11 ธ.ค. 2561 เวลา 05.34 น.
ดูทั้งหมด