จากขั้วโลกเหนือสู่ป่าฝนเขตร้อน
จากภูเขาสู่มหาสมุทร
การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ “ใกล้ ” ตัวเรามากกว่าที่คิด
เดือนที่แล้ว มีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 24 หรือ COP24 ที่ประเทศโปแลนด์ โดยมีตัวแทนจาก 195 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม เพื่อมองหาความพยายาม และวิธีการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลไปทั่วโลกในปัจจุบัน
“จากข้อตกลงปารีส ที่นานาประเทศร่วมกันวางแผนการทำงานเมื่อหลายปีก่อน จะถูกพัฒนาเป็นแนวทางและพื้นฐานการทำงานที่จะก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เวลาและธรรมชาติกำลังจะไม่รอพวกเรา เป็นเรื่องจำเป็น และเป็นงานที่ท้าทายสำหรับนักอนุรักษ์ทั่วโลก” มานูเอล พูลการ์ วีดัล ผู้แทนจาก WWF ฝ่ายงานด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าว
การประชุมในครั้งนี้ ทุกประเทศจะต้องร่วมเปลี่ยนข้อตกลงจากเอกสารให้สู่การทำงานจริงอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกที่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสและใกล้เคียงที่สุดให้ได้ถึง 1.5 องศาเซลเซียส
สำหรับประเทศไทยนั้น COP24 เร่งเครื่องให้บ้านเรามีการดำเนินการระดมทุนกองทุนการปรับตัว (Adaptation Fund) ให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ข้อตกลงปารีส สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และ WWF มีบทบาทในการช่วยผลักดันให้สถาบันการเงินเข้ามาให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้ให้สำเร็จลุล่วง
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังย้ำนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7-20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2563 และในระยะยาว 20-25 เปอร์เซ็นต์ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 48 ล้านตันจากเป้าหมาย 24 ล้านตัน
บทสรุปของ COP24 จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่จะขับเคลื่อนให้แนวทางการลดโลกร้อน และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศชัดเจนขึ้นในศักราชใหม่นี้