ไลฟ์สไตล์

"ปิดทองหลังพระ" จับมือแม็คโครปลูกผักโรงเรือนสู้แล้ง รายได้เกือบ 2 แสน/ปี

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 26 ก.พ. 2563 เวลา 02.31 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 02.31 น.

จากการคาดการณ์ วิกฤตภัยแล้งปี 2563 จะรุนแรงโดยต่อเนื่องถึงกลางปี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 % เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะขาดแคลนน้ำใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้สร้างต้นแบบปลูกผักโรงเรือนใช้น้ำน้อย ทำ “เกษตรแม่นยำ” นำพาเกษตรพื้นที่ต้นแบบฝ่าวิกฤตภัยแล้ง ทำแบบครบวงจรให้ความรู้ สู่ตลาดโมเดิร์นเทรด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าสถาบันฯ ได้ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี ดำเนินโครงการนำร่อง“ปลูกผักโรงเรือน แก้ปัญหาภัยแล้ง” เพื่อสร้างรายได้ช่วงขาดแคลนน้ำและมีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี โดยได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ 19 ราย ที่อยู่ในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมโครงการ

การดำเนินงานโครงการ สถาบันฯ เป็นผู้สนับสนุนโรงเรือนให้เจ้าของที่ดินผู้ร่วมโครงการ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่สมัครใจ มีประสบการณ์ปลูกผักอยู่แล้ว มีน้ำต้นทุนเพียงพอ พร้อมแบ่งพื้นที่และน้ำให้เกษตรรายอื่นที่เข้าร่วมด้วย โดยบริการกลุ่มในรูปแบบกองทุนที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องคืนเงินสมทบเข้ากองทุนหลังจากมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โครงการปลูกผักโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นร่วมมือแบบบูรณาการของหลายภาคส่วนที่ทำแบบครบวงจรโดยจังหวัดอุดรธานี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ กรมชลประทานดูแลเรื่องการทำระบบน้ำหยดในแปลง

นอกจากนี้ยังมีกรมพัฒนาที่ดิน ทำการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด กรมป่าไม้ดูแลเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ให้ความรู้อบรมเรื่องการบริหารจัดการแปลงเกษตรชุมชน บริษัทสยามแม็คโครฯ ร่วมในการวางแผนการปลูกผักให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและรับซื้อผลผลิตด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“โครงการปลูกผักโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เรียกว่าเป็นการทำการเกษตรแม่นยำ ซึ่งสามารถวางแผน กำหนดระยะเวลาการปลูกได้อย่างถูกต้อง และครั้งนี้เป็นการปลูกผักในโรงเรือนครั้งแรก เกษตรกรเลือกพืชที่มีประสบการณ์ปลูกมาแล้ว คือ ต้นหอม ผักชี เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดช่วงหน้าแล้ง ขายได้ราคาดี ใช้เวลาปลูก 45 วันก็เก็บเกี่ยวได้ ในส่วนของโรงเรือนปลูกผัก มีขนาด 6×24 ตารางเมตร มีโต๊ะปลูกผักจำนวน 8 โต๊ะ ใน 1 ปีสามารถปลูกได้ถึง 8 ครั้ง” นายการัณย์กล่าว

ส่วนน้ำที่ใช้ในการรดผักเป็นแบบน้ำหยด ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาลที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว สูบโดยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นถังพักน้ำและกระจายน้ำสู่โต๊ะปลูกผัก ซึ่งระบบน้ำหยดจะใช้น้ำน้อยกว่าสปริงเกอร์ 18 เท่า ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว 112 ลูกบาศก์เมตร/ไร่

สำหรับการลงทุนโรงเรือนปลูกผักครั้งแรกประมาณ 140,000 บาท แต่จะประหยัดในเรื่องการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เนื่องจากโรงเรือนปลูกผักแบบโต๊ะ จะสามารถควบคุมดินปลูก ป้องกันแมลงได้ และใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ทำได้เอง เกษตรกรสามารถซ่อมแซมได้หากเกิดการชำรุด เสียหาย ด้านรายได้การปลูกผักในโรงเรือนฯ จะมีรายได้มากกว่า 190,000 บาท/ไร่/ปี

ขณะที่ปลูกข้าว รายได้ 4,365 บาท/ไร่/ปี  ข้าวโพด 3,321 บาท/ไร่/ปี รวม 7,686 บาท เมื่อเทียบกันแล้วการปลูกผักในโรงเรือนใช้น้ำน้อยได้กำไรมากกว่าข้าวและข้าวโพดประมาณ 25 เท่า และเป็น 71 เท่าของมันสำปะหลังที่มีรายได้ 2,700 บาท/ไร่/ปี สำหรับการลงทุนต่อ 1 โรงเรือน เกษตรกรจะต้องทยอยคืนเงินกลับสู่กองทุน คาดการณ์จะคืนทุนภายใน 3 ปี

สถาบันปิดทองหลังพระ จะทำการวิจัยและพัฒนาโครงการ จัดทำเป็นแนวทางการปลูกผักในโรงเรือนฯระบบน้ำหยดแบบแม่นยำ เพื่อขยายผลต่อไป โดยจังหวัดอุดรธานีจะใช้เป็นต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในอำเภออื่น และจะขยายผลไปยังพื้นที่ต้นแบบ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และผู้ที่สนใจต่อไป

 

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • sri
    ประเทศ อิสราเอล ได้มาศึกษาในโครงการส่วนพระองค์ในพระราชดำริ 4,000 โครงการ,ในวังสวนจิตรลดา และทางไทย ได้ส่ง จนทำ สำนักพระราชวัง จนทำ เกษตร ฯลฯ ไปให้คำแนะนำแก่อิสราเอล รัสเซีย ฯลฯ พื้นที่ไหน เหมาะปลูกอะไร อิสราเอลเป็นทะเลทราย ใช้ระบบน้ำหยด สามารถปลูกผัก,ผลไม้ ส่งขายในตะวันออกกลาง วันนี้ ไทยแล้ว ใช้ระบบน้ำหยด ถูกต้องแล้ว
    26 ก.พ. 2563 เวลา 10.04 น.
  • sri
    ทรงพเจริญ โครงการของพระองค์ นำมาใช้แก้ปัญหานำ้แล้งได้
    26 ก.พ. 2563 เวลา 09.46 น.
ดูทั้งหมด