ท่องเที่ยว

“เชียงใหม่” มีวัด ช้าง ตลาด

เดลินิวส์
อัพเดต 30 พ.ย. เวลา 14.15 น. • เผยแพร่ 30 พ.ย. เวลา 07.15 น. • เดลินิวส์
ภาพเจดีย์สีขาวสะอาดตาที่ตั้งอยู่บนยอดเขาด้านหลังของ “วัดอรัญญวาส (บ้านปง)” ที่ระดับความสูง 486 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไม่นาน ที่นี่ถูกเรียกว่า “โลหะปราสาท พระธาตุศรีเมืองปง” ที่ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาแบบโลหะปราสาทแห่งที่ 4 ของโลกและเป็นหลังแรกของภาคเหนือ

ความหมายของโลหะปราสาทก็คือ ตึกหรือคฤหาสน์ที่มียอดหรือหลังคาเป็นโลหะ สำหรับที่นี่เป็นการสร้างครอบพระเจดีย์โบราณของชุมชนไว้ โดยมียอดทั้งหมด 120 ยอด หล่อด้วยโลหะทั้งหมดก่อนจะลงรักปิดทองแท้ แต่เดิมคือพระมหาธาตุสุวรรณ เจดีย์ศรีเมืองปง โดยมีโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี โดยชาวบ้านปงร่วมใจกัน พร้อมทั้งก่อสร้างโลหะปราสาททิพยวิมาน เฉลิมกพระเกียรติทรงล้านนาหลังแรกของโลก โดยครอบเจดีย์เดิมที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากความโดดเด่นของยอดเจดีย์สีขาวสะอาดตาแล้ว ยังมีงานปูนปั้นตามแนวคติล้านนาประยุกต์ที่สวยงามสะดุดตาด้วย ด้านในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ส่วนเจดีย์เดิมนั้นโครงหลังคาที่ครอบอยู่ประดับตกแต่งให้ดูคล้ายกับท้องฟ้ายามค่ำคืนที่มีดวงดาวระยิบระยับ ถัดจากโลหะปราสาทลงมาอีกชั้น มีรูปปั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่าอยู่คนละฝั่งด้วย วัดอรัญญวาส หรือวัดบ้านปง ตั้งอยู่ ถนนหางดง-สะเมิง หมู่ 2 บ้านปงเหนือ อำเภอหางดง มีทางขึ้น 2 ทาง คือ บันได มี 954 ขั้น และถนน มีระยะทาง 1.5 กิโลเมตร โดยมีรถท้องถิ่นวิ่งรับส่งขึ้น-ลง

บนเส้นทางเดียวกันก่อนจะกลับเข้าเมืองเชียงใหม่ แนะนำให้แวะ “ร่มแดนช้าง” ในพื้นที่เดียวกับ “Patara Elephant Conservation” เจ้าของเดียวกับภัทรฟาร์ม ปางช้างที่กลายเป็นชื่อคุ้นหูผู้คนในช่วงน้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่ที่ผ่านมา ณ พื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าแม่น้ำ 100 สายในหุบเขาแม่ขนิล ที่นี่มีช้างทั้งที่มีสุขภาพดี และช้างป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือมาจากที่อื่น ๆ อยู่ท่ามกลางป่าเขาและสายน้ำที่โอบล้อมอย่างมีความสุข สำหรับคนไทยการได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน เหมากล้วยอ้อยมาป้อนให้เหล่าช้างแสนรู้ที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนมากางงวงมารับถึงมือ สามารถแวะมาได้แบบไม่ต้องนัดหมาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่สำหรับใครที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตของช้างให้มากขึ้นไปกว่านั้น ที่นี่มีโปรแกรมตั้งแต่ขนาดบ้านไกลเวลาน้อย ไปจนถึงอยู่กันยาว ๆ ตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งจะเป็นโปรแกรมเฉพาะกลุ่มของผู้ที่แจ้งความจำนงและจองเข้ามาล่วงหน้าเท่านั้น ถามว่ามาแล้วจะได้ทำอะไรบ้าง อันดับแรกคือทำความคุ้นเคยด้วยการให้อาหาร พร้อม ๆ กับเรียนรู้การสังเกตสุขภาพช้าง ตั้งแต่ผิวหนัง ไปจนถึงอุจจาระมากน้อยที่จะบ่งบอกถึงสุขภาพได้ดีที่สุด แล้วไปอาบน้ำช้างในลำห้วย ขัด ๆ ถู ๆ ตามที่ควาญสอน แล้วพาไปเดินเล่น

ใครที่อยากสัมผัสกับมวลหมู่ช้างให้มากกว่านั้น ที่นี่มีพื้นที่ที่เรียกว่าซาฟารีให้เข้าไปดูไปชมพร้อมกับนั่งปิกนิกกลางป่า ซึ่งทั้งหมดนั้นแน่นอนว่าจะมีควาญและทีมงานคอยดูแลอย่างใกล้ชิด บอกเลยว่าช้างที่นี่ตัวหอม ไม่มีกลิ่นเหม็น ผิวหนังสะอาดจับ ลูบ คลำได้อย่างสบายใจ เพราะอาบน้ำทุกวัน และอาบน้ำอย่างสนุกสนานทุกเชือก ไม่เชื่อสามารถแอบย่องไปชมได้แบบไม่ต้องนัดหมาย รับรองว่าจะได้เห็นลูกช้างจอมซนลงนอนดำผุดดำว่ายอยู่ในลำห้วยแน่นอน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กลับเข้าเชียงใหม่มาไปเดินเล่นแถวถนนช้างม่อย ถ่ายรูปกับมุมยอดฮิตอย่างหน้าร้านขายเครื่องหวายและจักสาน “หวายน้ำผึ้ง” ที่อยู่ตรงหัวมุมถนน ทำเลสุดดีเยี่ยม แล้วหากาแฟจิบคลายร้อนคลายหนาวที่ “Brewginning” ซึ่งอยู่ตึกฝั่งตรงข้ามที่เป็นอดีตร้านเครื่องหวายอีกแห่ง

เลยต่อไปที่ “ตลาดวโรรส” หรือกาดหลวงที่คนท้องถิ่นเรียก หลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติน้ำท่วมได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติดังเดิมแล้ว และบันไดเลื่อนที่ไม่เคยเลื่อนก็พร้อมที่จะเป็นจุดเช็กอิน จุดนัดพบดังเดิม เช่นเดียวกับไส้อั่วเจ้าดังไม่ว่าจะเป็นร้านดำรงค์ ป้านิ่ม ศรีพรรณ บุญศรี และจันทร์เพ็ญ ก็กลับมาทอด ย่างขายปกติ

แต่หากอยากได้สินค้าที่ระลึกสีสันจัดจ้านในสไตล์ม้ง แนะนำให้เดินอ้อมไปฝั่ง “ตรอกเล่าโจ๊ว” ที่มีอีกชื่อว่า “ตลาดม้ง” ที่ยังคงเป็นย่านการค้าสำคัญของเมืองเชียงใหม่ มาที่นี่แน่นอนว่าจะมีงานถัก งานปัก สีสด หลากรูปแบบให้เลือกมากมาย หรือใครอยากจะได้วัสดุอุปกรณ์ในการตัดเย็บเพิ่มเติมที่นี่ก็มีร้านขายส่งให้เลือกในราคามิตรภาพ รวมไปถึงบรรดาของอร่อยเจ้าดังดั้งเดิมที่ยังขายจนถึงปัจจุบันอย่างก๋วยเตี๋ยวตรอกเล่าโจ๊ว ก๋วยเตี๋ยวน้ำใสในตำนาน ขนมผักกาดแผงลอยข้างศาลเจ้ากวนอู ไปจนถึงร้านกาแฟฮิป ๆ เปิดใหม่

ยามเย็นแดดร่มลมตกไปเดินเล่นที่ “คลองแม่ข่า” ที่ใคร ๆ บอกว่าเป็นโอตารุเมืองไทย อดีตลำน้ำธรรมชาตินี้เคยประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชุมชน โดยมีแรงสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนมากมาย ในที่สุดคลองที่เป็น 1 ใน 7 ชัยมงคล ที่พญามังราย เลือกชัยภูมิบริเวณนี้ในการสร้างเวียงสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 ก็กลับมาสวยงาม

คลองแม่ข่าไหลจากทิศเหนือเข้าผ่านตัวเมือง อ้อมตัวเวียงที่ล้อมรอบด้วยคูเมืองในบริเวณใกล้แจ่งศรีภูมิ อ้อมเวียงทางทิศตะวันออกจึงเปรียบเสมือนคูเมืองชั้นนอกก่อนจะไหลลงแม่น้ำปิงด้วยระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร หลังการปรับโฉมพลิกฟื้นคลองครั้งใหญ่ วันนี้คลองแม่ข่ามีร้านขายอาหาร ของที่ระลึก ที่ส่วนใหญ่ตกแต่งในสไตล์ญี่ปุ่นผสมกับล้านนา รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านริมสองฝั่งคลองให้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้.

ดูข่าวต้นฉบับ