นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีประวัติเชื่อมโยงกับสนามมวย ขณะที่มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 111 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 1,388 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่พบติดเชื้อใหม่ 8 รายนั้น ในจำนวนนี้ 6 ราย ติดจากผู้ป่วยซึ่งอาจไม่ได้ให้ข้อมูลประวัติที่ชัดเจน ส่วนอีก 1 รายไม่ได้ติดจากผู้ป่วย และอีก 1 รายอยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้ได้เน้นย้ำขอให้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยกันดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิต มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 ราย ใช้เครื่อง ECMO อาการอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักราวครึ่งหนี่ง เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัว จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 4.7 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) จึงขอให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ขอให้อยู่ในเคหสถานหรือสถานที่พัก อยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก และเมื่อมีอาการป่วย มีไข้ ไอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิต
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลี จำนวน 83 คนที่ได้กักตัวเฝ้าระวังสังเกตอาการที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งในวันนี้ครบ 14 วัน ทุกคนได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่พบเชื้อ กลับบ้านได้ทั้งหมด โดยทุกคนอาการปกติ
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพบผู้ป่วยกระจายอยู่ในพื้นที่ 59 จังหวัด ขณะที่ยังคงมีอีกกว่า 10 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยเลย ซี่งการดูแลบริหารจัดการจังหวัดเหล่านี้ ก็จะดำเนินการเหมือนในพื้นที่กรุงเทพฯในช่วงต้นเดือนม.ค.ที่พบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น ดังนั้น ในจังหวัดที่ยังไม่ได้พบผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยน้อย เพียง 1-2 ราย ต้องดำเนินการเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าพื้นที่ โดยเฉพาะเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ต้องติดตามดูภายใน 14 วัน รวมถึงทำการสอบสวนโรคให้เร็วที่สุด ซึ่งหากมีจังหวัดปลอดผู้ป่วยมากเท่าใดก็จะทำให้สามารถควบคุมโรคในจังหวัดใกล้เคียงได้มากตามไปด้วย
สำหรับกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วย แต่ยังไม่ได้แพร่ระบาดในวงกว้าง เช่น สุรินทร์ อุดรธานี กาญจนบุรี บุรีรัมย์ ต้องเน้นเรื่องการตรวจจับผู้ป่วยโดยเร็วและลงไปสอบสวนโรค รวมถึงดำเนินการทางสังคมด้วยการเพิ่มระยะห่างทางสังคมให้มากขึ้น ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยจำนวนมาก ก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นเรื่องมาตรการทางสังคมดังที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการปิดหลายสถานที่เสี่ยง ตลอดจนขอความร่วมมือรัฐและเอกชน ลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงาน เช่น การทำงานที่บ้าน หรือเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อลดความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุด ส่วนในกลุ่มพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการมาตรการที่แตกต่างกันไปด้วย
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ซี่งเป็นมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกและทั่วไปให้การยอมรับและใช้อยู่ในขณะนี้ โดยชุดทดสอบที่ทางการใช้อยู่เป็นชุดทดสอบที่ผลิตขึ้นเองและมีแผนที่จะผลิตเพิ่มเติม โดยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั้งหมด 60 ห้อง และมีน้ำยาทดสอบอยู่ 1 แสนชุด ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ตรวจหาเชื้อได้ในปัจจุบัน ขณะที่ในรอบวันที่ผ่านมามีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีนี้ราว 3 พันราย
สำหรับการตรวจหาโดยวิธีตรวจภูมิคุ้มกันด้วยชุดทดสอบรวดเร็ว (Rapid Test) เหมาะกับบางสถานการณ์เท่านั้น เพราะต้องรอผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 10 วันถึงจะเริ่มวินิจฉัยได้ ส่วนกรณีที่มีสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลเอกชนมีความสนใจจะนำชุดทดสอบต่าง ๆ เข้ามาก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะเป็นผู้อนุญาตตามพ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ดังนั้น กรณีที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจหาเชื้อในขณะนี้ยังคงเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ซึ่งยืนยันว่ายังมีชุดและน้ำยาทดสอบเพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 63)