ในช่วงเวลาฝนตกจนเกิดน้ำท่วม เอ้ย…เกิดน้ำขังรอการระบายหลายที่แบบนี้ บางครั้งก็อยากจะอ้อนวอนอยากให้ฝนหยุดตกบ้างเหมือนกันนะครับ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำให้ฝนหยุดตกและอากาศแจ่มใสที่แตกต่างกันออกไป
อย่างในบ้านเราที่คุ้นเคยกันดีก็จะเป็นการ “ปักตะไคร้” ที่อาจจะต้องวัดใจคนปักกันซักเล็กน้อยเพราะผู้ปักจะต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ ถ้าปักปุ๊บแล้วฝนตกหนักกว่าเดิมนี่คนปักคงโดนแซวเละแน่ ๆ และอีกหนึ่งพิธีกรรมของต่างชาติที่คนไทยน่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดีก็คือเรื่องของ “ตุ๊กตาไล่ฝน” ในญี่ปุ่นเพราะเราน่าจะเคยเห็นมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นหลาย ๆ เรื่อง
โดยเฉพาะเรื่อง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา” ที่จะมีตุ๊กตาไล่ฝนโผล่มาในตอนจบทุกตอน นั่นก็เลยทำให้คนไทยคุ้นเคยกับเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนนี้เป็นอย่างดี ด้วยความที่เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนนี้ดูหัวกลม ๆ น่ารัก ก็เลยทำให้เรามักจะคิดว่าเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนนี้เป็นพิธีกรรมน่ารัก ๆ ของดินแดนที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความน่ารักอย่างประเทศญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ตำนานที่มาของเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนนี้กลับเต็มไปด้วยเลือดและความตายครับ
ตำนานเรื่องตุ๊กตาไล่ฝนหรือ เทรุเทรุโบซึ (てるてる坊主) ในญี่ปุ่นนั้นก็จะมีหลายตำนานหลายเรื่องเล่า แต่ทุกเรื่องเล่าล้วนมาจากความตาย การเสียสละ และการนองเลือดทั้งนั้น …
เช่นตำนานแรกก็ว่ากันว่า จริง ๆ แล้วเรื่องของตุ๊กตาไล่ฝนเนี่ยเป็นวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นรับมาจากประเทศจีนในสมัยโบราณ ซึ่งในจีนจะเรียกตุ๊กตาไล่ฝนว่า 掃晴娘 หรือ หญิงสาวผู้ปัดกวาด คำว่าปัดกวาดในที่นี้ก็คือการปัดกวาดเมฆฝนให้หมดไป ซึ่งก็อาจจะเรียกได้อีกอย่างว่าเป็น หญิงสาวผู้ทำให้ฟ้าใสนั่นเอง
ตำนานนี้ถูกบันทึกไว้ในจีนว่า เมื่อนานมาแล้วในช่วงหนึ่งของปีที่มีฝนตกติดต่อกันอย่างหนักมาก ตลอดจนชาวบ้านหวั่นกันว่าจะเกิดภัยพิบัติ ในตอนนั้นมีหญิงสาวผู้หนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงงานตัดกระดาษ เกิดได้ยินเสียงจากเทพเจ้ามากระซิบว่า “ถ้าเจ้ายอมเสียสละชีวิตของตัวเอง ฝนจึงจะหยุดตก แต่ถ้าไม่ทำ เมืองทั้งเมืองจะต้องเกิดภัยพิบัติจมน้ำทั้งเมือง” (เทพเจ้าใจร้ายจริง ๆ )
หญิงสาวที่กลัวจะเกิดภัยพิบัติขึ้นก็ตัดสินใจเสียสละชีวิตด้วยการปลิดชีวิตตัวเองลง แล้วฝนก็หยุดตกจริง ๆ หลังจากนั้นในเมืองจีนเมื่อมีฝนตกก็จะตัดกระดาษเป็นรูปหัวและเสื้อผ้าของหญิงสาว เพื่อทำให้ฝนหยุดตก ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้แพร่เข้ามาในญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน และได้เติมแต่งจากตำนานเรื่องเล่าของเดิมกลายเป็นตำนานของสาวฟ้าใสผู้ที่จะต้องเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อให้ท้องฟ้าแจ่มใส ทำให้ตุ๊กตาไล่ฝนในญี่ปุ่นยุคแรก ๆ จะเป็นรูปเด็กผู้หญิง เพื่อเป็นตัวแทนของสาวฟ้าใส ไม่ใช่ตุ๊กตาไล่ฝนหัวโป๊งเหน่งแบบในปัจจุบัน
ใครที่คิดว่าตำนานแรกนี้โหดร้ายแล้ว ยังครับ นี่แค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะที่มาของเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนหัวโป๊งเหน่งสุดน่ารักแบบที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น มีที่มาของตำนานที่โหดกว่าตำนานของสาวฟ้าใสซะอีก ก่อนที่ผมจะเล่าถึงตำนานอันโหดร้ายของตุ๊กตาไล่ฝนหัวโป๊งเหน่ง เราลองมาดูเนื้อหาของเพลงตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่นกันก่อนครับ ซึ่งเพลงตุ๊กตาไล่ฝนนี้เป็นเพลงกล่อมเด็กที่คนญี่ปุ่นก็ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาของมันฟังดูโหดร้ายจนเด็กน่าจะร้องไห้คาเปลแท้ ๆ แต่พี่ญี่ปุ่นเขาเอามากล่อมเด็กเฉยเลย เนื้อหาของเพลงนี้เป็นแบบนี้ครับ
ตุ๊กตาไล่ฝน เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอ๋ย ช่วยทำให้พรุ่งนี้อากาศแจ่มใสทีนะ
ให้ท้องฟ้าเป็นเหมือนดั่งความฝัน ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันจะให้กระพรวนทองคำกับเธอ
ตุ๊กตาไล่ฝน เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอ๋ย ช่วยทำให้พรุ่งนี้อากาศแจ่มใสทีนะ
ถ้าทำให้คำขอของฉันเป็นจริง ก็มาจิบสาเกหวานกัน
ตุ๊กตาไล่ฝน เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอ๋ย ช่วยทำให้พรุ่งนี้อากาศแจ่มใสทีนะ
ถ้าเมฆยังร้องไห้และฝนตกลงมาฉันจะตัดคอของเจ้าซะ !!!
เอ้า ขึ้นต้นยังฟังดูน่ารักเด็กกำลังจะเคลิ้มหลับอยู่แล้ว ทำไมลงท้ายมันโหดอย่างนี้ละเนี่ย ถ้าไม่ได้ดั่งใจก็จะตัดคอกันเลยทีเดียว เด็กได้ยินถึงท่อนนี้คงลงมาร้องไห้อุแงแทนที่จะหลับแล้วแหละครับ ซึ่งสาเหตุที่เพลงตุ๊กตาไล่ฝนมันฟังดูโหดเหี้ยมแบบนี้เพราะมันอิงกับตำนานตุ๊กตาไล่ฝนอีกตำนานหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นที่มาของเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนหัวโป๊งเหน่งแบบในปัจจุบันครับ
คือว่าตุ๊กตาไล่ฝน ภาษาญี่ปุ่นคือ เทรุเทรุโบซึ (てるてる坊主) คำว่าเทรุนั้นแปลว่าอากาศแจ่มใส และคำว่า โบซึนั้นแปลว่าหัวโป๊งเหน่ง ซึ่งก็เป็นคำที่สามารถใช้เรียกพระในญี่ปุ่นได้เช่นกัน ซึ่งที่มาของคำเรียกนี้มันมาจากตำนานอีกตำนานหนึ่งเกี่ยวกับตุ๊กตาไล่ฝนที่บอกไว้ว่า
ในสมัยก่อนเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ไม่มีท่าทีจะหยุด จนเกิดโกลาหลไปทั้งเมือง เรื่องก็ไปถึงพระผู้หนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงว่าท่านสามารถทำให้ฝนหยุดตกได้ด้วยการสวดมนต์ เหล่าขุนนางจึงเชิญพระองค์นี้ให้มาสวดมนต์ทำพิธีไล่ฝน แต่ทว่าท่านก็ทำไม่สำเร็จ แม้จะสวดมนต์เท่าไรฝนก็ไม่หยุด
สุดท้ายแล้วเหล่าขุนนางรู้สึกเสียหน้ามากที่พระท่านทำอย่างที่พูดไม่ได้ จึงลงโทษด้วยการตัดคอของพระรูปนั้น ก่อนที่จะนำหัวของพระไปห่อผ้าแล้วแขวนเอาไว้ (บางตำนานบอกว่าไม่ได้ตัดคอ แต่จับห่อผ้าแล้วแขวนคอทั้งแบบนั้นเลย)
ผลก็คือในวันรุ่งขึ้นท้องฟ้ากลับแจ่มใส สร้างความดีใจให้แก่ชาวเมืองเป็นอย่างมาก (พระท่านคงดีใจเนาะ…) หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็นตำนานสืบต่อมาว่าถ้าทำตุ๊กตาไล่ฝนหัวโป๊งเหน่งเหมือนหัวของพระแบบนี้แล้วแขวนไว้ ในวันรุ่งขึ้นอากาศจะแจ่มใส
ในปัจจุบันถ้าแขวนตุ๊กตาไล่ฝนหัวโป๊งเหน่งแล้วอากาศแจ่มใสจริง ๆ เขาก็จะมีการนำกระพรวนทองมาติดให้ หรือเทสาเกหวานเป็นการขอบคุณตุ๊กตาไล่ฝนตามตำนานความเชื่ออีกด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีใครตัดคอเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนแล้วนะ เพราะมันดูโหดร้ายเกินไปแถมจะเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย ทิ้งไว้เพียงตำนานความโหดร้ายที่อยู่ในเรื่องเล่าและเพลงเท่านั้น …
วันพรุ่งนี้ อากาศจะดีไหมนะ ?
อ้างอิงที่มาจาก tenki.jp
ติดตามบทความใหม่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้และเรื่องแปลก ๆ ของประเทศญี่ปุ่นทาง LINE TODAY: TOP PICK TODAY จากผมได้ทุกวันเสาร์นะครับ
ช่องทางการติดตามเพิ่มเติม
Facebook :Eak SummerSnow
Youtube : Eak SummerSnow
chuanchom ของไทยไม่มีตุ๊กตา แต่มีความเชื่อการไล่ฝนฟ้าคะนอง ยามฝนตกหนัก บ้านไหนมีลูกชายคนสุดท้องที่อายุไม่เกิน 6-7 ขวบ ก็จะให้ถือสากกะเบือส่ายไปมา หันสากกะเบือออกไปนอกบ้าน เป็นนัยว่า พวกอสูรเห็นสากกะเบือก็จะกลัว ฝนก็จะซาลง ฟ้าร้องฟ้าคำรามก็จะเบาลง เป็นความเชื่อของคนโบราณค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่มีทำแบบนี้แล้วมั้ง
26 ก.ย 2563 เวลา 12.20 น.
ธวัลรัตน์ ของเราก็โหดนะ ถ้าใครโดนทำหน้าที่ปักตะไคร้แล้วฝนไม่หยุดตกเนี่ย โดนแซวหนักมาก 555
26 ก.ย 2563 เวลา 11.25 น.
N.K.Asia consultants ขอบคุณข้อมูลครับ
(รอคนโยงการเมืองอยู่ ปล่อยวางๆๆ)
26 ก.ย 2563 เวลา 12.07 น.
B. f. BG™ เทะโระเทะโระโบสุ
26 ก.ย 2563 เวลา 11.38 น.
Man 2024 วัฒนธรรม ของเขาดีๆมีมากมาย ความกตัญญู รู้คุณคนเอามาลงบ้าง นะ เรื่องมโนไปเอง ควรงด
25 ก.ย 2563 เวลา 21.42 น.
ดูทั้งหมด