ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กลุ่มเกษตรทำสวนบ้านโนนเขวา ขอนแก่น ปลูกผักปลอดสาร ส่งโมเดิร์นเทรด

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เผยแพร่ 14 เม.ย. 2562 เวลา 23.00 น.

บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านเป้าหมายสำหรับการดำเนินการผลิตผักปลอดภัยภายใต้การดูแลของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น โดยใช้หลักคิด “การตลาดนำการเกษตร” เน้นให้สมาชิกกลุ่มผลิตผักให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสร้างฐานตลาดที่มั่นคงต่อยอดเพื่อเป็นการปลูกผักแปลงใหญ่

พร้อมยกระดับมาตรฐานโรงงานคัดแยก GMP และโรงคัดบรรจุพืชผัก (Packing House) จึงนับเป็นต้นแบบการตลาดนำการผลิตหรือโนนเขวาโมเดล เพื่อส่งเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด ที่มีเทสโก้ โลตัส เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ สร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวบ้าน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คุณอภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ประธานกลุ่มเกษตรทำสวนบ้านโนนเขวา โทรศัพท์ (084) 516-0085 บอกถึงที่มาของกลุ่มว่า เกิดจากเมื่อครั้งที่มีโครงการพระราชดำริชื่อ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้สำรวจว่าในพื้นที่มีกลุ่มใดที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้บ้าง

อีกทั้งเพื่อต้องการให้เป็นโครงการเกษตรที่มีกิจกรรมครบวงจรหรือโครงการเสริมสร้างเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นจึงได้เลือกหมู่บ้านโนนเขวาซึ่งมีพื้นที่ติดกับโครงการเพื่อเข้าร่วมในครั้งนี้ พร้อมกับต้องการให้ชาวบ้านปรับวิธีทำเกษตรกรรมแนวใหม่

ประธานกลุ่มบอกว่า แต่เดิมชาวบ้านมีอาชีพหลักคือทำนาและทำสวน เมื่อโครงการดังกล่าวได้เข้ามาจึงทำให้ต้องปรับแนวทางและวิธีปฏิบัติแบบใหม่ ซึ่งจากเดิมที่เคยใช้สารเคมีก็ได้ค่อยๆ เลิกใช้ แล้วหยุดใช้อย่างจริงจัง พร้อมกับความสำเร็จของบางรายจนได้รับ GAP รับรอง จึงเป็นตัวอย่างของความสำเร็จได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ แม้ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เริ่มในปี 2558

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การทยอยปรับวิธีผลิตพืชผักเพื่อต้องการให้ปลอดสารเคมีอย่างสิ้นเชิง ทำให้ชาวบ้านในกลุ่มนี้ค่อยๆ ประสบความสำเร็จมากขึ้น ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ ทำให้พวกเขาเกิดความชำนาญ แล้วได้พบว่าแนวทางนี้ช่วยทำให้ผลผลิตที่ปลูกมีคุณภาพสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก ทำให้ขายได้ราคาสูง มีกำไรเพิ่มขึ้น จนเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ถึงคุณภาพและมาตรฐานผลผลิต

คุณอภิสิทธิ์ เล่าว่า ในครั้งที่ปลูกผักปลอดสารได้สำเร็จยังไม่มีตลาดรองรับที่ชัดเจน โดยจะขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีปัญหาการรับซื้อมากมาย อีกทั้งราคาก็ไม่ดีนัก ทำให้สมาชิกกลุ่มวิตกว่าจะไม่รอด แต่พวกเราก็อดทนและไม่ท้อ

“ขณะเดียวกัน ก็เป็นจังหวะพอดีกับทางเทสโก้ โลตัส มีศูนย์สินค้าที่ตำบลท่าพระ เพื่อกระจายไปยังหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน กำลังหาแหล่งผลิตผักสดที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน แล้วมีปริมาณมากและต่อเนื่อง จึงตกลงเจรจาในปี 2559 ร่วมกับทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นเพื่อติดต่อซื้อผักจากชาวบ้านกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในราคาพอใจ”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บ้านโนนเขวานับเป็นแหล่งปลูกผักสดที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากที่สุด ทั้งยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่สมบูรณ์ มีความพร้อมสำหรับการผลิตเพื่อส่งขายให้กับทางเทสโก้ โลตัส ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมด้านราคาขาย โดยทางเทสโก้ โลตัส บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เปิดโอกาสให้ทางกลุ่มกำหนดราคาตามต้นทุน/กำไรตามความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการเสนอขาย

“ครั้งแรกมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 43 ราย ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 166 ราย นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายที่ปลูกผักคุณภาพแบบเดียวกันอยู่ที่พระยืน บ้านไผ่ และโกสุมพิสัยอีกด้วย ปัจจุบันส่งผักทุกชนิดโดยตรงให้กับทางเทสโก้ โลตัส ได้แก่ คะน้า กวางตุ้งใบ กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักชีไทย ผักกาดหอม ต้นหอม ขึ้นฉ่าย ผักบุ้งจีน กะเพรา ฯลฯ เป็นต้น ผักเหล่านี้จะปลูกโดยสมาชิกกลุ่ม โดยเก็บผลผลิตสัปดาห์ละ 4 วัน คือจันทร์ พุธ พฤหัสบดี และเสาร์ ซึ่งสมาชิกกลุ่มจะประสานงานและสื่อสารระหว่างกันทางไลน์เป็นหลัก

ส่วนสมาชิกเครือข่ายจะปลูกผักคนละประเภทกันเพื่อไม่ให้ซ้ำกัน อย่างหัวไชเท้า จากนั้นจะส่งผ่านกลุ่มจำนวนสัปดาห์ละ 2 ตัน แล้วกำลังเพิ่มเป็น 5 ตัน แล้วเมื่อรวมผักทุกอย่างที่ส่งให้เทสโก้ โลตัส สัปดาห์ละ 14 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนบาท หรือเดือนละล้านกว่าบาท”

การมีลูกค้าเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส นับได้ว่าสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในเรื่องการรองรับผลผลิตที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การผลิตผักจะต้องมีการวางแผนและจัดระบบการปลูกอย่างรอบคอบเพื่อให้ผักแต่ละชนิดมีจำนวนและปริมาณที่เหมาะสมกับยอดความต้องการ ทั้งยังป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการเน่าเสีย

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทางกลุ่มและตัวแทนของเทสโก้ โลตัส ต้องร่วมกันกำหนดตัวเลข ขณะเดียวกัน สมาชิกภายในกลุ่มต้องหารือร่วมกันว่าใครจะปลูกผักอะไร จำนวนเท่าไร เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางปลูกในแนวทางเดียวกัน แล้วสอดคล้องกับความต้องการของยอดรวมด้วย

หลังจากสมาชิกแต่ละรายเก็บผักตามออเดอร์แล้วจะนำไปล้างทำความสะอาดอย่างละเอียด นำไปตัดแต่งให้เรียบร้อยสวยงาม แล้วล้างอีกรอบ ก่อนที่จะนำไปบรรจุใส่ถุงใหญ่แล้วนำไปส่งที่โรงคัดแยกบรรจุเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการชั่งนับจดบันทึกยอดต่อไป

ระดับราคาสูง-ต่ำจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการปลูก ดังนั้น จึงสอดคล้องกับสภาพฤดูกาล อย่างหน้าร้อนปลูกผักยาก มีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ราคาต้นทุนสูงด้วย

แปลงปลูกผักของสมาชิกที่นำส่งขายจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้งนี้ ทุกครั้งที่เก็บผลผลิตจะดำเนินการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างประมาณ 70-80 ตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้รับซื้อและผู้บริโภค

สำหรับผักตกเกรดหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดนั้น คุณอภิสิทธิ์ บอกว่า จะแยกแล้วนำไปขายยังตลาดสดทั่วไป ผักชนิดนี้ไม่ได้เน่าเสีย เพียงแต่ไม่ตรงตามที่กำหนด นำไปขายในราคาที่สูงกว่าผักทั่วไปเพราะเป็นผักปลอดสาร ทั้งนี้ ในบางคราวราคาผักตกเกรดจะสูงกว่าผักส่งห้างสรรพสินค้าด้วย เพราะมีความต้องการของตลาดสูงมาก แต่มีจำนวนน้อย ดังนั้น สมาชิกก็จะมีรายได้จากการขายผักตกเกรดอีกทางด้วย

การทำกิจกรรมปลูกผักส่งขายของบ้านโนนเขวาสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอันมาก สิ่งที่ประสบปัญหากลับเป็นเรื่องแรงงานที่หายากมาก แม้จะได้แรงส่วนหนึ่งจากผู้สูงวัยในชุมชนให้มีกิจกรรมสร้างรายได้แบบเบาๆ อย่างคัดแยกผัก หรือตัดแต่งผัก แต่แรงงานก็ยังไม่พอ คุณอภิสิทธิ์ชี้ว่า ในอนาคตอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาแทนแรงงานเพื่อรองรับกับการขยายตัวของสินค้า

“จากเมื่อครั้งที่เริ่มต้น สมาชิกร่วมกันปลูกและเก็บผลผลิตได้วันละตันเดียว แต่เมื่อทุกคนเรียนรู้จนเกิดความชำนาญและคล่องตัว อีกทั้งยังมีสมาชิกรายใหม่เสริมเข้ามาอีกจำนวนมากทำให้เพิ่มยอดมาเป็นวันละ 3 ตัน จึงทำให้ในแต่ละสัปดาห์ผลิตผักได้เพียง 14 ตันเท่านั้น แต่ความจริงทางเทสโก้ โลตัส ต้องการถึง 16 ตัน ดังนั้น คงต้องกลับมาทบทวนแนวทางการผลิตต่อไป” คุณอภิสิทธิ์ กล่าว

คุณคำปั่น หนึ่งในสมาชิกกลุ่มต้นแบบ แล้วยังรับหน้าที่เป็น SMART FARMER ด้วย มีพื้นที่ปลูกผักจำนวน 4 ไร่ ปลูกผักชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกะเพรา คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม ฯลฯ เป็นต้น เขาเล่าว่าสมาชิกในกลุ่มสามารถปลูกผักได้ทุกชนิด แต่ต้องมาตกลงร่วมกันทุกครั้งว่ารายใดจะปลูกผักอะไร จำนวนเท่าไร ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณผักชนิดใดมากเกินความต้องการของลูกค้า

“เมื่อได้รับยอดออเดอร์แล้วในแต่ละสัปดาห์ก็จะต้องมีการคุยกัน สมาชิกแต่ละรายจะสลับกันปลูกผักอย่างน้อยรายละ 5 ชนิดหมุนเวียน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผักล้นตลาด จึงต้องร่วมกันวางแผนทุกเดือน จากนั้นแต่ละรายก็จะแยกย้ายกันไปปลูก ผักชนิดใดที่ต้องใช้เวลาปลูกนานก็จะเร่งปลูกก่อนเพื่อให้ทันกับเวลาที่ลูกค้ากำหนดไว้”

คุณคำปั่นชี้ว่า แต่ละแปลงปลูกจะปลูกผักต่างชนิดกัน ไม่เน้นปลูกผักจำนวนมาก เพื่อเป็นการคุมเรื่องแมลงศัตรูและโรค เนื่องจากโดยธรรมชาติผักต่างชนิดจะมีศัตรูไม่เหมือนกัน ดังนั้น การปลูกผักแบบผสมในพื้นเดียวกันจะทำให้แมลงศัตรูทำลายกันเอง จึงเป็นผลดีต่อผัก ช่วยให้ไม่ต้องใช้ยาหรือสารป้องกันแมลงศัตรู อาจจะมีใช้สารชีวภาพหรือน้ำหมักบ้างแนวทางนี้ทำให้ผักมีความสมบูรณ์มาก

เมื่อก่อนคุณคำปั่นปลูกผักเชิงเดี่ยวใช้พื้นที่ปลูกอย่างละ 1-2 ไร่ จะประสบปัญหาหลายอย่างทั้งคุณภาพและปริมาณ เพราะเก็บไม่ทัน อีกทั้งยังเกิดโรค/แมลงด้วย จึงจำเป็นต้องใช้เคมีช่วยด้วย พอนำไปขายราคาไม่ดี ต้นทุนสูง กำไรแทบไม่เหลือ แต่หลังจากปรับเปลี่ยนวิธีปลูกแบบผสม โดยปลูกแต่ละชนิดจำนวนน้อย ควบคุมง่าย จึงทำให้ผักมีคุณภาพดีมาก แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ผลผลิตสมบูรณ์ ไม่ต้องใช้เคมีแล้ว ลดต้นทุน ขายได้ราคาสูงกว่าเดิม ได้กำไรเพิ่มเป็นเท่าตัว

“อย่างต้นหอมเก็บวันละ 30 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 50 บาท มีรายได้ 1,500 บาท หรือผักกาดหอมจำนวนเก็บวันละ 30 กิโลกรัม ขายราคา 20 บาท ต่อกิโลกรัม มีรายได้แล้ว 600 บาท กวางตุ้งใบ กวางตุ้งฮ่องเต้เก็บ 30 กิโลกรัม ต่อวัน ขายกิโลกรัมละ 14 บาท ได้เงิน 400 กว่าบาท

ฉะนั้น ในแต่ละวันที่ตัดผักเก็บขายจะมีรายได้ ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันบาท แล้วแต่ละสัปดาห์เก็บจำนวน 4 วัน มีรายได้เฉลี่ย 8,000-10,000 บาท เมื่อหักรายจ่ายแล้วจะเหลือประมาณ 5-6 พันบาท ต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ถ้ารายใดมีพื้นที่มากก็จะมีรายได้เพิ่ม”

คุณคำปั่นบอกในท้ายที่สุดว่า อาชีพปลูกผักมีรายจ่ายไม่มาก ค่าแรงไม่มีเพราะทำกับภรรยา มีค่าน้ำเล็กน้อย ปุ๋ย/ยา หมักเอง สมัยก่อนทำนาและทำสวนเป็นหลัก แต่ตอนนี้ทำนาเอาไว้รับประทานในครอบครัวอย่างเดียว ส่วนรายได้หลักคือการทำผักขาย เพราะรายได้ดีมากกว่าเมื่อก่อน ไม่เหนื่อย แล้วที่สำคัญยังทำให้สุขภาพดีไม่เจ็บป่วยด้วย

คุณเปรม ทรัพย์บุญเลิศมา แผนกสนับสนุนและพัฒนาชุมชน เทสโก้ โลตัส บอกว่า หลังจากชาวบ้านแต่ละรายได้รับยอดการผลิตผักแต่ละชนิดแล้วก็จะไปดำเนินการปลูกจนเก็บผลผลิต จากนั้นจะใส่ถุงแล้วนำไปส่งที่โรงคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการชั่งน้ำหนัก ตรวจสอบ บันทึกข้อมูลของสินค้าแต่ละชนิดต่อไป

คุณเปรมเผยว่า แต่เดิมก่อนหน้าที่จะเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น การขายผักของเทสโก้ โลตัส ยังไม่เด่นชัดนัก ภายหลังจัดทำทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบ ประสานงานกับทางภาคราชการคือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มเกษตรกรปลูกผักแบบมีคุณภาพมาตรฐาน จึงได้คัดเลือกชาวบ้านในกลุ่มโนนเขวาที่มีคุณสมบัติและมีศักยภาพเพื่อเข้าร่วมกับโครงการเพื่อผลิตผักปลอดภัยส่งขายให้กับทางเทสโก้ โลตัส จนต่อมาได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ดันยอดขายในเขตพื้นที่ทางภาคอีสานสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีแผนจะขยายต่อยอดการผลิตผักอื่นๆ ให้มีความหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

จากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมแบบเดิมคงช้าไม่ทัน การรวมกลุ่มกันจะช่วยทำให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็งในเรื่องการกำหนดราคาต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ การกำหนดราคาขาย ความตั้งใจปลูกผักของชาวบ้านโนนเขวา เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น จึงนับเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของเทสโก้ โลตัส เพื่อผลิตผักสะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • นก_ศศินันท์
    เป็นกำลังใจให้คนไทยได้กินผักที่ปลอดภัยทั่วถึงกันทุกมื้ออาหารค่ะ
    15 เม.ย. 2562 เวลา 11.51 น.
  • Vimarn
    อยากปลูกบ้างจังชลบุรีส่งที่ไหนคะ
    15 เม.ย. 2562 เวลา 10.40 น.
ดูทั้งหมด