ทั่วไป

“กุลิศ สมบัติศิริ” ยกเครื่องแผนพลังงานชาติ ขับเคลื่อนไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ไทยพับลิก้า
อัพเดต 01 ธ.ค. 2565 เวลา 19.49 น. • เผยแพร่ 27 พ.ย. 2565 เวลา 09.06 น.

“กุลิศ สมบัติศิริ” ปรับแผนพลังงานชาติ เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ตั้งเป้าเพิ่มพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 50% เลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หนุนภาคขนส่งใช้ EV เดินหน้าโครงการ Green Hydrogen ผลิตไฟฟ้าผสมผสานพลังงานชีวมวล – ชีวภาพ – แสงอาทิตย์ – ลม พร้อมแยกสายส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาด-กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ “Utility Green Tariff” เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้ประกอบการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ผลิตสินค้าส่งขายยุโรป – อเมริกา

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่รายแรกของประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานอย่างครบวงจร ได้จัดงาน “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของเอ็กโก กรุ๊ป โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan : NEP) ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายกุลิศ กล่าวว่า ขณะที่เรากำลังเสวนากันอยู่ในวันนี้ ที่ประเทศอียิปต์ก็มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties) หรือ “COP-27” ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องจาก COP-26 ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ไปประกาศจุดยืนของประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 เอาไว้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รวมทั้งตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ในปี ค.ศ. 2065 และต้องจัดส่งแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับชาติลงมาอยู่ที่ระดับ 40% ในปี ค.ศ. 2030

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับการประชุม COP-27 ในปีนี้ จะเป็นปีที่มีการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศได้จัดส่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นอย่างไร และจะมีการหารือกันถึงเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยี รวมไปถึงเรื่องการหารือในประเด็นที่จะให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากการก่อมลพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศที่ยากจนกว่า ซึ่งรัฐบาลไทยได้ส่งนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม COP-27

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า คราวนี้มาดูสถานการณ์การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 131.8 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยภาคการผลิตไฟฟ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 42.8 ล้านตัน CO2 และภาคอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 42.6 ล้านตัน CO2 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32% เท่ากันทั้ง 2 ภาค ขณะที่ภาคขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 39.2 ล้านตัน CO2 คิดเป็นสัดส่วน 30% และภาคอื่น ๆ ที่เหลือ เช่น ภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และพาณิชยกรรม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 7.2 ล้านตัน CO2 คิดเป็นสัดส่วน 5%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ถ้าพูดถึงเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะมีความเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 62% อย่างในภาคขนส่งที่มีการใช้ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล เนื่องจากประเทศไทยยังใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในสัดส่วนประมาณ 97-98% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด ส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ยังมีสัดส่วนน้อยมาก แม้รัฐบาลพยายามโปรโมทให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวี แต่ก็ยังพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลักอยู่” นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์พลังงาน ประเทศไทยซึ่งไม่สามารถผลิตน้ำมันมาใช้ได้เอง ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมด ซึ่งราคานั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดิมเราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมาก เพราะเราสามารถผลิตเองได้จากอ่าวไทย แต่ผลิตมา 30 – 40 ปี ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูก เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าประมาณ 70% ในจำนวนนี้เป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยคิดเป็นสัดส่วน 32% และนำเข้าจากต่างประเทศ 38% ซึ่งในตอนนี้มีราคาแพงมาก

“ถึงแม้ว่าก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ยังถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ดี องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ “IEA” ทำการศึกษานโยบายพลังงานของประเทศต่าง ๆ จากภาพที่นำมาแสดงพบว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานในภูมิภาคอาเซียนยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลกันอยู่ ดูตามเส้นกราฟสีฟ้าไปจนถึงปี ค.ศ. 2050 จะเห็นแนวโน้มการจัดการพลังงานในอาเซียน 10 ประเทศ หากเรายังไม่มีนโยบายอะไรออกคุมเข้ม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกราฟเส้นสีเขียวที่เราตั้งเอาไว้ Gap (กราฟสีฟ้าและกราฟสีเขียว) ก็จะถ่างออกไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราทำได้ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนก็ต้องนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น” นายกุลิศ กล่าว

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ในสัดส่วนแค่ 23-24% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และก็เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย หากรัฐบาลไม่มีนโยบายมาสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการประกาศกลยุทธ์พลังงานสีเขียว หรือที่เรียกว่า “Green growth strategy” สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด หรือ Green Energy ไม่จะเป็นการใช้ไฮโดรเจนผลิตกระแสไฟฟ้า โดยในระยะแรก รัฐบาลญี่ปุ่นจัดสรรงบประมาณ 2 ล้านล้านเยน เข้าไปลงทุนทำวิจัยและพัฒนาไปก่อนประมาณ 10 ปี เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียว จากนั้นในระยะที่ 2 ก็จะเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการที่ทำการศึกษาวิจัยเอาไว้ หรือ Pilot Project และระยะที่ 3 ภาครัฐถอนตัวออกมา ปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการลงทุน Green Energy เต็มรูปแบบต่อไป

ส่วนประเทศยุโรปก็มีการประกาศนโยบายกรีนดีลแพลน (European Green Deal) ใช้เงินถึง 85,000 ล้านยูโร เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะภาคพลังงานและภาคขนส่ง เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Green Energy ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นผลการดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral Pathway

ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทยก็ต้องเร่งศึกษากรอบของแผนพลังงานแห่งชาติ 2022 ขึ้นมา คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า โดยกรอบแผนพลังงานแห่งชาติหลัก ๆ ที่กำหนดไว้ ก็คือ 1. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% และจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 2. ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งให้เป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว คือ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้นมาดำเนินการโปรโมทให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถอีวี โดยรัฐบาลช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไปแล้วคันละ 200,000 บาท ตอนนี้กำลังมาพิจารณาเรื่องของแบตเตอรี่

“เป็นเรื่องที่น่ายินดี ตอนนี้ยอดการซื้อรถอีวีเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 275% จากระดับ 1,000 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คัน คนเริ่มใช้รถอีวีมากขึ้น ๆ สิ่งที่จะต้องทำต่อไป ก็คือ การขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ EV Charging Station ซึ่งพฤติกรรมของคนใช้รถอีวีจะไม่เหมือนปั๊มน้ำมัน คนต้องการชาร์จรถอีวีที่บ้าน ซึ่งคงต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

3. ปรับเพิ่มการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพให้มากกว่า 30% และ 4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ตามแนวทาง “4D1E” ก็คือ 1. Digitalization 2. Decarbonization 3. Decentralization 4. Deregulation และ 1E คือ Electrification

ยกตัวอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าส่งให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน แต่ตอนนี้ประชาชนก็สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรือ พลังงานลม จากนั้นนำไฟฟ้าส่วนเกินนี้ขายคืนกลับสู่ระบบ หรือเป็น Two Way Communication จากเดิมเป็นแบบ One Way Communication กระทรวงพลังงานก็จะดำเนินการโปรโมทเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ พลังงานจากขยะประมาณ 600 เมกะวัตต์ โดยผลิตมาจากขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์และขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 800 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ (Biomass-Biogas)

นายกุลิศ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดจะบรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น และลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า หรือ Decarbonization โดยใช้ไฮโดรเจนสีเขียว หรือ “Green Hydrogen” ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป กำลังดำเนินการพัฒนาเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังต้องเร่งศึกษาวิจัยการใช้เทคโนโลยี Carbon Capture Storages : CCS หรือที่เรียกว่า Carbon utilization and storage เป็นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเราเริ่มดำเนินการแล้วในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ตอนนี้เริ่มนำร่องที่แหล่งปิโตรเลียมอาทิตย์บริเวณอ่าวไทยตอนบนใกล้ท่าเรือมาบตาพุด โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่ได้ทำ MOU ที่จะโครงการนี้ร่วมกัน และก็มีการทำ Green Hydrogen ผลิตไฟฟ้าจากน้ำ เช่น กรณีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์หมด หรือ ไม่มีแสงแดด ก็จะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์นำแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ จากนั้นก็นำไฮโดรเจนไปกักเก็บเอาไว้ เมื่อต้องการใช้ก็นำไฮโดรเจนมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “Electrolysis” ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการกันอยู่

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ “กพช.” มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถที่จะส่งไฟฟ้าไปขายให้กับบริษัท หรือ ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ “RE-100” ผลิตสินค้า โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกไปขายยุโรป หรืออเมริกา เพราะหากใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตมาจากถ่านหินผสม ประเทศคู้ค้าจะตีกลับสินค้า เหมือนกับเรื่องประมงที่เกิดปัญหากรณี IUU

“จากนี้ต่อไป บริษัทที่ส่งออกสินค้าก็จะไม่ซื้อไฟฟ้าจากระบบเดิม เพราะระบบเดิมมีถ่านหินเจือปน ต่อไปผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้า สามารถสั่งซื้อไฟฟ้าใช้พลังงานสะอาดแบบเจาะจงได้เลย แต่ตอนนี้อาจมีราคาแพง เพราะต้องแยกสายส่งออกมา ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้แยกสายส่งที่ใช้พลังงานสะอาด ออกมาตั้งเป็น Portfolio ต่างหาก ใช้สำหรับสายส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และชีวภาพต่าง ๆ นี่คือวัตถุประสงค์ของการออก Utility Green Tariff เพื่อสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสีเขียวนำไปสู่ Carbon Neutral Pathway ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวทิ้งท้าย

ดูข่าวต้นฉบับ