ทั่วไป

ย้อนที่มา 'หลินฮุ่ย' การทูตแพนด้า ไทย-จีน ก่อนจากไป อายุ 21 ปี

MATICHON ONLINE
อัพเดต 19 เม.ย. 2566 เวลา 06.30 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2566 เวลา 05.56 น.

ย้อนที่มา หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์ ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ก่อนจากไป อายุ 21 ปี

ข่าวการตายของ หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์ วัย 21 ปี ที่อาศัยอยู่ ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ โดย “มติชน” รายงานเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (19 เมษายน) สร้างความโศกเศร้าแก่คนจำนวนมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา หลินฮุ่ย มีสุขภาพไม่ดี เนื่องจากอายุค่อนข้างมาก คือ 21 ปี ย่างเข้า 22 ปี ที่ผ่านมามีความดันไม่ดีมาตลอด สาเหตุเนื่องจากอายุมาก

อย่างไรก็ตาม หลินฮุ่ย ไม่มีอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวหลินฮุ่ยเอง เจ้าหน้าที่คาดว่าเกิดจากอายุมาก โดยตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา (18 เมษายน) หลินฮุ่ย มีอาการชักเกร็ง เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ปรึกษาทางออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ในเรื่องแพนด้าของจีนมาตลอด กระทั่งเวลาตี 3-4 หลินฮุ่ยก็จากไปอย่างสงบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อประเทศไทยมีหมีแพนด้า

สำหรับ หลินฮุ่ย (ภาษาจีน: 林惠, Lin Hui) มีชื่อไทยว่า เทวี และมีชื่อล้านนาว่า คำเอื้อง เป็นชื่อของแพนด้ายักษ์เพศเมีย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ประเทศไทยยืมจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะ ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เป็นเวลา 10 ปี

จัดแสดงคู่กับ ช่วงช่วง แพนด้ายักษ์เพศผู้ ตั้งแต่วันที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ.2546 (ช่วงช่วง ตายตั้งแต่ พ.ศ.2562)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลินฮุ่ย เกิดวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดจากพ่อหมีแพนด้าชื่อ Pan Pan (พ่าน พ่าน) และแม่หมีแพนด้าชื่อ Tang Tang (ถัง ถัง)

เดินทางมาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลินฮุ่ย เคยได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแดง ประเภทแพนด้าบุคลิกภาพยอดเยี่ยม จากการโหวตของแฟนคลับทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ Giant Panda Zoo.com

โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2546 โดยเริ่มจาก พ.ศ. 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางไปราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

ต่อมา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยแจ้งว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ประเทศไทย

22 ตุลาคม 2544 รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ และมอบหมายให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ

การทูตแพนด้า

2552 ประเทศไทยได้รับข่าวดี เมื่อ หลินฮุ่ย ให้กำเนินลูกแพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการ ผสมเทียม พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันตั้งชื่อลูกหมี ก่อนชื่อ หลินปิง จะได้รับการโหวตสูงสุด และเป็นชื่อของลูกช่วงช่วง-หลินฮุ่ยนับแต่นั้นมา

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ พ.ศ.2527 ไม่มีการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรีอีกต่อไป จีนจึงเสนอส่งแพนด้ายักษ์ไปชาติอื่นโดยให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ

พร้อมมีข้อกำหนดว่า ลูกของแพนด้ายักษ์ใดๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อ หลินปิง อายุครบ 4 ปี ไทยส่งแพนด้ายักษ์กลับไปที่จีน ต่อมา หลินปิง สามารถจับคู่ผสมพันธ์ พร้อมให้กำเนิดลูกแพนด้ายักษ์แล้ว 4 ตัว (ข้อมูลล่าสุด พ.ศ2562)

เบิร์ธเดย์ หลินฮุ่ย ต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดงานวันเกิดให้ หลินฮุ่ย ต่อเนื่อง พร้อมมอบอาหารโปรดให้เป็นของขวัญ อาทิ แครอต แอปเปิ้ล ใบไม้ หน่อไม้ รวมถึง “เค้กน้ำแข็ง” ด้วย

ทว่า อาจมีบางปีที่ว่างเว้นการจัดงานวันเกิด หลินฮุ่ย เนื่องจากอยู่ในช่วงอาลัย ช่วงช่วง นั่นเอง

ในปี 2565 หยาง โจ่ง รองกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ ได้ลงนามอวยพรวันเกิดให้หมีแพนด้าหลินฮุ่ย พร้อมทั้งกล่าวว่า ในนามของสถานกงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่ รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานวันเกิดของหลินฮุ่ย และขอขอบคุณสวนสัตว์เชียงใหม่ที่ได้ให้การดูแลหลินฮุ่ยเป็นอย่างดี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าหลินฮุ่ยได้พำนักที่สวนสัตว์เชียงใหม่อย่างมีความสุข ในสภาพแวดล้อมที่สบายอาหารที่อร่อยและได้มีการจัดงานวันเกิดเป็นประจำทุกปี

หลินฮุ่ยได้มาพำนักที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2546 มากกว่า 20 ปีนี้ หลินฮุ่ย ไม่เพียงได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากทางสวนสัตว์ แต่ยังได้รับความรักความชื่นชมจากชาวเชียงใหม่และชาวไทย มีงานแต่งงานกับช่วงช่วง วันที่คลอดหลินปิง ล้วนเป็นช่วงเวลาอันแสนประทับใจในความทรงจำของเรา

อาจกล่าวได้ว่าการมาพำนักที่เชียงใหม่ของหลินฮุ่ยนั้น เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน-ไทย ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ประจำเชียงใหม่ จะสนับสนุนการดูแลและวิจัยหมีแพนด้าของสวนสัตว์เชียงใหม่ ในเวลาที่เหมาะสมต่อไป ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศจีน

ขอบคุณ สวนสัตว์เชียงใหม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดูข่าวต้นฉบับ