ฟอร์ด เผยตลาดยังมีความต้องการซื้อ แนะรัฐบาลช่วยออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ หลังค่ายรถเสนอแนวคิดมาตรการลดหย่อนภาษีให้คนซื้อรถใหม่ เชื่อดันตลาดกระเตื้อง ยอดขายทั้งปีแตะ 6 แสนคัน ด้านฟอร์ดชู 3 กลยุทธ์รักษามาร์เก็ตแชร์ ส่งรถรุ่นพิเศษลุยตลาดเพิ่มความแข็งแกร่งงานบริการหลังการขายต่อเนื่อง
นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ ฟอร์ดเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น จาก 573,000 คัน ในปีนี้ที่ผ่าน ขึ้นไปเป็น 600,000 คันนั้น คือมาตรการของรัฐบาลในการช่วยหนี้เสีย หรือ NPL จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้ตลาดรถยนต์ดีขึ้น สถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ต่าง ๆ จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
รวมถึงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เงิน 10,000 บาท น่าจะมีส่วนกระตุ้นความเปราะบางของเศรษฐกิจให้ขยับขึ้นมาได้ และน่าจะส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตไปแตะ 600,000 คันได้
เห็นได้จากยอดขายรถยนต์โดยรวมในปี 2567 ที่ผ่านมา 573,000 คัน ลด 26% ขณะที่ตลาดรถยนต์ปิกอัพขนาด 1 ตัว และรถพีพีวี ลดลง 46% ส่วนฟอร์ด 20,823 คัน ลดลงไปกว่า 40% โดยรถยนต์พีพีวีอย่าง ฟอร์ด เอเวอเรสต์ นั้นมีการเติบโตจาก 19% ขยับเป็น 22% ในปีที่ผ่านมา ส่วนปิกอัพ เรนเจอร์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 7.8% อยู่ในอันดับสามของตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตัน
ขณะที่ปีนี้ 2568 ฟอร์ดประเมินว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมน่าจะมีการเติบโตขั้นต่ำไม่น้อยกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา แต่ไม่น่าเกิน 600,000 คัน ส่วนฟอร์ดนั้นมีนโยบายรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในส่วนของเอเวอเรสต์ และเรนเจอร์ เอาไว้ให้ได้ และจะต้องมีการเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์
“ดีมานด์ในตลาดมีอยู่ แต่การที่รัฐบาลควบคุมมาตรการสินเชื่อนั้นถือเป็นอุปสรรค สุดท้ายทำให้ค่ายรถยนต์มองร่วมกันว่า ควรจะต้องมีมาตรการกระตุ้นดีมานด์ให้เกิดขึ้น และมีมาตรการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อของแบงก์มากขึ้น ทำให้ตลาดรถยนต์ดีขึ้น”
นายรัฐการกล่าวว่า ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ได้มีการหารือร่วมกันเพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นตลาดไปยังภาครัฐ โดยนำเสนอว่าน่าจะมีทำโปรแกรมพิเศษสำหรับค่าลดหย่อนภาษีในการซื้อรถสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่ามาตรการใดจะเหมาะสมในการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
“เราดูคล้ายรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก เช่า ค่าลดหย่อน 100,000 บาทในเวลา 5 ปี บริษัทรถยนต์ได้หารือร่วมกันและไม่มีใครอยากให้รัฐบาลทำสิทธิพิเศษเหมือนตอนรถคันแรก เพราะเราเข้าใจดีว่าก่อให้เกิดหนี้เสีย และดึงดีมานด์ล่วงหน้าออกมาใช้ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากนั้น 3-4 ปี เกิดปัญหา”
ทั้งนี้ มาตรการที่บริษัทรถยนต์นำเสนอเป็นมาตรการระยะยาว ที่รัฐบาลน่าจะกลับไปพิจารณาว่าจะสามารถนำมากระตุ้นดีมานด์ในช่วงนี้ให้เกิดขึ้นได้
ขณะที่สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ฟอร์ด ประเทศไทย มีนโยบายขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในปีนี้ ได้แก่ 1.การทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสดใหม่และมีสีสันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ทั้งการทำรุ่นพิเศษ ราคาพิเศษ โดยปีนี้รถยนต์ทั้ง 2 รุ่น คือ เอเวอเรสต์ และเรนเจอร์ มีลูกเล่นออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในปี 2568 นี้ ฟอร์ดจะยังไม่มีแผนแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน ส่วนในปี 2569 นั้นอาจจะต้องรอดูอีกครั้ง
2.การบริการหลังการขาย ซึ่งฟอร์ดจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และเติบโตไม่มาก ดังนั้น ฟอร์ดจะทำงานร่วมกับผู้แทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์เพื่อพยายามสร้างความแตกต่างในการให้บริการลูกค้า โดยเฉพาะ Service Convenient ที่ฟอร์ดทำต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยในปีที่ผ่านมามีลูกค้าฟอร์ดหันมาใช้การจองบริการหลังการขาย ถึง 140,000 คน, Mobile Service 40,000 ราย, Pickup Delivery 25,000 ราย เรื่องเหล่านี้ช่วยให้แบรนด์ฟอร์ดได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น
จากพฤติกรรมของลูกค้าพบว่า 70-80% มีการศึกษารายละเอียดการซื้อรถมาก่อนที่จะเข้าโชว์รูม ฟอร์ดได้มีการพัฒนาทีมงานของตัวแทนจำหน่ายเพื่อให้สามารถรองรับและให้บริการกับลูกค้าได้อย่างแม่นยำชัดเจน เพื่อตอบสนองและปิดการขายได้
“เราต้องพัฒนาทีมงานของดีลเลอร์ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การดูแลลูกค้า คือสิ่งที่ฟอร์ดเน้นย้ำเสมอ และทำอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถดูแลลูกค้าได้ดีสุด”
ปัจจุบันฟอร์ดมีโชว์รูมอยู่ที่ 148 แห่ง บริษัทมีนโยบายให้ดีลเลอร์ดูแลลูกค้าและพยายามเพิ่ม Service Convenient เข้าไปมากขึ้น เช่น ลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องการเข้าใช้งานบริการหลังการขายจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ในการนำรถเข้าใช้บริการที่ศูนย์บริการแต่ละสาขา
“ดีลเลอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯของเราลดลงจาก 38-39 ราย เหลือ 28 รายในปัจจุบัน แต่เราได้ทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ แม้ว่าดีลเลอร์เราจะไม่เยอะเหมือนก่อน แต่งานบริการหลังการขายต้องอัดแน่นด้วยคุณภาพเช่นเดิม”
3.การทำงานร่วมกับผู้แทนจำหน่ายอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง และให้ดีลเลอร์มีรายได้จากงานบริการหลังการขาย ควบคู่กับการพัฒนาทักษะของทีมงานให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งนี้ จากกลยุทธ์ดังกล่าวเรามั่นใจว่าจะช่วยให้ฟอร์ดไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ฟอร์ด” ชี้ตลาดรถยังมีดีมานด์ เอกชนเสนอรัฐบาลเร่งหามาตรการกระตุ้น
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net