นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม. ว่าจากกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำเสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรี ถึงมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต เนื่องจาก กสม.เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูง และหลายประเทศงดเว้นไปแล้ว จึงอยากให้ยกเลิก แต่ ครม.วันนี้รับทราบ และมีความเห็นเพิ่มเติมจากศาลยุติธรรมว่า เนื่องจากโทษบางชนิด และความผิดบางชนิด ยังจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่
ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบตามนั้น ว่าโทษประหารชีวิตยังควรจะต้องมีอยู่ ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมระบุว่า โทษที่มีความผิดร้ายแรงนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ วันที่ 10 ต.ค. เป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day Against the Death Penalty) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและขยายเครือข่ายการขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย
ในการนี้ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม.ด้านสิทธิมนุษชน เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. เข้าร่วมประชุมร่วมกับนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าร่วมจำนวน 70 คน
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า กสม. มีข้อเสนอแนะให้ยุติโทษประหารชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คือ 1)ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ 2)แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ให้ศาลมีทางเลือกการลงโทษอื่นแทนการประหารชีวิต 3)ทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด หรือ Most serious crime และ 4)ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี และยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายทั้งหมด
จากนั้นเป็นการนำเสนอรายงานวิจัยการขับเคลื่อนโทษประหารชีวิตในต่างประเทศและระดับสากล โดย ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณปิยนุช โคตสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และการนำเสนอร่างกฎหมายยุติโทษประหารชีวิต โดยนายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และร่างกฎหมายยุติโทษประหารชีวิตฉบับประชาชน โดย นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยเป็นประเด็นท้าทาย และจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นด้วยที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายยุติโทษประหารชีวิตโดยภาคประชาชน การทำงานกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งสำนักงาน กสม.จะได้ติดตามการขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา (กสม.) ได้จัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเรื่องยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีข้อเสนอให้ดำเนินการเป็นขั้นตอน ควบคู่กับสร้างความเข้าใจต่อสังคมบนฐานของงานวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศคือ
1.รัฐจะต้องไม่กำหนดโทษประหารชีวิตในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่
2.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ให้ศาลมีทางเลือกการลงโทษอื่นแทน
3.ทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด (Most serious crime)
4.ยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งอาจดำเนินการยกเลิกโดยไม่ใช้โทษประหารชีวิตเกิน 10 ปี หรือ ยกเลิกโดยยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายทั้งหมด
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการ อาทิ การพัฒนาจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตและที่ไม่เป็นไปตามหลัก Most serious Crime การขยายและพัฒนาเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งร่วมกันสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้อย่างรอบด้านถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตให้สังคมและทุกภาคส่วน โดยภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมยินดีร่วมเป็นคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยร่วมกันต่อไป