ไม่ใช่แค่เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด แต่วัยไหนก็เจ็บปวด ทรมานใจ ว่างเปล่า กังวล และเหงาได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะวัยกลางคน ที่เดินทางมาค่อนชีวิต แต่อยู่ ๆ ก็รู้สึกไร้จุดหมาย สับสน กดดัน ท้อแท้ขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว
ลองทบทวนดูว่าคุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่?
1. วิตกกังวลกับตัวเอง สับสน ว่างเปล่าในใจ
2. ตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ว่า ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมต้องทำ ทำไปทำไม ทำเพื่อใคร ทั้งที่ได้คำตอบแล้ว แต่ก็ยังไม่วายจะตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ
3. ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
4. เบื่อ ไม่พอใจในชีวิต ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม
5. รู้สึกว่าทุกอย่างที่มี หรือที่ทำมาทั้งหมดไร้ความหมาย เลื่อนลอย แม้จะทำอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม
ถ้าลองเช็กดูแล้ว คุณมีอาการ 1 ใน 5 นี้ อาจหมายความว่าภาวะวิกฤตวัยกลางคนเริ่มคืบคลานมาหาโดยไม่รู้ตัวก็ได้
วิกฤตวัยกลางคน คือภาวะไร้จุดหมายของคนอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่โหยหาความสำเร็จ มองหาจุดยืนของตัวเองในอะไรสักอย่าง เป็นวัยที่ถูกคาดหวังจากทั้งครอบครัว และสังคมว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มีนั่น มีนี่ แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นความกดดันไปแบบไม่รู้ตัว
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยนี้ โดยส่วนใหญ่เราจะพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นวัยที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่าง เช่น ครอบครัว หน้าที่การงาน สังคม ฯลฯ
ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน บางคนก้าวจากวัยเด็ก ไปวัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน และวัยทองเลยโดยไม่มีปัญหาด้านร่างกายและความรู้สึกใด ๆ ในขณะที่บางคนกว่าจะก้าวผ่านไปสู่อีกช่วงวัย ก็พบปัญหามากมาย
ดังนั้น การเข้าสู่วิกฤตวัยกลางคนจึงเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะแต่งงานหรือโสดไม่ใช่นัยยะสำคัญ ที่สำคัญก็คือความรู้สึกท้อแท้ โหยหาอะไรบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร จะเป็นความสำเร็จ การยอมรับ ความสุข หรืออะไรที่เป็นนามธรรมกว่านั้นก็ได้
แต่รู้ไหม..เรามักไม่ค่อยรู้หรอกว่าตัวเองกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตวัยกลางคน ทำให้หมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง คิดไปคิดมา ย้ำคิดย้ำทำ วนเวียนอยู่แต่กับเรื่องของตัวเองจนไม่เป็นอันทำอะไร และต่อให้มีอาการต่าง ๆ ที่บอกมา เราก็มัวคิดแต่ว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ เป็นเรื่องไกลตัว และไม่มีทางเกิดขึ้นกับเราเด็ดขาด
ทั้งที่ความจริงแล้ว ใคร ๆ ก็รู้สึกว่างเปล่า โหยหาการยอมรับได้ทั้งนั้น และการไม่รู้นี่เองที่นำมาซึ่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายได้
ผลกระทบจากการก้าวสู่วิกฤตวัยกลางคนก็คืออารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือโรคซึมเศร้าในระยะยาว อาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหน้าที่การงาน กลายเป็นความรู้สึกไม่ชอบตัวเอง ไม่มีความสุขตลอดเวลา มองโลกในแง่ร้าย ไม่พอใจเมื่อมีสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน หรือส่งผลให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงอย่างมากก็เป็นได้
ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบจากวิกฤตวัยกลางคน วิธีที่เราจะทำได้ก็คือการหมั่นสังเกตความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ อย่าลืมว่าการยอมรับและเข้าใจยังใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์
การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เรารู้ตัวและนำไปสู่การจัดการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ยิ่งถ้ายอมรับด้วยความเข้าใจ ปัญหาหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นก็แก้ไขได้ ถึงจะไม่ง่ายแต่ใช่ว่าไม่ได้
เพราะวิกฤตไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน วิกฤตวัยกลางคนก็เช่นกัน แค่เรามีเป้าหมาย รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร พอใจในสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ไม่ว่าวิกฤตแค่ไหนก็ผ่านไปได้..
catty เรามีครบทั้ง5ข้อ
10 มิ.ย. 2562 เวลา 14.51 น.
มิน พด.รบ เออสงสัยตัวเองจริงว่าทำทำไม ทำเพื่อใคร ทำแล้วได้อะไร
10 มิ.ย. 2562 เวลา 22.08 น.
Ake เป็นอยู่เลยถามตัวเองทุกวัน ฉันมาทำอะไร..ที่นี่
10 มิ.ย. 2562 เวลา 12.20 น.
prangtong🍊🍊🌿🍃🍀🌱🌵 ครบทั้ง 5 ข้อ เลยตรู
10 มิ.ย. 2562 เวลา 15.23 น.
nee ขอบคุณมาก
11 มิ.ย. 2562 เวลา 00.10 น.
ดูทั้งหมด