เปิดขั้นตอนสอบสวน ถ้าเยาวชนถูกจับดำเนินคดี หลังโซเชียลถกสนั่น ต้องมีนักสังคมสงเคราะห์ร่วมสอบหรือไม่
หลังจากเกิดเหตุยิงที่ห้างดังกลางกรุง โดยผู้ก่อเหตุอายุเพียง 14 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์มากกมาย หนึ่งในประเด็นที่คนสนใจคือเรื่องของกฎหมายการรับโทษของผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชน และขั้นตอนการสอบสวนผู้ก่อเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสอบสวนเองได้ไหม กระบวนการตั้งแต่การจับกุมตัวเยาวชน จนถึงการควบคุม ต้องดำเนินตามหลักเกณฑ์ใดบ้าง
ทางสำนักงานกิจการยุติธรรม ให้ข้อมูลเมื่อเยาวชนถูกดำเนินคดีต้องทำอย่างไรบ้าง ระบุว่า กฎหมายใหม่49 จับกุมเด็กและเยาวชน ต้องคำนึงถึงเกณฑ์อายุต่ำกว่า 12 - 18 ปี รับ VS ไม่รับโทษ? กระบวนการและขั้นตอนในการจับกุมเด็กและเยาวชนนั้น มีความแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เมื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ โดยกฎหมายหลักที่ใช้ คือ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565
เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา
เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชน (อายุต่ำกว่า 12 – 18 ปี) กำหนดให้ ตำรวจ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทำการสอบสวนสอบปากคำ ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย และให้ ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
อายุต่ำกว่า 12 ปี
พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก (พม.) จะต้องดำเนินการ สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหาย
อายุ 12 - 15 ปี
แจ้งผู้ปกครอง และแจ้งสถานพินิจฯ สถานพินิจฯ จะมีการสืบเสาะและจัดทำแผนแก้ไข้บำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน นำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชม ศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี กรณีศาลฯ เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน) ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรมมอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามภานในระยะเวลาที่กำหนด
อายุ 15 - 18 ปี
กรณีศาลฯ เห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาชนอายุ 12 - 15 ปี กรณีศาลฯ เห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ : ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญาหรือสั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)
ข้อควรรู้ : ถึงแม้เด็กและเยาวชนแม้ไม่ได้รับโทษอาญาแต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่งโดยพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม