แม้ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยคนไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ขณะที่เริ่มมีวัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายออกสู่ตลาดแล้ว แต่ความพยายามนี้ไม่สูญเปล่าเพราะเป็นก้าวสำคัญของการพึ่งพาตัวเอง และเป็น
การทดสอบความพร้อมรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาในอนาคต รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการผลักดันงานวิจัยออกไปสู่ภาคอุตสากรรมอีกด้วย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ให้แก่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 และมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม เป็นผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย
วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19
เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู่กับไวรัสเมื่อสัมผัสเชื้อไวรัส หลังจากวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นให้สร้างกายสร้างโปรตีนดังกล่าวแล้ว ชิ้นส่วน mRNA จะถูกสลายไปในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ และมีการฉีดให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 140 ล้านโดสทั่วโลก
ขณะนี้วัคซีน ChulaCov19 ผ่านการทดลองเข็มที่สองในลิง ซึ่งพบว่าลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงและมีสุขภาพดี และจากผลทดสอบในหนูชนิดพิเศษที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถป้องกันหนูไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคได้ 100% และยับยั้งเชื้อไม่ให้เข้ากระแสเลือดได้ 100% รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกของหนูทดลองและเชื้อในปอดลงไปได้มากกว่า 10,000,000 เท่า หลังจากนั้นจะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ซึ่งเป็นอาสาสมัครต่อไปประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ถึงแม้ความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 โดยคนไทยจะสำเร็จช้ากว่าผู้ผลิตวัคซีนจากต่างประเทศหลายราย แต่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ให้ความเห็นว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่ไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองทุกขั้นตอน ต่างจากในอดีตที่งานวิจัยมีเป้าหมายแค่เพื่อตีพิมพ์ แต่สำหรับงานวิจัยวัคซีนครั้งนี้ยังมีเป้าหมายขับเคลื่อนไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วย
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO