326 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงยาตราทัพบุกอินเดีย ซึ่งเชื่อว่าคือสุดโลกทางตะวันออก แต่ไม่สำเร็จ จำต้องยกทัพกลับ
โครงการครองโลกของกษัตริย์หนุ่มองค์นี้คือ เมื่อยึดเมืองใดได้ ก็ทรงให้นายทหารคนสนิทและรัชทายาทปกครอง
หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ทหารกรีกเหล่านั้นก็ตั้งตนเป็นอาณาจักรอิสระ นายทหารและรัชทายาทที่ปกครองตามดินแดนต่าง ๆ ก็สู้รบกัน อาณาจักรกรีกแตกสลาย
หนึ่งในรัฐอิสระก็คือบักเตรีย (Bactria) ในเอเชียกลาง แถบอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ปกครองโดยกษัตริย์เชื้อสายกรีกเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 6 ปกครองโดยพระเจ้ามินันเดอร์ (Menander I Soter) ที่อินเดียเรียกว่าพระเจ้ามิลินท์
รัชสมัยพระเจ้ามิลินท์ครอบครองแคว้นคันธารราฐ แผ่อำนาจลงมาถึงตอนเหนือของลุ่มนํ้าคงคา ตีแคว้นปัญจาบ ก่อร่างสร้างอาณาจักรที่ครอบครองแผ่นดินกว้างใหญ่ถึงอินเดีย ไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ มีสาคละนครเป็นเมืองหลวง เป็นยุครุ่งเรืองทางการค้า
พระเจ้ามิลินท์ทรงปราดเปรื่องและแตกฉานทั้งหลักพิชัยสงครามและปรัชญาศาสนาสายต่าง ๆ ทรงนิยมเชิญผู้ที่มีปัญญามาสนทนาธรรมกัน ปรากฏว่าไม่มีใครโต้คารมชนะพระองค์ได้
ในที่สุดทรงมีโอกาสสนทนาธรรมกับพระรูปหนึ่งนามพระนาคเสน ทั้งสองสนทนาธรรมและปรัชญานานหลายวัน
หลังการสนทนาธรรม พระเจ้ามิลินท์ทรงซาบซึ้งหลักการและแนวทางของศาสนาพุทธ เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา
บทสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า มิลินทปัญหา (The Questions of Milinda)
เมื่อเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงให้ช่างชาวบักเตรียสร้างพระพุทธรูปองค์แรกขึ้น โดยใช้ศิลปะการสร้างประติมากรรมแบบกรีก พระพักตร์อย่างเทพกรีก ลักษณะริ้วจีวรก็เหมือนเครื่องนุ่งห่มของรูปปั้นตะวันตก นี่เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปในโลก ประมาณห้าร้อยปีหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เรียกว่าพระพุทธรูปแบบคันธารราฐ
พุทธศาสนาไม่เคยมีรูปเคารพมาก่อน ในสมัยพระพุทธองค์ ยังไม่มีพระพุทธรูปหรือปฏิมากรรม (ประติมากรรมทางศาสนาเรียกว่าปฏิมากรรม) ทั้งที่การปั้นรูปบุคคลสำคัญตอนที่ผู้นั้นยังมีชีวิตเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธเรื่องนี้ ตรัสสอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดในพระรัตนตรัยคือพระธรรม ไม่ใช่พระศาสดา
ในกาลถัดมา สัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับพระพุทธองค์และศาสนามีฉัตร ธรรมจักร ต้นโพธิ์ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีพระพุทธรูป
ในยุคแรกพระพุทธรูปเป็นอนุสาวรีย์ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ เหมือนมีพระองค์ยังทรงอยู่เพื่อให้เราทำความดี ปฏิบัติธรรม เหมือนกับที่เราติดรูปถ่ายพ่อแม่ผู้ล่วงลับในบ้าน
เมื่อรวมศิลปะเข้ากับศาสนา เราก็ได้พระพุทธรูปที่งดงาม รวมใจคน ทำให้คนเลื่อมใส เหมือนกับที่เข้าวิหารคริสต์ รู้สึกว่าอลังการและเชื่อมกับความเชื่อเรื่องผู้สร้างได้ง่ายขึ้น
เจตนาแรกของการสร้างพระพุทธรูปรัชสมัยพระเจ้ามิลินท์ไม่ใช่เพื่อไสยศาสตร์ แต่ต่อมาก็ผิดเพี้ยนไปเรื่อย ๆ จนเลอะเทอะอย่างทุกวันนี้ เป็นความเชื่อว่าบูชาพระพุทธปฏิมาแล้วชีวิตจะเจริญ
ทว่าเมื่อบิดเบือนหน้าที่ของพระพุทธรูป แทนที่จะระลึกถึงคุณพระพุทธองค์และพระธรรมคำสอน กลายเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพร มันก็หวนกลับไปสู่หนทางแห่งศาสนาผี
มีผู้ใช้ประโยชน์จากความเชื่อนี้จนกลายเป็นการพาณิชย์ เช่น ให้คนเชื่อว่าหากบูชาพระพุทธรูปด้วยไม้หอม ชาติหน้าจะเกิดมาดี ฯลฯ
……………….………………………………………………
พระเครื่องที่วนเวียนในตลาดเป็นพระเดิม ๆ ที่มีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้การตลาดกำหนดว่า ควรหล่อด้วยวัสดุพิสดารอะไร พระอาจารย์องค์ใด ทำพิธีพิสดารเพียงไร โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์และบิลบอร์ดขนาดยักษ์สี่มุมเมือง มีพรี-เซลส์ พรี-ออร์เดอร์เหมือนสินค้าทั้งหลาย ชำระด้วยบัตรเครดิตได้ สารพัด
กระนั้นเราก็ยังเหนียมอายที่จะใช้คำว่า ‘ซื้อ-ขาย’ ทั้งที่มันเป็นการตลาดเต็มรูปแบบ
เราไม่ใช้คำว่า ‘ซื้อ’ พระเครื่อง มีแต่ ‘เช่า’ พระเครื่อง คำอธิบายในเรื่องนี้มีหลายอย่าง บ้างว่าพระเครื่องพระบูชาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จะเรียกว่าซื้อขายไม่เหมาะสม จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘เช่า’ หรือ ‘บูชา’ หรือ ‘ทำบุญ’ ฯลฯ ส่วนคำว่า ‘ปล่อย’ หมายถึงขาย
“เหรียญนี้ผมบูชามาสองพันบาท”
ว่าก็ว่าเถอะ เด็กชั้นประถมก็เข้าใจไม่ยากว่า เช่าก็คือเช่า ซื้อก็คือซื้อ ขายก็คือขาย เป็นคนละความหมายกัน
ถ้าเช่าพระเครื่องจริง ก็ต้องไปคืนเจ้าของมิใช่หรือ ? และถ้าบูชาพระเครื่อง ทำไมต้องเอากลับบ้าน ? บูชาในวัดหรือในใจมิได้หรือ ?
เราเพียงแต่หลอกตัวเองเท่านั้น
หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคนจำนวนมากเชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดไม่เข้าใจความนี้ และเชื่อการเลี่ยงบาลีของคน และดลบันดาลให้คนที่บูชาประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นปลายแถวที่คิดไม่เป็น
ก็แสดงว่าเราใช้พระเครื่องเป็นยันต์หรือเสื้อเกราะป้องกันภัย
ถ้าคำว่า ‘ซื้อ-ขาย’ ไม่เหมาะสม การทำพระพุทธรูปเพื่อเป็นยันต์เหมาะสมแล้วหรือ ?
ในเมื่อเด็กชั้นประถมเข้าใจ และเทวดาไม่น่าจะโง่ ก็แปลได้อย่างเดียวว่าเราเองต่างหากที่แกล้งโง่ แกล้งคิดไม่ออก เพราะเมื่อใช้ความเชื่อนำทาง ก็ไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ มันสบายใจดี
และนี่เองที่ทำให้ชาวพุทธไม่น้อยถอยห่างจากแก่นพุทธธรรม
พระพุทธรูปทำหน้าที่เพียงให้เราระลึกถึงพุทธคุณ พระธรรม มิใช่ใช้เป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์หรือให้บูชาขอพรและชาติหน้าที่ดีกว่า
คิดดูง่าย ๆ ว่า เราวางรูปพ่อแม่ไว้ในบ้านเพื่อระลึกถึงพระคุณท่าน ทำไมเราไม่จุดธูปขอหวยจากท่าน หรือขอให้เราได้ชาติหน้าที่ดีกว่า ก็เพราะรูปเหล่านั้นมีไว้เพื่อระลึกถึงพระคุณท่าน เราเคารพรักท่าน เราจึงไม่ขอหวยขอรวยจากพ่อแม่
พระเครื่องก็เช่นกัน หากพกไว้เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์และพระธรรม เอาไว้เตือนสติเวลาคิดทำเรื่องไม่ดี ก็นับว่าสมเจตนารมณ์ของวัตถุนั้นแล้ว และหากใช้เพื่อเจตนาดังกล่าวจริง ทำไมต้องหาพระเครื่องราคาองค์ละล้านหรือหลายล้าน ?
ตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ในฐานะภิกษุ ทรงใช้ชีวิตเรียบง่าย สวมจีวรธรรมดา ไม่เคยทรงใช้จีวรผ้าไหมอย่างดีเหมือนพระบางลัทธิในเมืองไทย ไปไหนมาไหนโดยการเดินเท้า ไม่ต้องมีรถเก๋งหรู ก็เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของแนวทางพุทธคือพระธรรมคำสอน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงปฏิเสธการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นทำไมเราจึงสร้างภาพพระพุทธองค์ด้วยพระเครื่ององค์ละล้าน หรือสร้างด้วยวัสดุและอัญมณีแพง ๆ เล่า ? มันคือการสวนทางคำสอนของพระพุทธองค์
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้สำหรับทุกคน ไม่แบ่งแยกชนชั้น ฐานะ ถ้าพระเครื่ององค์ละล้านสามารถทำให้คนบรรลุธรรมชั้นสูงหรือพบชาติหน้าที่ดีกว่า คนยากจนก็คงต้องอยู่ในสภาพเดิมไปจนตายเช่นนั้นหรือ นี่ไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธองค์
ชาวพุทธล้วนรักและเคารพพระพุทธองค์ ยกให้พระองค์นำทางเรา แต่คนจำนวนมากกลับไม่สนใจคำที่พระองค์สอนไว้ว่า อย่าเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ เรายังคงบูชาศาสนาผีที่ละลาบละล้วงแปะยี่ห้อ ‘พุทธศาสนา’
ดังนี้จะเรียกตนว่าชาวพุทธได้อย่างไร
……………………….………….………….………….
วินทร์ เลียววาริณ
piak พุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ห้อยพระเครื่องเพื่อปกป้องคุ้มครองไม่มีในคำสอน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มั่นคงในผลของกรรม เหตุดี ผลย่อมดี เหตุไม่ดี ผลก็ย่อมไม่ดี ดูข่าวทีวี เวลามีอุุบัติเหตุ. แล้วมีคนรอดชีวิต นักข่าวต้องถามตลอดว่าห้อยพระอะไร ไร้สาระมาก ถึงจะห้อยเป็นร้อยองค์ แต่ถ้าถึงเวลาอกุศลกรรมให้ผล ก็ไม่มีทางหนีพ้น
03 ก.พ. 2563 เวลา 09.00 น.
Carbon™ 420 ~2% พุทธแท้ไม่ยึดติด เดินทางสายกลาง วัดหรือสิ่งก่อสร้างเป็นเพียงวัตถุ วัตถุมงคลและพระบูชาเป็นเพียงแค่ตัวแทนพระองค์และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น ไม่ใช้ทางสายกลาง
03 ก.พ. 2563 เวลา 08.10 น.
Pinijsai Srigongpan ชอบเขียนแนวคิดได้ตรงดีให้เซียนพระมาอ่านหน่อย
03 ก.พ. 2563 เวลา 08.23 น.
เถียงยังไงก็ไม่จบ มันเป็นวิธีของบรมครูที่จะอบรมสั่งสอนเพื่อย้ายจากนับถือผีมาถือพุทธ ถ้ามีสิ่งเตือนใจสักอย่างให้ระลึกถึงคุณอาจรย์ท่านครู ก็เลยสร้างใว้ให้แขวนคอเลย เผื่อจะทำบาปกรรม ก็ให้นึกถึงหลักคำสอน ส่วนรายละเอียดของคำสอน แล้วแต่มันสมองของใครจะคิดได้ ต่างกรรมต่างวาระ
03 ก.พ. 2563 เวลา 09.51 น.
ชอบทั้งคุณวินทร์และคุณดังตฤณ วันใหนว่างๆ น่าจะไฝว้กันซักวันนึงนะครับ
พูดมามันก็จริงบางทีก็เฟ้อ บูชาพระบูชาของขลังเหมือนอยู่ในความมืด แต่ว่าก็อย่าให้สุดไป การกราบการบูชา แสดงถึงความเคารพและทำให้ใจสงบ ทำให้ใจอ่อนโยนลงก็ได้ ควเหมือนการสวดมนต์ที่คุณวินทร์คงุจะถามว่าสวดแล้วได้อะไร คุณวินทร์อาจจะชอบแบบเซนที่เน้นความเรียบง่ายสมถะ ซึ่งเข้ากับแนวของพุทธที่เน้นลดละกิเลสได้อย่างดี แต่ถามว่าศาสนาพุทธคืออะไรยังไง แต่ละคนคงตอบได้ไม่เหมือนกัน
คิดว่าเดาออก คุณวินทร์ รู้ คิด มอง พุทธยังไง
03 ก.พ. 2563 เวลา 02.26 น.
ดูทั้งหมด