อีกไม่กี่เดือนประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ในปี 2565 หนึ่งความท้าทาย คือจะทำอย่างไรให้คนไทยมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังจากเกษียณ โดยเฉพาะคนที่มีรายจ่ายในแต่ละเดือนพอๆ กับรายได้ จึงไม่มีเงินเหลือออม หรือเก็บออมได้เพียงเล็กน้อย
ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนยังชี้ให้เห็นสิ่งที่น่ากังวล คือ ครัวเรือนยากจนมักแบ่งเงินไปซื้อลอตเตอรี่เป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่สูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง แทนการเก็บออมหรือใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า จึงน่าสนใจว่าทำไมคนจนจึงชอบเล่นลอตเตอรี่และจะจูงใจให้คนกลุ่มนี้หันมาออมเงินเพิ่มขึ้นได้อย่างไร?
ปรากฏการณ์ที่ผู้มีรายได้น้อยชอบเล่นลอตเตอรี่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ในหลายประเทศพบเช่นเดียวกัน และจากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ นักจิตวิทยาหลายท่าน สรุปว่าเหตุผลที่คนจนชอบเล่นลอตเตอรี่มากกว่าคนรวยนั้นเกิดจากความต้องการขยับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และความรู้สึกด้อยกว่า ซึ่งลอตเตอรี่นั้นถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงได้ เนื่องจากลอตเตอรี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ “เกม” ที่คนจนจะมีโอกาสชนะพอๆ กับคนที่มีฐานะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การซื้อลอตเตอรี่ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสมอไป เนื่องจากผลตอบแทนนั้นไม่ได้มีเพียงเงินรางวัลอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความตื่นเต้นจากการได้ลุ้นว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ และความสุขจากการได้รู้สึกว่าตนเองมีความหวังที่จะหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้น หากผู้บริโภคซื้อลอตเตอรี่ในปริมาณที่เหมาะสม ก็อาจทำให้อยู่ในจุดที่ได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดได้ แต่พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง คือ การซื้อลอตเตอรี่มากเกินไปจนส่งผลเสียร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่
เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคซื้อลอตเตอรี่มากเกินไปจนกระทบชีวิตความเป็นอยู่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 เรื่อง
1.มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีการประเมินโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่มากเกินไปจากความจริง (overestimate) นำไปสู่พฤติกรรมซื้อมากเกินไป ข้อมูลความรู้ที่ควรมี เช่น หลักความน่าจะเป็น พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการซื้อเลขเดิมซ้ำๆ กันในทุกงวดไม่ได้ทำให้โอกาสถูกรางวัลมีมากขึ้น เป็นต้น
2.มีทักษะในการควบคุมตนเอง หากผู้บริโภคขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เมื่อถูกล่อด้วยสิ่งเร้าเช่นลอตเตอรี่ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่คิดไตร่ตรองให้ดี ไม่ได้นำความรู้ของตนมาใช้ในการตัดสินใจ และไม่ได้คำนึงทางเลือกอื่นอย่างครบถ้วน จึงพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อใจนั้นในที่สุด เกิดเป็นพฤติกรรมซื้อของโดยฉับพลัน (impulse buying)
ทางแก้ไขพฤติกรรมการซื้อลอตเตอรี่เกินควรสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงิน (financial literacy) ซึ่งครอบคลุมทั้งการเพิ่มความรู้ และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทักษะในการควบคุมตนเองในด้านความรู้ ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับผลตอบแทนที่ถูกต้อง ผลเสียของการติดลอตเตอรี่ แก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โดยอาจจะเป็นในรูปแบบของการเข้าไปพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ
ส่วนในด้านทักษะการควบคุมตัวเองนั้น วิธีการที่มีประสิทธิผลดีคือเครื่องมือที่เรียกว่า commitment device หรือ การชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายตั้งเป้าหมายขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และอาจมีผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้นหากทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่สามารถทำได้ตามที่ได้ตั้งใจไว้ เช่น จะไม่ซื้อลอตเตอรี่เกิน 160 บาทต่อเดือน หากทำไม่สำเร็จ จะบริจาคเงินให้กับวัด 50 บาท
commitment device จะสร้างความรับผิดชอบ (accountability) ขึ้นมา และทำให้เกิดการคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อลอตเตอรี่ อย่างไรก็ตาม commitment device สามารถใช้ได้กับเฉพาะผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาของตน และมีความต้องการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย คือ การส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อตระหนักรู้ว่าตนเองเสียเงินหรือได้เงินจากลอตเตอรี่มากกว่ากัน และซื้อมากเกินไปหรือไม่
อีกมาตรการคือ การทำให้ผู้ซื้อตระหนักถึงทางเลือกอื่นที่น่าจะคุ้มค่ากว่า เช่น การเขียนไว้ที่ใบสลากว่าเงินที่คุณกำลังจะจ่ายนั้นสามารถซื้อข้าวให้ลูกได้สองมื้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้บริโภคมักไม่ได้คิดถึงทางเลือกอื่นๆ ในขณะที่กำลังตัดสินใจซื้อ
นอกจากนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าคนจนซื้อลอตเตอรี่ส่วนหนึ่งเพราะความรู้สึกด้อยกว่า อยากรวยขึ้น แต่ไม่สามารถหาช่องทางอื่นในการยกระดับฐานะได้นอกจากการหวังพึ่งลอตเตอรี่ ดังนั้น รัฐจึงควรส่งเสริมให้คนจนสามารถหารายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส อาทิ การส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การช่วยจัดหางาน เพื่อให้คนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้โดยไม่ต้องพึ่งลอตเตอรี่
อย่างไรก็ตาม รัฐสามารถนำเอาความนิยมซื้อลอตเตอรี่นี้มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้คนจนมีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส ซึ่งเครื่องมือนั้นก็คือ “สลากออมทรัพย์” รัฐควรปรับปรุงสลากออมทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนจนหันมาซื้อแทนการซื้อลอตเตอรี่มากขึ้น เช่น ให้สามารถเลือกเลขเองได้ และเพิ่มช่องทางจำหน่าย เป็นต้น
(บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย มาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)