การท่องเที่ยวในปัจจุบัน แตกต่างไปจากเดิม “นักท่องเที่ยว” ต่างให้ความสำคัญเรื่องของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ที่คำนึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น
โดยรูปแบบของการท่องเที่ยวที่สนับสนุนความยั่งยืน อาทิ การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community-based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Eco tourism) รวมถึงการที่รัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นกำหนดนโยบายและมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวและการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 (SX2024) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน GOOD BALANCE, BETTER WORLD "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก"โซน SX TALK STAGE เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอ “ท่องเที่ยวยั่งยืน สู่การพัฒนายั่งยืน” นำโดย “นายบุตรพจน์ พลพิพัฒนพงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัดหรือที่รู้จักกันว่า “กลุ่มม้งไซเบอร์” ที่ได้บอกเล่าแนวคิดในการออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์
มาพร้อมกับ “นายณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านเกาะจิก และประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเกาะจิก จ.จันทบุรี ชุมชนเกาะที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “มัลดีฟส์ เมืองไทย” อนุรักษ์ด้วยวิถีพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล สัตว์น้ำ ทำบ้านปลา และธนาคารปู
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ตรัง เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เตรียมจัดดำน้ำ 'เกาะกระดาน' สร้างสถิติโลก
สายเที่ยว เตรียมแพ็กกระเป๋า ! ลุยเส้นทาง 'ส่องนก' ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
พัฒนาเยาวชน สร้างกลุ่ม “ม้งไซเบอร์”
“บุตรพจน์” นักการตลาดจากเมืองหลวงที่ผันตัวเองมาเป็นนักพัฒนาชุมชน ช่วยจุดประกายความฝันให้แก่เด็กชุมชนบ้านน้ำจวง และบ้านร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอดีตเคยเป็นสถานที่พบรักของคุณพ่อและคุณแม่ และมักจะพาเขากลับขึ้นมาเที่ยวหาเพื่อนฝูงสม่ำเสมอ จนกลายเป็นสถานที่พักผ่อนของเขาจากการทำงานที่กรุงเทพฯ
ด้วยความหลงเสน่ห์ในวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวม้ง และธรรมชาติชุมชนบ้านน้ำจวง อีกทั้งในฐานะพี่และครูของน้อง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ “ม้ง” ได้มองเห็นศักยภาพของน้องๆ จึงได้ตั้งกลุ่ม “ม้งไซเบอร์”
บุตรพจน์ เล่าว่าชุมชนบ้านน้ำจวง ถือว่าเป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางทรัพยากร วัฒนธรรม และวิถีชาวไทภูเขาที่สวยงามในการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ยังขาดโอกาสเข้าถืงการพัฒนาในมิติต่างๆ ซึ่งพื้นฐานสำคัญต่อการเริ่มพัฒนาในพื้นที่นี้ คือ การเข้าถึงการศึกษาขึ้นพื้นฐานของเยาวชน ที่ส่งผลถึงภาพอนาคตของชุมชนที่หนุ่มสาววัยทำงานจำต้องละถิ่น เพื่อไปหารายได้ในเมือง
“ในหมู่บ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็กวัยทำงาน ต่างจำเป็นต้องละถิ่นเพื่อไปหารายได้ในเมือง ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะสร้างรายได้ จากทรัพยากรในพื้นที่ พอถึงวัยทำงานก็ต้องเข้าไปทำงานในเมือง เนื่องจากคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ห่างไกล ที่แตกต่างกับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในเมือง เมื่อเห็นปัญหาผมจึงได้รวมกลุ่มน้องๆ ขึ้นมาเป็นกลุ่มม้งไซเบอร์ ซึ่งพวกเขามี Energy เยอะมาก เราก็ถามน้องๆ ว่าอยากเรียนอะไร พบว่า พวกเขา 3 กลุ่ม ได้แก่ การทำอาหาร การทำคลิปตัดต่อ และกิจกรรมสายบันเทิง เช่น การร้องเพลง การเต้น การแสดง”
เรียนรู้จากการปฎิบัติ บริหารการท่องเที่ยว
การเรียนการสอนแก่น้องกลุ่ม “ม้งไซเบอร์” นั้น “บุตรพจน์” ไม่ได้สอนด้วยตัวเองทุกเรื่อง เพียงแต่จะมีกลุ่มเพื่อนๆ มาร่วมสอน เช่น กลุ่มทำสื่อ ทำคลิป เล่นเครื่องดนตรี บางชนิดก็พอจะสอนได้เอง แต่กลุ่มทำอาหาร ซื้อวัตถุดิบให้เขา แล้วก็เปิด YouTube ให้ลองฝึกทำตาม มีทั้งอาหารไทย อาหารเกาหลี พร้อมสนับสนุนห้อง Production จาก NIA เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ที่สามารถเรียนถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ อัดเสียง อัด Podcast พร้อมการพัฒนาทักษะหลักสูตรเสริมอาชีพต่าง ๆ ได้ ทำให้น้อง ๆ ได้โอกาสในการฝึกฝนและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเต็มที่
“ม้งไซเบอร์” เป็นแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวได้ โดยให้นักเรียนในหมู่บ้าน นำทักษะด้านอาชีพ ทั้งเรื่องการทำอาหาร ทำขนม การจัดอีเวนต์ การสื่อสารมวลชน และการบริการนักท่องเที่ยว มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหมู่บ้านด้วยการจัดงานเทศกาลต่างๆ อาทิ เทศกาลดนตรีปีละหนึ่งครั้ง แต่เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าชมหมู่บ้านตลอดทั้งปี โดยม้งไซเบอร์จะเป็นผู้ที่สื่อสารไปยังสังคมภายนอก และหานักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมงาน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มี
การสร้างทักษะนั้น นอกจากจะใช้เวลาแล้ว ยังต้องอาศัยโอกาสการนำมาฝึกใช้จริงด้วย ถึงแม้บางคนจะไม่รู้ว่าชอบอะไรในตอนแรก แต่เขาจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้หลาย ๆ
"การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การได้ลงมือทำเอง จึงได้ออกแบบการเรียนการสอน ในรูปแบบการให้ทดลองเรียนรู้จากมืออาชีพ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสร้างงาน Event ต่างๆ อาทิ งานเทศกาลดนตรี หรือเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ชีวิตวิถีม้ง โดยมีกลุ่มน้องๆ คอยเป็นมัคคุเทศ นำเที่ยว หรือจัดทำสื่อต่างๆ ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ รรวมถึงการแสดงต่างๆ การทานอาหารจากฝีมือของน้องๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามีอาชีพ มีรายได้ ที่สำคัญพวกเขาอยากที่จะอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง”
แต่หากน้องๆ คนไหนสนใจอยากจะไปศึกษาต่อในเมือง หรือมีอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝันแตกต่างออกไป ทาง "บริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์" พร้อมสนับสนุน ให้โอกาสได้ทำตามที่สนใจ เพราะการจะเป็นพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถ และลงมือปฎิบัติได้จริง
“เกาะจิก” ชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์
นายณรงค์ชัย เล่าว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะจิกนั้น ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเข้าสู่ปีที่ 20 ซึ่งเกาะจิก มีเนื้อที่ 700 ไร่ มีครัวเรือนทั้งหมด 149 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 427คน ชุมชนที่นี่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกาะแห่งนี้ มีระบบพลังงานไฟฟ้าบนเกาะนั้น เป็นชุมชนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานหลัก ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ทั้งเกาะ และถูกพัฒนาขึ้นด้วยคนในชุมชน
เมื่อปี 2547 เกาะจิกได้รับงบประมาณมาจาก สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในตอนนั้นระบบประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ มีแผงโซลาร์เซลล์ 3 ชุด มีกำลังผลิตชุดละ 3,000 วัตต์ ใช้สูบน้ำจากบ่อน้ำตื้น 3 แห่งเพื่อใช้กับระบบประปาหมู่บ้าน และเครื่องยนต์ดีเซลล์ 50 กิโลวัตต์ ต่อมาได้มีการใช้ระบบ 2 แบบผสมผสานกันในการผลิตพลังงานให้กับชุมชน
นายณรงค์ชัย เล่าต่อว่าหลังจากชุมชนได้พัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และก่อตั้งเป็น บริษัทจัดการพลังงานเกาะจิก เพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้า ซ่อมบำรุง และจัดการเก็บเงินค่าไฟฟ้า ช่วยชุมชนถึงพลังงานสะอาด สมาชิกสามารถประหยัดเงินได้อย่างน้อยเดือนละ 2,000-3,000 บาท และนำโซล่าเซลล์ไปใช้ในเรือประมง เพื่อมาช่วยเรื่องแสงสว่างและการดูดน้ำออกภายในเรือ ช่วยลดการมลภาวะจากเครื่องยนต์ และสามารถขยายผลการทำ โครงการCarbon Creditร่วมกับบริษัท Apple มาทำสัญญารับซื้อ Carbon Credit จากเกาะนี้ในระยะยาว 15 ปี และรายได้ดังกล่าว ก็นำมาลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อครัวเรือนได้
อัตราค่าไฟในชุมชนบ้านเกาะจิก
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านเกาะจิก จะใช้น้ำจากบ่อน้ำธรรมชาติ 3 บ่อ บ่อลึก 8 เมตร เป็นน้ำจากหินซับ สะอาดด้วยธรรมชาติ จะใช้เครื่องปั๊มใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ปั๊มน้ำขึ้นไปเก็บที่ถังเก็บน้ำบนเนินเขา และปล่อยลงมาเป็นประปาให้ชาวบ้านได้ใช้ โดยเสียค่าน้ำ ยูนิตละ 15 บาท (บนฝั่ง 12 บาท) ส่วนไฟฟ้าใช้แผงโซล่าร์เซลล์ จัดเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ วันละ 50 กิโลวัตต์ สะสมไว้ในแบตเตอรี่และปล่อยเป็นกระแสไฟฟ้าให้ชาวบ้านเกาะจิกได้ใช้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันดีเซลปั่นไฟ แต่อัตราค่าไฟ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ใช้ไฟไม่จำกัด เสียค่าไฟ หน่วยละ 60 บาท
2. กลุ่มที่เหมาจ่าย เดือนละ 30 หน่วย เสียค่าไฟ หน่วยละ 23 บาท
3. กลุ่มเหมาจ่ายเดือนละ 60 หน่วย เสียค่าไฟ หน่วยละ 13 บาท เปรียบเทียบกับบนฝั่งแพงกว่า หน่วยละ 3-4 บาท เพราะเราต้องมีค่าบริหารจัดการ จ้างพนักงาน
แก้ปัญหาขยะทางทะเล น้ำดื่ม
นอกจากเป็นชุมชนต้นแบบการใช้พลังงานทดแทน/โรงผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์ชุมชนแล้ว ทางชุมชนได้แก้ ปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย อย่าง ขยะทางทะเล ซึ่งชุมชนต้องแบกรับปัญหาขยะที่ชุมชนไม่ได้ก่อขึ้น เสมือนเป็นแหล่งรองรับขยะทะเลที่พัดพามาทุกทิศทาง จากฝั่งทางจันทบุรี ตราด และมาจากทะเลจากสมมรสุม จึงมีขยะมาล้อมเกาะจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“ชุมชนมีระบบบริหารจัดการขยะที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะจะมีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ขยะที่ขายได้ ส่วนที่ต้องทำลายจะฝังกลบ ถ้าเป็นของสดจะใช้น้ำอีเอ็มราดเพื่อทำปุ๋ยนำไปใช้ต่อ ฉะนั้น บนเกาะจิกจะมีทั้งพลังงานสะอาดและปราศจากมลภาวะ เป็นหมู่บ้านปลอดขยะเป็นเกาะสีเขียว เราจึงตั้งเป้าพัฒนาหมู่บ้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”นายณรงค์ชัย กล่าว
ขณะที่ “ปัญหาน้ำดื่ม” ชุมชนมีน้ำบาดาลที่สามารถใช้ในครัวเรือน แต่ต้องซื้อน้ำดื่มจากภายนอกชุมชนมาใช้ ทำให้ในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายสูง และเกิดปัญหาขยะจากขวดน้ำพลาสติก ขุมชนจึงมีการจัดหาเครื่องกรองน้ำดื่ม เพื่อมาใช้ในชุมชน และแก้ปัญหาขวดพลาสติกที่เพิ่มขึ้น ควบคู่การทำให้ชุมชนเป็นชุมชนZero Waste
“อยากขับเคลื่อนชุมชนให้กลายเป็นชุมชนอนุรักษ์ และคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพัฒนาไปตามกลไกที่มีอยู่ ปัจจุบันชุมชนของเรามีระบบสายส่งไฟฟ้าเป็นของตัวเอง เรามีไฟฟ้าใช้และลดมลพิษ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ก็รู้สึกภาคภูมิใจในระดับหนึ่ง การรักษามาตรฐานในการทำงานนั้นสำคัญกว่ารางวัลหรือความสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป”
ชุมชนบ้านเกาะจิก ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ปี 2553 ชุมชนบ้านเกาะจิก เริ่มทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศและทำที่พักบริการแบบโฮมสเตย์ เนื่องจากมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำ และมีแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์เรียนรู้พลังงานโซลาร์เซลล์ และวิถีชาวบ้านแบบเงียบสงบบนเกาะเล็กๆ จึงเริ่มพัฒนาด้านท่องเที่ยว มีชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์ 4-5 แห่ง และล่าสุดมีการพัฒนาหมู่บ้าน โอท็อป นวัตวิถี ทำให้เกาะจิกได้ประชาสัมพันธ์ได้ และมีการส่งเสริมทำอาหารแปรรูป เป็นของที่ระลึก ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น
ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านเกาะจิก เล่าต่อไปว่าขณะนี้นักท่องเที่ยวรู้จักเกาะจิกและมาเที่ยวกันมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เพราะไม่ใช่เพียงการมานอน โฮมสเตย์ที่นี่เป็นของชาวบ้านดำเนินการเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวชื่นชอบการทานอาหารทะเลสดๆ นั่งเรือไปชมตกปลาหมึก ตกปลา พายเรือคยัค ขี่จักรยาน หรือไปเที่ยวชมทะเลแหวก หมู่บ้านไร้แผ่นดินที่บ้านบางชันที่อยู่ห่างไป ใช้เวลาเดินทางทางเรือ 30 นาที หรือบางกลุ่มทำกิจกรรมปลูกปะการัง
“การมาท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะจิก เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่นำเสนอวิถีชีวิตชุมชน เป็นการเที่ยวแบบอีโคทัวร์ นอนโฮมสเตย์ ได้พักผ่อนพร้อมสัมผัสชีวิตชาวเล คนท้องถิ่น กินอาหารทะเลสดๆ และเที่ยวโดยไม่ทำรายสิ่งแวดล้อม”
อย่างไรก็ตาม งาน SX2024 มีทั้งหมด 10 โซฯ และได้รวบรวมวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญกว่า 600 รายทั่วโลก เครือข่ายธุรกิจยั่งยืนจากบริษัท และองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศกว่า 270 แห่ง ที่จะมาให้ความรู้หลากหลายด้าน แนวคิดที่น่าสนใจ รวมถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ให้โลกเกิดความสมดุล
โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากการผนึกกำลังของ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้, ปตท., เอสซีจี, ไทยเบฟเวอเรจ และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ภายใต้ธีมหลัก “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) เพื่อสร้างสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า (Good Balance, Better World) จัดตั้งแต่ 27 ก.ย.-6 ต.ค.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)