ทั่วไป

กรมชลฯ ปรับลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ‘อุบลฯ’ น้ำลดต่อเนื่อง

The Bangkok Insight
อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 06.29 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 06.29 น. • The Bangkok Insight

กรมชลประทาน  ทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำที่ไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง ขณะสถานการณ์น้ำท่วมที่อุบลราชธานีเริ่มดีขึ้น  ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง คาดอีก 4-5 วัน ประชาชนกลับบ้านเรือนได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน(15 ก.ย. ) สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด
มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,062 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 13,000 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในวันนี้(15 ก.ย. 62)ปริมาณน้ำทางตอนบนที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,198 ลบ.ม. ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่น้อยลง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปริมาณน้ำไหลต่อมายังเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการปรับลดการระบายน้ำในช่วงเช้าที่ผ่านมาเหลือ 750 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิม 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างลดลง ซึ่งการปรับลดการระบายน้ำนั้นจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน้อย บริเวณบ้านบางหลวงโดดและบ้านบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลดลงประมาณ 10 เซนติเมตร ในช่วงเวลาเที่ยงวันของวันพรุ่งนี้(16 ก.ย.)  ปัจจุบันระดับน้ำบริเวณดังกล่าวยังคงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร

นายทวีศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า  สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มที่ อำเภอโขงเจียม อีก 100 เครื่อง จากเดิม 100 เครื่อง และที่บริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร 60 เครื่อง รวม 260 เครื่อง ทำให้ปริมาณน้ำลดลงเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ช่วงเช้าวันนี้ที่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี สถานีวัดน้ำ M7 ระดับน้ำอยู่ที่ 10.86 เมตร จากเดิมระดับสูงสุด 10.97 เมตร ลดเกือบ 11 เซนติเมตร ซึ่งการเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำส่งผลการระบายน้ำได้มากขึ้น 30% เป็นวันละ 500 ล้านลบ.ม. คาดว่าภายใน 4-5 วัน ประชาชนสามารถกลับเข้าบ้านเรือนได้ และสิ้นเดือนกันยายนนี้ ปริมาณน้ำจะเข้าสู่ระดับตลิ่ง รวมทั้งน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร จะดำเนินการสูบออก พร้อมกับหารือกับท้องถิ่น และเกษตรกร ว่าพื้นที่ใดจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง เช่น ลำห้วย แก้มลิง

รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่น้ำท่วมภาคอีสานลดระดับลงได้เร็วตามที่คาดการณ์ จากการจัดการปริมาณน้ำ ลุ่มน้ำชีลดระบายเขื่อนวังยาง และลำน้ำมูล ลดระบายเขื่อนราษีไศล ที่สำคัญคือลดอัตราการระบายเขื่อนใหญ่ๆ เช่น เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ และหยุดการระบายเขื่อนขนาดกลางใน สาขาลำน้ำชี เพราะฝนลดลง ต้องเก็บน้ำไว้ ที่สำคัญที่สุดการเร่งอัตราการระบายน้ำ ปลายน้ำ อำเภอโขงเจียม กับ อำเภอพิบูลมังสาหาร ตรงนี้ทำให้อัตราการลดระดับน้ำทำได้ดีมาก

“ถ้าไม่มีอิทธิพลฝนตกเพิ่มเข้ามา จะเข้าสู่ภาวะปกติสิ้นเดือนกันยายนนี้ ปริมาณน้ำค้างทุ่งเหลือเพียง1 พันกว่าล้าน ลบ.ม. ที่จะไหลลงไปที่ราบลุ่มแอ่งกะทะของ อุบลราชธานี ก่อนไหลออกแม่โขง คือ อำเภอวารินชำราบ และเคลื่อนตัวไป พิบูลมังสารหาร สว่างวีระวงศ์ และโขงเจียม ในระหว่าง 2 สัปดาห์ พื้นที่เหล่านี้น้ำท่วมจะลดลงไปเรื่อยๆ มวลน้ำอยู่ก้อนท้ายสุด ไม่เกินสิ้นเดือน เพราะลักษณะกายภาพของแม่น้ำมูล ไหลออกสู่แม่โขง ที่จุดเดียว คือ ที่โขงเจียม” นายทวีศักดิ์ กล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 13
  • จ.ส.ท.สิริลักษณ์ ศทท.
    บริหารจัดการให้มีใช้ฤดูแล้งด้วยนะ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งทะเลหมดจ้าาา
    15 ก.ย 2562 เวลา 07.15 น.
  • Ekachai - Papa
    อีก2วันปกติแน่
    15 ก.ย 2562 เวลา 07.07 น.
  • กรมแห่งความล้มเหลวตลอดกาล/แล้งก้อแล้งแบบสุดๆท่วมก้อท่วมแบบมิดหลังคา
    15 ก.ย 2562 เวลา 07.21 น.
  • 🤟🇹🇭หวิวๆ💵♾️
    สู้ๆเด้อพี่น้อง
    15 ก.ย 2562 เวลา 07.12 น.
  • ถา้ฝนตกลงมาเยอะอีก.. แสดงว่า​ก็​จะ​ท่วมอีกซินะ
    15 ก.ย 2562 เวลา 07.24 น.
ดูทั้งหมด