ทั่วไป

บริจาคอวัยวะแล้ว..ชาติหน้าเกิดมาครบ 32 ไหม

LINE TODAY
เผยแพร่ 25 เม.ย. 2561 เวลา 11.06 น. • Pimpayod

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะต้องได้ยินข่าวอันน่าสลดของเด็กชายวัย 7 ขวบที่เสียชีวิตจากอาการสมองขาดออกซิเจนเนื่องจากการจมน้ำ แม้จะอายุน้อยแต่เด็กคนนี้ก็ยินยอมที่จะบริจาคอวัยวะโดยมอบตาทั้ง 2 ข้าง หัวใจ ปอด ตับ และไตเพื่อช่วยต่อชีวิตให้กับคนอีก 6 คน ถือเป็นการสร้างกุศลครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่น้องจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

เด็กคนนี้คือ “น้องอะตอม” ฮีโร่ตัวจิ๋วที่ต่างจากเด็กวัยเดียวกันอย่างสิ้นเชิง น้องอะตอมเป็นเด็กมีความคิดและช่วยเหลือตัวเองมาตลอดแม้จะอายุแค่ 7 ขวบก็ตาม ตัวเล็กแค่นี้แต่มีเงินเก็บที่ได้จากการไปรับจ้างในโรงงานกว่า 3 พันบาท ถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ควรเอาเป็นต้นแบบ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังจากเกิดเหตุจมน้ำอย่างไม่คาดฝัน คุณยายได้ถามน้องอะตอมว่าหากไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้จะมอบร่างกายเพื่อทำบุญตามที่เคยได้บอกไว้หรือไม่ ซึ่งน้องอะตอมก็พยักหน้าตอบรับก่อนสิ้นลมหายใจไปต่อหน้าทุกคน 

“น้องอะตอม” กลายเป็นฮีโร่แม้จะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม เพราะขนาดผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่านี้ บางคนยังไม่กล้าบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือคนอื่นเลย แต่ด้วยวัยแค่ 7 ขวบกลับมีความกล้ามากกว่าใครสมกับคำกล่าวที่ว่า “แม้ตัวจากไป แต่ความดียังคงอยู่” ที่สำคัญทำให้หลายคนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะไปอย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การบริจาคอวัยวะเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยต่อชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ป่วยที่หมดหวังที่จะรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาคือ การให้ได้มาซึ่งอวัยวะจากผู้เสียชีวิตในประเทศไทยที่แสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะไว้ โดยแต่ละปีคาดคะเนว่ามีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในเกณฑ์บริจาคอวัยวะได้เกือบ 2,000 คน แต่ในความเป็นจริงยังมีข้อจำกัดในการนำอวัยวะบริจาคจากผู้เสียชีวิตมาใช้รักษาผู้ป่วยอยู่มากทำให้มีผู้รอรับบริจาคอวัยวะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญก็คือ การขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว 

ความเชื่อทางศาสนากับการบริจาคอวัยวะ

สำหรับชาวพุทธฯ ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่าบริจาคได้หรือไม่ สรุปได้เลยว่าเราชาวพุทธฯ บริจาคอวัยวะได้ ซึ่งการบริจาคอวัยวะถือว่าเป็นทานที่ทำให้จิตสละอุปาทาน ใกล้เคียงกับความรู้สึกในขณะจิตแห่งการถอนความยึดมั่นจากตัวตนได้มากที่สุด 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แค่เรามีความคิดที่จะบริจาคอวัยวะก็หมายความว่าเราได้สละความเป็นตัวตนออกไปได้บ้างแล้ว ยิ่งเมื่อเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะบริจาคจริง ยิ่งเท่ากับการหลุดพ้นจากความเป็นตัวกู ของกู พร้อมที่จะสละตัวตนออกไป เพราะเราเข้าใจแล้วว่าสังขารไม่เที่ยง เราเป็นทุกข์เพราะยึดติดกับตัวตนมากเกินไป เรียกว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ได้ทำในภพชาตินี้

ส่วนศาสนาคริสต์ พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2008 ว่า “การบริจาคอวัยวะคือการแสดงออกถึงความรักอันยิ่งใหญ่ การปลูกถ่ายอวัยวะคือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแน่นอนว่า มันคือเครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับผู้คนจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วยร้ายแรง” ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าคริสตังก็สามารถบริจาคอวัยวะได้นั่นเอง

สำหรับชาวมุสลิม การบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องที่มีหลายทัศนะ บ้างก็ว่าอวัยวะของมุสลิมไม่สามารถบริจาคให้แก่ผู้ใดได้ เพราะร่างกายเราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระอัลลอฮฺ ซึ่งเราไม่สามารถนำไปมอบให้ใครได้เพราะมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา บ้างก็ว่าสามารถบริจาคได้แต่ผู้ที่รับบริจาคจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าหากอวัยวะส่วนที่มุสลิมบริจาคให้กับผู้ที่มิใช่มุสลิมเขาผู้นั้นมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยมีวิถีชีวิตที่ฝ่าฝืนพระองค์อัลลอฮฺ ทัศนะสุดท้ายบอกว่าเปิดกว้างอย่างมาก โดยอนุญาตให้บริจาคอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายได้ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทัศนะนี้ไม่ถูกยอมรับจากนักวิชการเท่าใดนัก เพราะเปิดช่องว่างมากเกินไป)

แต่จากคำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรีที่ 11/2556 เรื่องการบริจาคอวัยวะและการใช้ประโยชน์จากอวัยวะของมนุษย์ พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า ตามหลักศาสนบัญญัติในภาวะปกติถือว่าการใช้ประโยชน์ของร่างกายมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้วก็ตาม เป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการปกป้องศักดิ์และสิทธิ์แห่งความเป็นมนุษย์ และรักษาเกียรติของผู้เสียชีวิตเพื่อมิให้กระทำใด ๆ ที่นำไปสู่การประทุษร้ายต่อศพ ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นขั้นอุกฤษฏ์ หรือมีความต้องการอย่างยิ่งยวดก็อนุญาตให้กระทำสิ่งดังกล่าวนั้นได้ ตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้โดยเคร่งครัด

บริจาคอวัยวะแล้ว เกิดชาติหน้าจะพิการ???

น่าจะเป็นข้อสงสัยอันดับต้น ๆ ของคนที่ยังไม่บริจาคอวัยวะ และไม่เคยศึกษาเรื่องการบริจาคอวัยวะกับหลักศาสนามาก่อน ในทางพุทธฯ การบริจาคอวัยวะถือว่าเป็นทานในระดับอุปบารมีซึ่งสูงกว่าทานธรรมดา เรียกว่าเป็นจิตกุศลที่ต้องเสียสละอย่างยิ่งใหญ่เพื่อหวังให้คนอื่นมีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข

สำหรับคนที่เป็นกังวลว่าการบริจาคอวัยวะจะทำให้ชาติหน้าพิการหรือมีอวัยวะไม่ครบ 32 นั้น ต้องบอกว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการไปเกิดใหม่ ไม่ได้เอาร่างกายหรืออวัยวะเก่าไปด้วย ซึ่งหากได้เคยบริจาคอวัยวะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผลบุญเหล่านั้นก็จะส่งผลทำให้ในภพชาติหน้าเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง และมีอายุที่ยืนยาวมากกว่าที่ผ่านมาด้วย

ความเห็น 102
  • 你拿的越多。 ยิ่งสละยิ่งได้
    25 เม.ย. 2561 เวลา 12.17 น.
  • maliwan
    บริจาคแล้วสบายใจดีค้ะ ไปมาแล้วรู้สึกว่าสบายใจอุทิศตนเป็นอาจารย์ใหญ่ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่
    25 เม.ย. 2561 เวลา 13.18 น.
  • เสือพรานเขาช่อง.1/29
    ขอให้มีความสุขทุกชาติไปคับผม
    25 เม.ย. 2561 เวลา 13.16 น.
  • โบตั๋น
    ฟ้าดินย่อมประทานบุญวาสนาให้กับผู้มีความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ยากที่ผู้อื่นจะเสียสละได้ เปรียบดั่งทหารกล้า ที่ยอมสละชีพเพื่อชาติ เมื่อละกายสังขารไปแล้ว เป็นทหารฟ้า เป็นเทพบุตรแห่งแผ่นดิน
    25 เม.ย. 2561 เวลา 12.59 น.
  • ฟ้า ตะวัน
    ผม ก็ มีความตั้งใจ อยุ่คับ
    25 เม.ย. 2561 เวลา 13.21 น.
ดูทั้งหมด