ดังนั้นการเลือก “ท่านอน” ที่ถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการนอนอย่างเต็มที่ และ มีพลังสำหรับเริ่มต้นเช้าวันใหม่เสมอ
“ท่านอน” แต่ละท่าล้วนมีลักษณะการนอนที่ส่งผลแตกต่างกันออกไป และ แต่ละคนก็มี “ท่านอน” ที่ชอบแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นไปดูกันว่า “ท่านอน” ที่ถูกต้องแต่ละแบบ ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง “ท่านอน” มีด้วยกัน 5 ท่า ดังนี้
1. “ท่านอนคว่ำ” การนอนคว่ำในลักษณะหันหน้าไปทางด้านซ้ายหรือขวาโดยซุกแขนไว้ใต้หมอนหรือวางแขนข้างศีรษะอาจเหมาะสำหรับผู้ที่นอนกรน เพราะเป็นท่าที่ช่วยให้หายใจได้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็อาจเป็นท่าที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท เพราะต้องคอยขยับร่างกายบ่อยๆ เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และ ยังทำให้มีแรงกดบนข้อต่อและกล้ามเนื้อซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการเหน็บชาและปวดเมื่อยโดยเฉพาะช่วงคอและหลังส่วนล่าง และ ท่านอนคว่ำอาจทำให้ใบหน้าเหี่ยวย่นและหน้าอกหย่อนคล้อยได้
2. “ท่านอนหงาย” เป็นท่าเบสิกที่ทุกคนนิยมใช้กัน เพราะไม่ว่าจะนอนเล่นหรือนอนจริงจัง ทุกคนมักเลือกนอนท่าที่ง่ายที่สุดนั่นคือการนอนหงาย การนอนหงายช่วยลดอาการปวดเมื่อยที่คอ และ ป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน แต่การนอนท่านี้ไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคปอดและโรคหัวใจ เพราะท่านอนหงาย กะบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกกับช่องท้องจะทับอยู่บนปอด ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบาก ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก การนอนหงายจะดีก็ต่อเมื่อระดับของศีรษะ ลำคอ และ หลังอยู่ในแนวตรง
3. “นอนตะแคงทางซ้าย” เป็นท่าที่ช่วยลดอาการปวดหลัง เพิ่มความดันในตับ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ตอนนอนควรมีหมอนข้างเอาไว้กอดและพาดขาข้างขวาด้วย การนอนท่านี้จะทำให้หัวใจเต้นค่อนข้างลำบาก ไม่เหมาะกับคนป่วยเป็นโรคปอดอีกเหมือนกัน เพราะปอดอยู่ข้างซ้ายการนอนตะแคงซ้าย ทำให้ปอดของเราขยายตัวได้ไม่เต็มที่
4. “นอนตะแคงขวา” คือท่านอนที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับท่านอนอื่นๆ เพราะการนอนท่านี้หัวใจจะเต้นสะดวก อาหารจากกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ไม่มีอะไรคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป ยิ่งไปกว่านั้นการนอนท่านี้ยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ด้วย ที่สำคัญการนอนหันหน้าไปทางขวา ไม่มีผลข้างเคียงต่อหัวใจกับปอด
5. “นอนขดตัว” เราสามารถนอนหันไปทางซ้าย หรือ หันไปทางขวาก็ได้ โดยเราจะงอหัวเข่าขึ้นมาชิดกับหน้าอกและ ก้มหน้า การนอนท่านี้ช่วยทำให้เรานอนกรนน้อยลง และ เป็นท่าที่เหมาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะท่าขดตัวจะทำให้เลือดไหลเวียนไปสู่ทารกได้ดี และ ช่วยลดแรงกดทับของมดลูกที่อยู่ตรงบริเวณตับได้ อีกอย่างการนอนท่านี้ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือ ผู้ป่วยพาร์กิน การนอนขดตัว ช่วยทำให้ของเสียจากสมองถูกกำจัดออกไปจากระบบประสาทได้ดีกว่าการนอนหงายหรือนอนคว่ำ