เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สืบสานพระปณิธาน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้มีสุขภาพดี มีเป้าหมายบูรณาการองค์ความรู้ใหม่และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งในมิติของการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการป้องกันโรคซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในคนเท่านั้น ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health)
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.2565 ที่ Living Hall ชั้น 3 อาคารศูนย์การค้าสยามพารากอน คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ หน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมกับมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “วันช้างไทย 2565” เพื่อร่วมอนุรักษ์ช้างไทยที่เป็นสัตว์ประจำชาติ ตลอดจนความเป็นสัตว์สำคัญในระบบนิเวศและสัตว์ป่าคุ้มครอง รวมถึงเป็นการยกย่องให้เกียรติช้างว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยรวมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักถึงการช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างมากขึ้น ในรูปแบบสัมมนาเชิงให้ความรู้ นิทรรศการ และกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้าง
กิจกรรมที่จัดขึ้นประกอบไปด้วย การเสวนาเพื่อแก้ปัญหาช้าง ในหัวข้อ “ปฏิญญาจรรยาบรรณควาญช้างไทย : อีกทางรอดของช้างไทยในอนาคต” ร่วมเสวนาโดยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และควาญช้างอาวุโส และ การเสวนาเพื่อสุขภาพช้างไทย ในหัวข้อ “เทคโนโลยีช่วยช้างชราจากโรคได้อย่างไร?” โดยมีอาจารย์สัตวแพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมเสวนาให้ความรู้ในครั้งนี้
ปัจจุบันเทคโนโลยีอัลตร้าซาวด์ ถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วทุกพื้นที่ และมีความจำเป็นอย่างสูงในการรักษาสัตว์ ในด้านการรักษาช้างจึงเริ่มมีการนำอัลตราซาวด์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยรวมถึงการทำงานวิจัย เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายช้าง เพื่อให้ตรวจพบสาเหตุของการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยหากผลวิจัยมีแนวโน้มที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ เพื่อให้สัตวแพทย์ทั่วโลกสามารถใช้การอัลตร้าซาวด์มาประกอบการตรวจสุขภาพช้างอย่างสม่ำเสมอในการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในช้างอีกด้วย