เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎร นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา นำกำลังชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และอ่านคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร อันมีเจตนาคือสถาปนาประชาธิปไตย
บันทึกเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือ รัฐสภาไทยในรอบ 42 ปี [พ.ศ. 2475-2517] เนื้อหาส่วนนี้บันทึกโดยนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา เอ่ยถึงบรรยากาศครั้งนั้นว่า
“เวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน [2475] ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรได้วางแผนและนัดหมายกันไว้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้มีกำลังทหารบก ทหารเรือ และหน่วยรถถังพร้อมด้วยอาวุธตั้งแถวเพื่อรอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้เพราะกรมยุทธศึกษาทหารบกได้มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยไปพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนเวลา 6 นาฬิกา เพื่อรับการฝึกยุทธวิธีแผนใหม่ ซึ่งจะอำนวยการฝึกโดยนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก
ครั้นถึงเวลา 6 นาฬิกาตรงตามที่นัดหมาย นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้แสดงตนต่อหน้าแถวทหาร และได้อ่านประกาศคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรก ต่อหน้าแถวทหารนั้น ความในประกาศฉบับนั้นมีว่าดังนี้ ‘ราษฎรทั้งหลาย…’”
หลังพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ณ ลานพระราชวังดุสิตแล้วนั้น แผนการสำคัญขั้นต่อไปคือการจับพระบรมวงศานุวงศ์เป็นตัวประกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพะวักพะวงห่วงใยพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ที่ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ของราชวงศ์และบ้านเมือง
พระยาทรงสุรเดชจึงออกคำสั่งให้ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) หนึ่งในสี่ทหารเสือ นำกำลังทหารราว 50 นาย ประกอบด้วยนักเรียนนายร้อย นักเรียนนายดาบ และทหารเรือบางส่วน พร้อมด้วยรถเกราะและรถปืนใหญ่ มุ่งหน้าจากพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต สู่วังบางขุนพรหม
เมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาไว้ในมือหมดแล้ว จึงได้ออกประกาศว่า “ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงษานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงษานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย”
หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะราษฎรได้จัดระบบระเบียบและร่างข้อกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม” ร่างขึ้นโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ และคณะกรรมการคณะราษฎรบางส่วน ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่ฉบับที่พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยนี้ เป็นเพียงฉบับ “ชั่วคราว” และมีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ “ชั่วคราว” ของรัชกาลที่ 7 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อ่านเพิ่มเติม :
- “ใคร ๆ ก็รู้กันดีว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง” ข่าวลือปฏิวัติ 2475 แม้แต่ในวังก็รู้?
- ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็น คณะราษฎร 2475
- ย้อนดูบรรยากาศวันชาติครั้งแรก “24 มิถุนายน 2482” การเฉลิมฉลองเพื่อประชาชนทุกชั้น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2559
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 24 มิ.ย. 2475 พระยาพหลฯ อ่านประกาศคำแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับแรก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com