ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ท่องเที่ยว ลักซูรี ไปได้สวย คนเที่ยวถี่น้อยลง แต่จ่ายแพงขึ้น

การเงินธนาคาร
อัพเดต 21 พ.ย. 2566 เวลา 12.33 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2566 เวลา 05.33 น.

ท่องเที่ยว ฮึดสู้ 11 เดือน ยอดทะลัก 23 ล้านคน เงินสะพัด 9.8 แสนล้านบาท ยุโรปอยู่ยาว 7-14 วัน จีนพลาดเป้ายังไม่ถึง 3 ล้านคนกลุ่มลักซูรียังโต บุ๊กกิ้งดอทคอม ชี้ คนเลือกหรูหราบางโอกาส ปมเศรษฐกิจชะลอตัว พิมาลัยเปิดเทรนด์คนเที่ยวน้อย แต่จ่ายแพงขึ้น AWC เผย เที่ยวบินน้อย ตามไม่ทันดีมานด์

ภาคการท่องเที่ยว เครื่องยนต์ทำเงินของไทย ยังคงต้องลุ้นต่อเนื่อง แม้เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นปลายปี 2566 เพื่อให้เข้าเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 25-30 ล้านคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข้อมูลจากสำนักงานปลัดการท่องเที่ยว ระบุ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 12 พ.ย. 66 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 23,241,338 คน สร้างเม็ดเงินสะพัด 981,690 ล้านบาท โดยมี 5 อันดับสัญชาติ ดังนี้

  • มาเลเซีย 3,824,445 คน
  • จีน 2,902,462 คน
  • เกาหลีใต้ 1,375,958 คน
  • อินเดีย 1,354,712 คน
  • รัสเซีย 1,170,203 คน

แม้ภาคการท่องเที่ยวโดยรวมยังคงเหนื่อย แต่ท่องเที่ยวลักซูรี หรือ การท่องเที่ยวแบบหรูหรา ยังคงได้ไปได้สวย แม้จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คนรวยยังต้องรัดเข็มขัด เลือกหรูหราบางโอกาส

นางสาวมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอตัว และวิกฤตการณ์ค่าครองชีพ แต่คนยังต้องการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนอยู่ ส่งผลให้เกิดเทรนด์ รวยแบบกระซิบ (Stealth Wealth)

โดยผู้เดินทางในปี 2566 - 2567 หันมาหาวิธีรัดเข็มขัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังคงต้องการยกระดับการท่องเที่ยวลักซูรีอยู่ จึงเลือกหรูหราตามสั่ง หรือ “A La Carte” ผ่านการใช้จ่ายแบบเต็มที่ในทริปสั้น ๆ หรือเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านหนึ่ง เพื่อไปเต็มที่กับสิ่งที่ตนเองต้องการมากกว่า เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์เหนือระดับแม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม เช่น 65% เลือกใช้บัตรผ่านรายวันในการใช้บริการในโรงแรมห้าดาว แม้ไม่ได้เลือกค้างคืนที่โรงแรมนั้น ๆ เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่ 64% นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางในประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่าเมืองที่ตนเองอยู่ และเดินทางระยะใกล้บ้านตนเองมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย

และอีก 65% วางแผนให้ลูกหลานลาเรียน แล้วออกเดินทางนอกฤดูท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายตอนออกเดินทาง

ท่องเที่ยว

คนรวยเที่ยวถี่น้อยลง แต่จ่ายแพงขึ้น

นางสาวชรินทิพย์ ตียาภรณ์ ทายาทรุ่น 2 และเจ้าของร่วมของ“พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา” รีสอร์ตลักซูรีห้าดาว จ.กระบี่ กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยว ปี 2566 ฟื้นตัวดีกว่าปีที่แล้ว สะท้อนจากยอดอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy) ของพิมาลัย เฉพาะไตรมาส 4 เฉลี่ย 80% และคาดการณ์ว่าปิดปีนี้จะทำอัตราการเข้าพักเฉลี่ยได้ในระดับ 65% สูงกว่าปี 2565 เกือบ 1 เท่าตัว ที่มียอดเข้าพักเพียง 30%

ทั้งนี้ ตลาดที่มีการฟื้นตัวสูงของท่องเที่ยวลักซูรี คือ ยุโรป และแถบสแกนดิเนเวียที่หนีหนาว อาทิ อังกฤษ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนยุโรปเที่ยวน้อยครั้งลง จาก 4 ครั้ง/ปี เหลือ 1-2 ครั้ง/ปี ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้พิถีพิถันในการเลือกเที่ยว

เมื่อจำนวนเที่ยวลดลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อการเที่ยว 1 ครั้งอาจจะมากขึ้น เพราะต้องการเที่ยว และพักผ่อนที่มีคุณภาพมากขึ้น และยังพักนานขึ้นเฉลี่ย 7-14 วัน โรงแรมระดับ 5 ดาวอย่างพิมาลัยจึงได้อานิสงส์จากจุดนี้

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในปีนี้ คือ ตลาดจีนที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 50% ยังไม่กลับมา จากปัญหาเศรษฐกิจและความไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในไทย จึงทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หาย แม้จะมีนโยบายฟรีวีซ่าก็ตาม (ข้อมูลล่าสุดจาก ททท. คนจีนเข้าไทยยังไม่ถึง 3 ล้านคน จากเคยเข้าสูงสุด 10 ล้านคน)

ท่องเที่ยว

เที่ยวบินน้อย ไม่ทันดีมานด์

นางสาวชรินทิพย์ กล่าวต่อไปว่า นักท่องเที่ยวยังกลับมาเที่ยวในกระบี่น้อย โดยกลุ่มใหญ่ที่หายไปอีกกลุ่ม คือ เกาหลี และอินเดีย ปัจจัยหลักมาจากเที่ยวบินตรงเข้าสู่สนามบินนานาชาติกระบี่เบาบางกว่าฝั่งยุโรปมาก

โดยตั้งข้อสังเกตว่า อาจมาจากการอยู่ระหว่างการถ่ายโอนสนามบินนานาชาติกระบี่ จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นผู้บริหารแทน ทำให้ขณะนี้ ไม่มีเจ้าภาพในการดีลสายการบินต่างชาติมาลงตรงที่สนามบินกระบี่

ด้าน นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า การผลักดันการท่องเที่ยว จำเป็นต้องขับเคลื่อนทั้งระบบ โดยกลไกที่สำคัญ คือ สายการบิน ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาในไทย แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีฟรีวีซ่า ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพราะไฟล์ตบินยังตามดีมานด์ไม่ทัน

“แม้ว่าทุกเที่ยวบินจะมีคนเดินทางเต็ม แต่ยังไม่มีการเพิ่มเที่ยวบิน ฉะนั้น เราจึงไม่เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะว่าการที่จะขยายไฟล์ตบินปกติจะต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่เขาจะขยายไฟต์บินเพิ่ม”

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจที่ AWC เห็น คือ นักเดินทางทุกกลุ่ม และทุกประเทศ เรตราคาห้องพักต่อคืนสูงขึ้น ตั้งแต่ 15% จนไปถึง 49% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด

ทำให้เราเห็นนักเดินทางกลุ่มคุณภาพมากขึ้น ที่ซื้อตั๋วเครื่องบินราคาแพง และยอมจ่ายค่าห้องที่สูงขึ้นและอยู่ยาวขึ้น ซึ่งก็เป็นเทรนด์ใหม่ที่ขณะนี้ยังเห็นแนวโน้มที่ดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

ดูข่าวต้นฉบับ