อัญเจียแขฺมร์
อภิญญา ตะวันออก
สเปน-แขมร์
และมาตุคามแห่งความรักของ ‘อาเล็ก’
ให้ตายสิ นี่ไม่ใช่หลังยุคกลางของเขมรและสเปนสักหน่อย ที่พวกเขาพากันมาปกป้องกรุงลงแวก (1528-1594) ก่อนคณะผู้กล้าแห่งสเปน (และโปรตุเกส) กลุ่มนั้นจะเดินเรือและจากไป เหลือทิ้งแต่พวกพ้องบางคนจนเมื่อได้ยินข่าวร้ายและหวนกลับมาอีกครั้ง แต่กรุงลงแวกตอนนั้นก็ถูกอโยธยาตีเมืองจนไม่เหลืออะไรแล้ว
เรื่องไม่จบเอาเท่านั้น พอรู้ข่าวว่า มีทายาทกษัตริย์องค์หนึ่งหนีไปกบดานในลาว (หมายถึงเมืองสตึงแตรงและถาลาบริวัตร) บรรดานักรบตะวันตกกลุ่มนี้ก็ล่องเรือทวนน้ำออกค้นหาเจ้าชายเขมรพระองค์นั้น และพากันกลับมาสร้างราชธานีเล็กๆ ตอนล่างใกล้กัมปูเจียกรอมก่อนย้ายมายังอุดงค์เมียนจัย (1618)
มีความหมายว่า คนกลุ่มนั้นได้ร่วมสร้างเมืองหลวงเขมรไว้ถึง 2 ราชธานีเลยเชียวนะ!
แต่มันอย่างไรนะ?
ไม่ค่ะ ฉันไม่อยากค้นลงแวกและอดีต แต่อยากพูดถึง “อาเล็ก” (ตามสำเนียงเขมร) หรือ Alex Gonzalez-Davison นักสิ่งแวดล้อมชาวสเปน เจ้าขององค์กรเอ็นจีโอ “มาตุคามธรรมชาติ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในกัมพูชามากว่าสิบปี
อาเล็กเป็นส่วนหนึ่งผู้สร้างแรงบันดาลผู้นำสิ่งแวดล้อมชาวเขมรที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม แต่อาเล็กก็ยังดื้อด้านกระทั่งถูกจับเข้าคุก จำหน่ายหนังสือเดินทางซึ่งทำให้เขาต้องจำพรากจากเขมรมากว่าหกปีแล้ว
6 ปีที่ฉันคิดว่า อาเล็กคงแย่และขาดเป็นเขมรไปแล้ว แต่ในเวอร์ชั่นล่าสุดตอนสัมภาษณ์อาร์เอฟเอ-สำนักข่าวอเมริกัน ฉันกลับพบว่าภาษาเขมรของอาเล็กดีงามในสุ้มเสียงสำเนียงเป็นเขมรเสียยิ่งกว่านักการเมืองเขมรบางรายที่อยู่ในยุโรป
ไม่นับรวมแนวคิดทางสังคมต่อชนชาติเขมรที่ลึกซึ้งกินใจต่อกลุ่มอาสาสมัครในองค์การ “มาตุคามธรรมชาติ” ที่ตอนนี้อยู่ในคุก
โปรดรำลึกว่า ในอดีตบรรพบุรุษของอาเล็กเคยปลุกเร้าทายาทองค์กษัตริย์ที่หนีไปในลาวให้กลับมาสร้างบ้านแปงเมืองมาแล้วเทียวนะ
อาเล็กกล่าวว่า เขาได้เห็นพลังคนหนุ่ม-สาวทั้งในไทยและเมียนมาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่ดีกว่าของตน และเขาเชื่อว่ามันเป็นปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่วันหนึ่งจะส่งผ่านไปถึงกัมพูชา
หนุ่มสเปนคนนั้นจะสร้างบ้านแปงเมืองให้กัมพูชาเป็นคำรบสามหรือคะ เขาเป็นชาวคอเคเซียนนะ แต่อย่าประมาทไป ก็สองร้อยกว่าปีมานี่ตั้งแต่ลงแวกกัมพูชาแปงเมืองกี่รอบก็มีแต่คอเคเซียนแหละนะที่ทำให้
เอาตอนนี้เลยก็ได้ พนมเปญยุคใหม่ โดยยูเอ็น/ตะวันตก (1993), พนมเปญเก่า/นโรดมโดยฝรั่งเศส (1865-ปัจจุบัน) ย้อนไปอีกรอบใหม่คือกรุงอุดงค์ยุคหลัง-คนที่ฝังสีมากำแพงเมืองคือกลุ่มกองกำลังของสยาม (1841-1863) แต่ก่อนนั้นที่เป็นแค่เมืองเล็กๆ คือสเปนกลุ่มหลังและก่อนนั้นไปอีกลงแวกชัดเจนคือกลุ่มสเปนที่อาสาล่าอาณานิคมกับโปรตุเกสในหมู่เกาะฟิลิปปินส์
แต่สำหรับอาเล็กน่ะยิ่งกว่า เพราะเขาเป็นเขมรไปแล้วโดยมาตุคามที่สร้างขึ้นจากตนเองทั้งหน้าตาและจิตใจ แม้แต่ชาวเขมรในโลกที่ชอบโพกพันผ้าขาวม้าก็ยังไม่กลมกลืนและทำเป็นอาจิณเท่าอาเล็กอีกแล้ว
บองปะโอนปูมักคะเนีย ในหลายปีมานี้ แม้จะมีต่างชาติเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือเป็นภาษาเขมรอย่างฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน นักวิเคราะห์ข่าวคนดังแห่งทีวีกัมพูชาที่รับใช้อำนาจรัฐอย่างกลมกลืนและเมินเฉยที่จะพูดถึงระบอบอยุติธรรมของมาตุคามแห่งนี้ทั้งที่บรรพบุรุษฝ่ายบิดาของเขาก็เป็นชาวอินโดจีน
ฉันแค่ยกตัวอย่าง แต่ช่างเถอะ ต่อให้หนังสือของเจแอฟตันจะขายดิบขายดีแค่ไหน แต่มันก็แค่ความสำเร็จส่วนตัวของเขาเท่านั้น ต่างจากอาเล็กที่เป็นอัศวินในละคร “ดอนฆิโฮเต้” เลยนั่น
ทําไมฉันกล่าวถึงอาเล็กเช่นนั้น เพราะ “คนป่าที่นอกคอก” อย่างเขาต่างหากเล่าที่พยายามทำให้มาคุคามกัมพูชากลับมาสู่ “ความจริงที่ควรจะเป็น” (ไดอะล็อกของมิเกล เดอ เซอบานเตส ใน ‘ดอนฆิโฮเต้’ และ/หรือของกาลิเลโอใน ‘กาลิเลโอ-กาลิเลอี’ กันนะ?)
เพราะที่เคยถอดปัญหาสังคมอย่างกล้าหาญและซื่อสัตย์หลายรายอย่างสัม รังสี ก็จมหาย ส่วน ดร.แกม เล็ย ท่านก็ถูกฆ่าตาย มีแต่อาเล็กคนเดียวตอนนี้ที่ยังสร้างแรงบันดาลใจ
และฉันก็ไม่เคยคิดว่าตั้งแต่คูกำแพงแห่งแรกของราชธานีลงแวกที่ยาวนานจะยังเป็นเรื่องเล่าพิสดารที่ยาวนานถึงบัดนี้
ในอดีตที่ผ่านมาพอกระเส็นกระสาย ในอดีตลูกหลานสเปน/โปรตุเกสสมัยอินโดจีนที่ไม่ได้ดิบได้ดีเมื่อเทียบกับจีนและอันนัมที่ตั้งรกรากและสมรสกับชาวเขมร
แต่ในยุคสังคมราช/เขมรสาธารณรัฐ (1960/1970-1975) เราได้พบกับลูกหลานตระกูลเฟอร์นันเดซที่สืบทอดมาจากสเปน/ฟิลิปปินห์ (หรือโปรตุเกส) หนึ่งในนั้นคือ นายพลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซ อดีตรองผู้บัญชาการกองทัพเขมรแห่งชาติ และตระกูลของเขาผู้มีส่วนก่อตั้งกองทัพสมัยใหม่ในปี พ.ศ.2498 และไม่ว่าอย่างไร ความเป็นสเปนก็ถูกกำหนดไว้ให้สร้างสังคมเขมรเสมอ
ซึ่งโสสเท็น เฟอร์นันเดซ ก็เป็นคนนั้น เขาได้รับการยกย่องจากทุกฝ่ายในการทำหน้าที่ของนายทหารน้ำดีเพื่อปกป้องมาตุภูมิโดยเฉพาะปัญหาอันเกินจะเยียวยาจากคอร์รัปชั่นในกองทัพที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องพ่ายแพ้ พลจัตวาโสสเท็นบินเข้าไทยเป็นรายเกือบจะสุดท้ายก่อนพนมเปญถูกเขมรแดงยึดได้ไม่กี่ชั่วโมง
นอกจากนี้ ในสาแหรกตระกูลของโสสเท็น ล้วนแต่รับราชการและทำงานการเมืองทั้งสมัยสีหนุและลอน นอล ด้วยกัน
ตอนไปพนมเปญในปีสมัยเลือกตั้ง1993 ไม่นาน ฉันมีโอกาสพบนักข่าวเขมรที่อ้างเป็นฟิลิปปินส์ ไม่แน่ใจตระกูลของเขาอพยพมากับกองทัพอเมริกันในสงครามเวียดนามหรือตั้งรกรากในเขมรและแตกรากสายตระกูลแบบเดียวกับโสสเท็น เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ชาวเขมรส่วนใหญ่ใช้สกุลตามบิดา
และหลังจากสมัยเขมรแดง ผู้คนก็ปิดบังประวัติครอบครัวดั้งเดิมโดยเฉพาะเหล่าขุนนางกระฎุมพี
และทำไมฉันจึงมักตามหาคนกลุ่มนี้? ทั้งที่ชาวต่างชาติเหล่านี้คนแล้วคนเล่า ต่างประสบเคราะห์กรรมกันไม่น้อยเมื่ออยู่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยิวฝรั่งเศส-ที่ฝ่าฟันข้อจำกัดในการปฏิรูปการศึกษาสมัยใหม่แบบไฮบริด “คาทอลิก-เถรวาท” และอื่นๆ และนั่นมันคือการหว่านเพาะพันธุ์ความรู้แก่ประเทศนี้จนเติบกล้าและกลายเป็นขบวนการปฏิวัติในหมู่ประชาชนเป็นครั้งแรกในเขมรเทียวนะ
ส่วนสเปนในสายอาเล็กนั้นก็เช่นกัน ความรักต่อผืนป่าใหญ่ในเขมร ตั้งแต่ครั้งที่บรรพบุรุษของตนล่องเรือมาถึงร่วมมาตุคามสร้างราชธานีถึง 2 ครั้งเลยเทียวนะ!
นี่คงไม่ใช่แค่เรื่องเล่าผจญภัยแนวบุพเพสันนิวาสระหว่างชนชาติหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วส่วนใหญ่ที่พวกเขาประสบในทุกเคสกรณีล้วนแต่พบพานความขันขื่น
เราไม่รู้หรอกว่า นี่คือชะตากรรมหรือไม่?
โดยไม่ว่าจะย่ำแย่สักแค่ไหน จะถูกเสือกไสให้ออกจากประเทศนี้สักกี่ครั้ง และไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ตามมา นั่นไม่เคยทำให้พลังงานดีๆ ที่มีต่อประเทศนี้ สำหรับนายสเปนคนสุดท้ายที่พลีชีพให้แก่มาตุคามในภาคสิ่งแวดล้อมที่เขาหวงแหนและอยากปกป้องไว้แก่ลูก-หลานชาวเขมร
แม้จะแลกด้วยหยาดน้ำตา ความเสียใจยามที่เห็นอาสาสมัครมาตุคามธรรมชาติต้องประสบชะตากรรมถูกปราบปรามฝ่ายรัฐแต่ละครั้ง แต่อาเล็กยังเชื่อมั่นและไม่เคยเปลี่ยนใจเลยสักวัน
สำหรับมาตุคามธรรมชาติและจนกว่าจะพบกัน