เปิดความหมาย “เทศกาลตรุษจีน” ประเพณีพันปีที่มากกว่าการแจกอั่งเปา!
เทศกาลแห่งความสุขที่ชาวไทยได้รับวัฒนธรรมจากพี่น้องชาวจีนอย่าง “ตรุษจีน” หรือ “ปีใหม่จีน” ก็ได้เดินทางมาบรรจบพบกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว พี่น้องครอบครัวในหลาย ๆ บ้าน ก็จะได้หยุดพักผ่อนสังสรรค์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต่างเตรียมยิ้มแก้มปริจาก “อั่งเปา” ที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวได้มอบให้
แต่ตรุษจีนนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่การเฉลิมฉลองปีใหม่ เพราะเบื้องหลังเทศกาลแห่งความสุขนี้ ได้สะท้อน “พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม” ตลอดจน “กุศโลบาย” ต่าง ๆ ที่บรรพชนได้สั่งสมกันเป็นแนวปฏิบัติมาจวบจนทุกวันนี้ เราจึงขอพาทุกท่านไปซึมทราบความหมายที่อยู่เบื้องหลัง “ตรุษจีน” เพื่อหวังว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้ของคุณผู้อ่าน จะมีความหมายมากขึ้นกว่าที่เคย
ตรุษจีน : เทศกาลฤดูใบไม้ผลิที่เสริมสร้างด้วยกุศโลบายกว่าพันปี
ที่มาของเทศกาลตรุษจีนนี้ มีที่มายาวนานกว่าพันปีซึ่งพัฒนามาแต่ละยุคสมัย โดยมีจุดร่วมเดียวกันก็คือการเป็น “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” ต้อนรับฤดูกาลเพาะปลูก หลังจากฤดูหนาวได้ผ่านพ้นไป การจัดให้เกิดเทศกาลแบบนี้ จึงเป็นกุศโลบายให้ ชาวไร่ชาวนาได้รู้ทราบกำหนดเริ่มต้นกสิกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปนั้นจะได้เริ่มต้นสำรวจ ปรับปรุงชีวิตตนเอง เริ่มต้นการงานใหม่ ๆ
ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 (เดือนอ้าย) ตามปฏิทินจันทรคติของจีน แต่วันที่สำคัญที่สุดคือ วันที่ 30 เดือน 12 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่า (วันไหว้) และวันที่ 1 เดือน 1 คือวันปีใหม่ (วันเที่ยว) หรือที่รู้จักกันดีใน “วันชิวอิก” หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลินั่นเอง
ในภายหลังจึงมีการเพิ่มคติอื่น ๆ เข้าไป โดยมุ่งหวังให้เป็นการเตือนสติบ้าง ให้แสดงความกตัญญูกตเวทิตา ให้แสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และที่สำคัญคือการระมัดระวังให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ตระหนักว่าวันเวลาได้ล่วงเลยไปอีกหนึ่งปีแล้ว ควรหมั่นสร้างเสริมความดี ดังความหมายที่ซ่อนอยู่ในกำหนดวันและกิจกรรมที่ควรทำสำหรับช่วงเทศกาลนี้ ที่เตรียมงานแรมเดือน และฉลองต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 วัน
วันสำคัญวันแรกสำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เราจะขอนำมาเล่าให้ฟังก็คือ “วันบูชาเทพเจ้าเตา” คือวันที่ 24 เดือน 12 ของเทศกาล (เตรียมงานกันเป็นเดือน เราบอกแล้ว) โดยมีความเชื่อว่าบ้านแต่ละหลังนั้นจะมีเทพเจ้าเตารักษาอยู่ เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ เทพเจ้าเตาก็จะขึ้นไปรายงานความเป็นอยู่ ความประพฤติของบ้านแต่ละหลังบนสวรรค์ ชาวจีนจึงนิยมเริ่มต้นปัดกวาดเช็ดถูบ้านกันตั้งแต่วันนั้น และเซ่นไหว้ด้วยขนมหวาน เพื่อให้เทพเจ้าเตารายงานแต่สิ่งดี ๆ ของครอบครัวตนเอง ซึ่งแฝงกุศโลบายให้ทุกบ้านเริ่มต้นรักษาความสะอาดทบทวนตนเองเก็บกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไปและเมื่อช่วยกันทำความสะอาดบ้านแล้วก็มารับประทานขนมหวานร่วมกันสังสรรค์สานสัมพันธ์ในครอบครัวนั่นเอง
วันต่อมาเราคงคุ้นเคยกันดี นั่นคือ “วันจ่าย” ตรงกับวันที่29 เดือน12 ของทุกปี เป็นวันที่ชาวจีน จะไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาเตรียมพร้อม ก่อนที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน ในปี พ.ศ. 2562 นี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งการจับจ่ายใช้สอยกันในวันนี้ เป็นกุศโลบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวจีนทั้งยังแฝงไว้ด้วยคติความไม่ประมาทให้รู้จักเตรียมพร้อมอีกด้วย
สำหรับวันรุ่งขึ้น ก็คือ “วันไหว้” หรือวันสิ้นปีของจีน(วันที่30 เดือน12) ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่จะมีการเซ่นไหว้ในสามเวลาที่แตกต่างกัน ดังนี้ คือ ตอนเช้ามืดจะเริ่มพิธีการไหว้“ป้ายเล่าเอี๊ย” หรือไหว้เทพเจ้าต่างๆมักจะไหว้ด้วยเนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด และไก่ ร่วมกับเหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตอนสายไหว้“ป้ายแป๋บ้อ” หรือไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเป็นการแสดงความกตัญญูตาม ซึ่งในการไหว้ครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกินเที่ยง มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนใหญ่จะทำตามสิ่งที่ผู้ล่วงรับชอบรับประทาน) รวมทั้งมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่อเป็นการอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ จากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเพื่อความเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาครอบครัว หรือวงศ์ตระกูลที่จะรวมตัวกันได้มากที่สุด ปิดท้ายด้วยการแจกอั่งเปาที่เด็ก ๆ ต่างรอคอย
ตอนบ่ายไหว้“ป้ายฮ่อเฮียตี๋” เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องประกอบการไหว้จะเป็นจำพวก ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล แน่นอนว่ากุศโลบายของวันไหว้นี้เป็นการแสดงความกตัญญูให้ความสำคัญกับญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลที่จะเกื้อหนุนให้ผ่านอุปสรรคต่างๆกันไปได้นอกจากนี้ยังเป็นวันครอบครัวที่ทุกคนจะมารวมตัวรับประทานอาหารถามไถ่สารทุกข์สุขดิบแล้วก็ได้แสดงความเอื้อเฟื้อแบ่งปันด้วยอั่งเปาแก่ผู้น้อยอีกด้วย
สำหรับวันสำคัญวันสุดท้ายที่เราจะยกมากล่าวถึงอย่างย่อในวันนี้ ก็คือ“วันเที่ยว” หรือวันปีใหม่ของจีนในวันนี้ชาวจีนจะแต่งกายสวยงาม ออกไปไหว้พระขอพร ท่องเที่ยวกับครอบครัว เข้าเยี่ยมคารวะขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เคารพรัก เป็นวันมงคลที่มีข้อห้ามต่าง ๆ อาทิ ห้ามพูดคำหยาบคาย ห้ามร้องไห้ ห้ามใช้ของมีคม ห้ามยืมเงิน หรือห้ามทำความสะอาดบ้าน สระผม ตัดเล็บ ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้คือกุศโลบายเพื่อให้ได้พักผ่อนท่องเที่ยวกับครอบครัวมากที่สุดเป็นวันแห่งความยินดีที่จะได้ใช้โอกาสส่งความสุขมอบคำอวยพรและหันไปทางไหนก็จะมีแต่บรรยากาศแห่งความสุข
นอกจากนี้ในกำหนดวันฉลองต่อเนื่องอีก 15 วันนั้น ได้มีกำหนดกิจกรรมในแต่ละวันที่แฝงกุศโลบายต่าง ๆ ไว้อีก อาทิ หลังวันปีใหม่(วันเที่ยว) ก็จะเป็นวันที่แต่ละบ้านจะดูแลสุนัขของตนเองเป็นพิเศษ อาบน้ำ ตัดขน มอบอาหารพิเศษให้ (น่ารักดีแฮะ) เพราะถือเป็นวันมงคลที่สุนัขถือกำเนิดบนโลก ซึ่งแฝงกุศโลบายน่ารัก ๆให้เรารู้จักปฏิบัติดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
หรือในวันที่สามและสี่ของเทศกาล จะเป็นวันที่บุตรเขยจะไปเยี่ยมคารวะ แสดงมุทิตาจิตต่อพ่อตาแม่ยาย เพราะธรรมเนียมจีนนั้น ผู้หญิงแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ไปดูแลพ่อแม่สามีแล้ว จึงมีกุศโลบายให้ฝ่ายชายไม่ทอดทิ้งพ่อตาแม่ยายของตนเองสานสัมพันธ์แสดงกตเวทิตาต่อบุพการีของคู่ชีวิต
ของไหว้และความหมายที่ซ่อนอยู่
สิ่งสำคัญมากอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวจีน ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ในเทศกาลตรุษจีนนั้นก็คือ “ของไหว้” ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว ของไหว้แต่ละอย่าง ก็แฝงด้วยคติความเชื่อ และกุศโลบายอีกด้วย อาทิ
เนื้อสัตว์ได้แก่ ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์ เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย และปลา ปลาหมึก หรือหมู หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ ความอุดมสมบูรณ์
ธัญพืชต่างๆ เช่น เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึงความั่งคั่งร่ำรวย หน่อไม้ หมายถึง ความผาสุก หรือถั่วตัดที่มีลักษณะคล้ายแท่งเงิน หมายถึง จะได้อุดมไปด้วยเงิน
ขนมต่างๆ นั้น ก็เช่น ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ดังนั้นขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์ ขนมเทียน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลม มีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์ ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญเติบโต ขนมถ้วยฟูและขนมสาลี่ หมายถึง ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว หมายถึง ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่า ห่อโชค ขนมจันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
ซึ่งแน่นอนว่าของไหว้เหล่านี้มีกุศโลบายในการเฉลิมฉลองของครอบครัวแจกจ่ายแบ่งปันเพื่อนบ้าน(เพราะไหว้กันมาก) ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้บริโภคอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการอีกด้วย
หวังว่าตรุษจีนปีนี้ คุณผู้อ่านคงจะได้สนุกไปกับสาระ และกุศโลบายเบื้องหลังของเทศกาลแห่งความสุขของชาวจีนนี้ “ซินเจียยู่อี่ซินนี้ฮวดไช้” เฮง เฮง เฮง กันทุกคนรับตรุษจีนนะจ๊ะ
********************
ข้อมูลเพิ่มเติม:
https://hilight.kapook.com/view/19792\
https://www.dailynews.co.th/regional/551563
https://www.thairath.co.th/content/1482900
http://event.sanook.com/day/chinese/
https://www.sanook.com/campus/945871/
http://www.oocities.org/southbeach/pier/1261/m4.html
nok9595 ขอบคุณสำหรับข้อมูล ได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วยครับ
05 ก.พ. 2562 เวลา 00.49 น.
ดูทั้งหมด