ไลฟ์สไตล์

เขากับฉัน ในวันที่ไม่ใช่: แด่ถ้อยคำใน ดิว ไปด้วยกันนะ - เพจ CINEFLECTIONS

TALK TODAY
เผยแพร่ 08 พ.ย. 2562 เวลา 10.22 น. • เพจ CINEFLECTIONS

ถึงใจ ในวันที่เขาไม่อยู่…

จะมีคนหนึ่ง ที่ถึงก้าวออกจากชีวิตเราไปแล้ว (ทั้งน้ำตาเขาและน้ำตาเรา) ยังคงจะติดตัว ติดใจ ระคายความคิด เกาะกุมจังหวะหัวใจอยู่เป็นช่วงๆ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไม่หนีหายไปไหน

เขาเข้ามาในวันที่เราไม่ได้คิดอะไร ไม่พยายาม ‘มองหา’ อะไรในชีวิตอย่างเจาะจง เข้ามาหลังการเจอกันครั้งแรกที่เหมือนจะสานต่อไม่ได้ การสบตาและบทสนทนาแรกๆ ที่เก้อเขินและขรุขระ เต็มไปด้วยประโยคไร้ทิ้งทิศทางจากสองฝ่ายที่ขาดการะปะติดปะต่อ 

เข้ามาจนได้แชร์ “สถานที่” ที่หนึ่งที่เป็นของเราสองคน นั่งมองฟ้าในหลายห้วงอารมณ์ อยู่กับความเงียบและรอยคั่งค้างของความกังวลในแต่ละวัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อารมณ์เหมือน Paris in the Rain ของ lauv ที่เขาเคยเปิดเล่น ๆ ณ ​ที่ตรงนั้น

“‘Cause anywhere with you feels right

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Anywhere with you feels like

Paris in the Rain”

“เพราะที่ไหนกับเธอก็ใช่

ที่ไหนกับเธอก็เหมือน

ปารีสในสายฝน”

เราไม่รู้ว่าดิว ใน #ดิวไปด้วยกันนะ มีโอกาสได้กลับไป(ด้วยกันที่) ‘จุดชมวิว’ จุดนั้นกับภพ ผู้ออกปากว่า “ไว้จะพามาอีก” อีกหรือเปล่า พอๆ กับที่เราไม่รู้ ว่าจากฉากอุบัติเหตุในฉากแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งสอง ค่อย ๆ แปรมาเป็นฉาก ณ​ จุดชมวิวนั้นได้อย่างไร 

แต่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนย่อมมีฉากหยิบย่อยซ้อนเร้นความใกล้ชิดและสนิทสนมในการเรียนรู้ระหว่างกันและกันในเส้นทางสู่ ‘ความรู้สึก’ ที่ ‘มากกว่า’ อยู่เสมอ

หนึ่งฉากขณะ ‘สร้าง’ ความสัมพันธ์ระหว่างดิวและภพที่เราประทับใจมากจากหนังคือฉากคลาสเต้นรำลีลาศ (overhead shot ช็อตถ่ายกลุ่มนักเรียนเต้นพร้อมกันตามจังหวะเพลง เป็น bird’s eye view ที่สวยมากๆ) และบทสนทนาเรียบง่ายที่แฝง ‘ความหมายระหว่างบรรทัด / implied subtext’ ของหนัง ซึ่งสองนักแสดงอย่าง โอม-ภวัต (ดิว) และ นนท์-ศดานนท์ (ภพ วัยรุ่น) สื่อออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและน่าเอ็นดู

“มีคู่รึยัง” ประโยคแรกที่ดิวเอ่ยถามภพ หลังกลุ่มนักเรียนค่อย ๆ สลายตัว โดยภพไม่รู้สึกตัว เราอมยิ้มน้อยๆ ขณะดิวยื่นมือให้ภพ

สุดท้ายเมื่อต้องคู่กันอยู่ดี ภพก็จำต้องถามดิว เพื่อที่จะเต้นได้ถูกบทบาท “ตกลงเป็นผู้หญิงรึเปล่า” คำถามง่ายๆในบริบทการเต้นรำที่สั่นสะเทือนถึง ‘เนื้อแท้’ ความสัมพันธ์ของทั้งสอง

ดิวตอบได้อย่างน่ารัก (เราอยากให้คะแนนเต็มล้านกับแววตาของโอม) ทำนองว่า “เป็นผู้ชายที่เต้นในบทผู้หญิง”

เราเองก็เคยเรียนเต้นลีลาศช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ซึ่งครูมอบหมายให้เรารับบท ‘ผู้ชาย’ เกือบทุกครั้ง โดยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ เพียงเพราะผู้ชายเป็น ‘คนนำ’ และจะทำให้เรียนรู้ท่าและสเต็ปต่างๆรวดเร็วกว่าการเป็น ‘คนตาม’

แต่กับบริบททางสังคม ที่ขีดเส้นชัดเจนตั้งแต่ ‘การเต้นรำ’ ว่าต้องเป็น ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ เป็น ‘การตีกรอบ’ ขาวดำให้กับ ‘เพศสภาพ’ ทั้งที่อาจขัดแย้งกับ ‘สิ่งที่เป็นข้างในใจ’ 

ความรักระหว่างเพศเดียวกัน (homosexual) หรือระหว่างเพศที่ไม่ใช่ชายและหญิงชัดเจน (heterosexual) ไม่ว่าคนในความสัมพันธ์จะเป็นเพศอะไร มักถูกสังคม โดยเฉพาะสมัยก่อน (และยังคงเป็นในสมัยนี้) มองสรุปด้วยความเข้าใจอย่างคนรุ่นก่อนว่า ‘ทำไมถึงเป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่สนิทมาก ๆ ไม่ได้’ ร้ายสุดก็ไม่เคยเชื่อว่า ‘ความรักเชิงโรแมนติก’ ระหว่างสองคนมีอยู่จริง

คนเราหา ‘กึ่งกลาง’ หรืออยู่กับพื้นที่สีเทานาน ๆ ไม่ได้หรอก

ตามหลักการหนังสือจิตวิทยาที่เคยอ่านและเรียน มนุษย์ชอบที่จะ ‘แปะป้าย / label’ ลงบนทุกสิ่ง จัดประเภทเพื่อให้ง่ายและไม่ซับซ้อนต่อสมองที่ต้องจำหลายสิ่งอันยุ่งยากและเหลือล้นในชีวิตประจำวันมากอยู่แล้ว

แม้กระทั่งกับของเหลวที่ไร้สภาพ ไร้สภาวะ ไร้ ‘ความเป็นตัวตน’ ของมันเองเช่นความรัก

(ใช่ Guillermo del Toro กิลเลอโม่ เดล โตโร่ เคยทำเราร้องไห้)

คนไม่อยากจะ ‘รับรู้’ ในความเป็นไปของ ‘ความรัก’ ในแบบนี้ แต่ยังไม่วายจะตั้งคำถาม ยังจะสงสัย

ยังต้องการ ‘ความชัดเจน’ ตามธรรมชาติ ที่เขาเห็นว่า ‘ควรเป็น’

แล้วใครเป็นผู้ชาย แล้วใครเป็นผู้หญิง ใครเป็นคนนำ และใครเป็นคนตาม…

เพราะ ‘ความรัก’ ไม่ได้ต่อกันติดแนบชิดเหมือนจิ๊กซอว์สองชิ้นที่ธรรมชาติสร้างไว้!

เพราะรู้จักตัวเองดี ดิวฝันที่จะย้ายไปและ ‘ตั้งรกราก’ เริ่มต้นที่ ‘ที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ที่นี่’ วาดภาพในอนาคตเหมือนเขาคนนั้นเคยคิด อาจไม่ใช่ที่ห่างไกลอะไร แต่เป็นที่ ๆ มีทั้งเขาและภพ อยู่ด้วยกัน โดยอิสระไร้ภาระผูกพันเรื่องเพศสภาพและครอบครัวที่กดดันเขา

ในทางคล้ายกัน ‘หลิว’ (ปั๋น - ดาริสา) เด็กสาวในส่วนปัจจุบันของหนัง พูดซ้ำประโยคเดียวกันกับดิวให้ภพในวัยผู้ใหญ่ (เวียร์ - สกลวัฒน์) ฟัง เธอฝันจะไปอยู่เมืองใหญ่ - กรุงเทพ หรือเชียงใหม่ 

เมืองเชียงใหม่แทบเป็นอีก ‘ตัวละคร’ ในหนัง เมื่อเป็นที่ๆ ทั้งดิวและภพไปเรียนกวดวิชา (และพาผู้ชมย้อนวัยไปพร้อมๆกันกับเพลงทาทายัง(!) เพเจอร์ และแฟชั่นสีสันเตะตาของยุค 90’s) และภพในวัยผู้ใหญ่ พาหลิวไปตอบปัญหาแข่งขันวิชาวิทยาศาสตร์

ระหว่างพักอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่นั่นเอง ภพและดิวเกิดทะเลาะกันหนึ่งในครั้งใหญ่ที่เคยเห็นมาตั้งแต่เริ่มคบกัน (และเป็นการ ‘หยอด’ เรื่องการหัดขี่มอเตอร์ไซค์ของดิวที่มีบทบาทต่อจุดหักมุมของหนังและฉากของหลิวที่สถานีรถไฟในตอนใกล้จบ)

เราประทับใจใน ‘ความเรียล’ ของการทะเลาะในฉากนี้มาก

ทางภพเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการขอร้องอย่างสุภาพ ด้วยความหวังดี (ที่แน่ว่าแฝงด้วยเจตนาส่วนตัวที่อยากพักผ่อน มนุษย์ก็ต้อง ‘เห็นแก่ตัว’ เอาตัวเองไว้ก่อนนั่นแหละ หากเป็นการ ‘เห็นแก่ตัว’ ในความสัมพันธ์ที่เราแคร์อีกคนพอที่จะหา ‘ทางออก’ อย่างมีเหตุผล ที่น่าจะโอเคกับทั้งสองฝ่าย) แต่กลับโดนอีกฝ่ายเถียงอย่างดื้อดึง และงอแงเหมือนเด็ก ๆ พร้อมไม่ยอมฟังเหตุผลของภพ จนภพ ‘ระเบิด’ ต้องขึ้นเสียง และเปิดเผยความรู้สึกจริงของตัวเอง

ซึ่งหากทั้งคู่ไม่มั่นคงในอารมณ์และใจเย็นเปิดกว้างพอ จุดที่ ‘หลุด’ เมื่ออารมณ์ขุ่นมัวทั้งคู่แล้ว ก็จะทำให้ความรู้สึกและคำพูดในประโยคต่อ ๆ มาดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว เหมือนทั้งสองพร้อมดันอีกฝ่ายลงไปด้วยกัน

ภพตะโกนว่าตัวเองก็เหนื่อยเป็น ด้วยอยากให้ดิวรับรู้ความรู้สึกที่ต้อง ‘แบกรับ’ ดูและอีกฝ่ายไว้ตลอดเวลา เมื่ออีกฝ่าย ‘เกาะ’ ติดเขาแจและยึดเขาเป็นที่พึ่งในยามค่ำคืนโดยไม่คิดถึงการพักผ่อนของเขา

ทางดิวก็โต้กลับเหมือนเด็กๆ โดยยกประเด็น ‘ความสัมพันธ์ / nature of the relationship’ ของทั้งคู่ ดึงภาพรวมเข้ามาในการโต้เถียง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ภพขอให้ดิวทำเลย

“ถ้าไม่อยากอยู่ด้วย แล้วมาทำไม” 

ภพในวัยผู้ใหญ่บอกหลิวว่าดิวเป็นคนลากเขาไปเรียนกวดวิชาเอง (ตอบคำถามว่าทำไมภพถึงไปเชียงใหม่กับดิว) และถึงภพจะไม่อยากขี่มอเตอร์ไซค์พาดิวไปเซเว่นทุกคืน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้อยากอยู่กับดิว

การพักผ่อนนั้นเป็นครั้งครา ในวันที่ภพเหนื่อย (อย่างประโยคแรกที่ภพเปิดประเด็นกับดิว) ประโยคคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบประโยคนี้เป็นการสรุปเหมารวมของดิวเองคนเดียว

“ไม่อยากอยู่ก็ไปเลย”

ในความสัมพันธ์​ ขออย่าด่วนสรุปเมื่ออารมณ์กำลังพลุ่งพล่าน อย่าเอ่ยประโยคตัดพ้อ ที่กรีดลงลึกตรง ‘หัวใจ’ ของ ‘ความรู้สึกพื้นฐาน / feelings at the relationship’s foundation’ ที่อีกฝ่ายมีต่อความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ยังไงก็อยากอยู่ด้วย ยังไงก็รัก ยังไงก็แคร์ความรู้สึกอีกฝ่าย ถึงจะขอ ‘เปลี่ยนแปลง’ สิ่งหนึ่งไป)

ประโยคประเภทนั้นเหยียบย่ำและเขย่า ‘พื้นฐาน’ ที่มั่นคงในความสัมพันธ์ให้สั่นคลอนได้ คนที่ถูกว่าก็จะพลอยสงสัยใน ‘ความเชื่อใจ’ ของอีกฝ่ายต่อความรู้สึกของตนได้

มีคนเคยบอกเราว่า ‘เริ่มความสัมพันธ์อย่างไร ก็เป็นต่อไปอย่างนั้น’

คิดดูแล้วก็คงยากจากฝั่งภพ ที่พยายามเปลี่ยน(ส่วนหนึ่ง)ของคนที่เคยชินกับการเป็น ‘ฝ่ายรับ’ มาตลอด ให้รู้จัก ‘ดูแลตัวเอง’ ในวันที่เขาเหนื่อยเกินจะดูแลอีกฝ่ายได้

จากมุมเราและภพ ก็มองเป็นการรักษาความสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ในเมื่อเรารู้ตัวเองดีว่าเราอาจไม่พร้อมเป็น 100% ให้เขาทุกวัน และเป็นไปได้ว่าจะมีวันที่เราแบตเตอรี่แผ่วลง ซึ่งอาจตรงกับวันที่เขาต้องการเรา และความสัมพันธ์อาจพังทลายลงได้ต่อหน้าหากไม่เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ

(เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าวันนั้นเขาจะทำตัวอย่างไร และเราจะต้องรับมืออย่างไร)

เหมือนภพอีก เราจะรู้สึกใจร้าย รู้สึกผิดแกมท้อใจ เมื่อเห็นเขาพยายามครึ่งๆกลางๆหรือไม่พยายามในการทำสิ่งที่เราคิดว่าดีสำหรับเขา หรือรีบโดดกลับมาตรงจุดที่ว่า ‘ยังไงก็มีเรา’ หรือ ‘ภพขับไปส่งดิวเหมือนเดิมก็ดีอยู่แล้ว’ 

เรารู้สึกว่าเราทำเขาลำบาก ในขณะที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นตัวถ่วงและภาระเรา เพราะเราคล้ายจะผลักไสเขาออกไป

สิ่งที่น่าโกรธและหงุดหงิดมากที่สุดคือ สุดท้ายเราก็ยอมจำนนต่ออีกฝ่าย เหมือนที่ภพยอม หันกลับมา ขับมอเตอร์ไซค์ไปรับดิว กอดเขาไว้แน่นแล้วบอกว่า

“ภพไม่โกรธแล้ว รู้ไหม”

คำพูดลอยๆ ของดิว ขณะลูบผมภพ ผู้เพิ่งกลับมาจากการฝึกร.ด. อย่าง “อยู่แบบนี้ได้ไหม ไม่ต้องมีสถานะก็ได้” ฟังคล้ายวลีที่ว่า “เลิกกันเฉพาะสถานะ” สภาวะมึนๆ ระหว่างสองคนที่ยังคบหากัน เพราะ ‘อะไรบางอย่าง’ ระหว่างทั้งคู่ ทำให้เรานึกถึงวรรคในเพลง Bishop’s Knife Trick ของ Fall Out Boy วงพังค์ร็อคที่ชอบ:

“I’m struggling to exist with you and without you

Knew I should walk away

But I just want to let you break my brain

ผมดิ้นรนที่จะอยู่โดยมีและไม่มีคุณ

รู้ว่าควรเดินจากไป

แต่ก็ดันอยากให้คุณปั่นหัวผม”

เป็นเพราะ ‘สภาวะ’ ตรงนี้เหมือนการ ‘ลอยตัว’ เหนือความจริงและสิ่งกดดัน รวมถึงคนใกล้ชิดรอบข้าง การกลั้นหายใจอยู่บางส่วนที่ไม่อาจหายใจออกได้อย่างสบายใจ ทั้งหัวและความคิดก็ไม่ได้สงบเต็มที่เสียที

และนาน ๆ เข้า ก็ไม่ใช่อะไรที่คน ๆ หนึ่งจะทนได้ตลอด

นับเป็นความ 90’s มากที่ความแตกต่อหน้าแม่ของดิว (อุ๋ม - อาภาศิริ) เพราะเพเจอร์ สมัยนี้อายุขัยของ ‘ความลับ’ ยีนยาวมากขึ้นเพราะ passcode รหัสล็อกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและฟังก์ชั่นในตัว built in ของ iOS ที่ซ่อนข้อความจากแต่ละแอพ (‘คุณมี 1 ข้อความ’ โดยไม่บอกเนื้อหาของตัวข้อความจริง’)

คำถามที่แทบจะทำ ‘ความอดทน’ ที่อดกลั้นมายาวนานขาดสะบั้นลงก็คือคำถามคลาสสิกอย่าง “ตกลงดิวกับภพเป็นอะไรกัน”

ดิวและภพต้องการเผชิญหน้า ‘ความจริง’ ที่รู้และหวั่นใจมาตลอดว่าสักวันก็ต้องเจอ เป็น ‘คำถาม’ จาก ‘ภายนอก’ ที่ผ่าลงกลางใจเหมือนในเพลง Rewrite the Stars (The Greatest Showman):

“How can we be just you and me, within these walls?

When we go outside, 

You’re gonna wake up and see,

That it was hopeless after all.

เราเป็นแค่เธอกับฉัน ในห้องๆนี้ได้อย่างไร

เมื่อเราออกไปข้างนอก

เธอก็จะรู้ตัวว่า

มันเหลวไหลไร้อนาคตทั้งเพ”

ที่ตอกย้ำดึงอารมณ์มากที่สุดคือประโยคตะคอกจากภพ ที่ว่าเขาทิ้งทุกอย่างเพื่ออยู่กับดิว และ “แค่เพราะแม่พูดคำเดียว มึงเปลี่ยนใจเลยหรอ”

ไม่มีใครชนะในเหตุครั้งนี้ น่าเสียใจที่มีแต่ผู้แพ้ทั้งสองฝ่าย แต่ต่างคนต่างมีเหตุผลที่จะโกรธ ผิดหวัง เสียใจ และดิ่งในความรู้สึกตัวเอง

ภพ ที่เดินออกมาจากครอบครัวด้วยอารมณ์สุดขีด ทนการบีบคั้น ใช้กำลัง และคำพูดบาดใจของพ่อไม่ไหว ทั้งรู้สึกหนักอึ้งเต็มหัวใจว่าตัวเอง ‘จริงจัง’ ขนาดเสียสละเพื่อดิวแค่ไหนในคืนนั้น

ดิว ที่รักและอยากอยู่กับภพแต่รัก นับถือ และเป็นห่วงแม่ของตนเช่นกัน ทั้งรู้สึกอยากหลีกหนีไปจากที่อย่างปางน้อย

สุดท้ายก็เป็นดิวที่ต้องร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ำตาไหลไม่อยู่ เพราะใจเหมือนแตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะคำถามตรงและเลี่ยงไม่ได้จากอีกฝ่าย

เหมือนถูกกล่าวหาว่า ‘ยอมแพ้’ ยอมทิ้งความสัมพันธ์ ‘ง่าย ๆ’ เพราะคำห้ามของแม่ เปลี่ยนใจไม่เลือกอีกฝ่ายเหมือนไม่เลือกของประจำตัวชิ้นหนึ่งแล้ว

เปลี่ยนใจจนเป็น ‘เจ้าชายน้อย’ ที่โลเล โละทิ้งความสัมพันธ์ที่สร้างมากับมือ

เปลี่ยนใจไม่สู้เพื่ออีกฝ่าย ทั้งที่ตัดสินใจพร้อมสู้แต่แรก เหมือนนก Blue Jay ใน Crazy Rich Asians (2018) ที่พร้อมสู้ พร้อมเปลี่ยน ’สิ่งที่เป็นไปไม่ได้’ ให้ ‘เป็นไปได้ทั้งหมด’ (take the impossible and make everything possible) เพราะอีกฝ่าย ‘สำคัญพอ - worth it’ 

หากความสัมพันธ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนเพียงสองคน (ยิ่งเป็นประเทศไทยและต่างจังหวัดด้วยแล้ว) และสำหรับดิว เช่นเราเอง คำว่า ‘ลูก’ นั้นเล็กและเบาหวิวใน ‘ลูกคนเดียว’  ซ้ำคำว่า ‘คนเดียว’ นั้นยิ่งใหญ่ โดดเดี่ยว และหนักอึ้งนัก

การที่จะหาคนรักคนเคียงข้างที่เข้าได้กับครอบครัว คนที่อยู่ข้างเราเสมอมา ไม่ว่าอะไร ก่อนที่เขาอีกคน หรือภพจะเข้ามาในชีวิตดิว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา

น้ำตาหยดแหมะครั้งแรกกับประโยคของครู ขณะสวมกอดภพในวัยผู้ใหญ่ ที่ว่า: “อย่าให้บาดแผลในอดีตมาฉุดรั้งไม่ให้เราเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เลยนะ” 

ตามหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด ของคิชิมิ อิชิโร และโคะกะ ฟุมิทะเกะ ที่เราเพิ่งอ่านจบไม่นานไม่นี้ ‘แผลใจ’ ไม่มีอยู่จริง เพราะ ‘เราต่างอยู่ในโลกส่วนตัวที่ตัวเองเป็นคนปั้นแต่งขึ้นมาทั้งนั้น’ และตามหลักจิตวิทยาของแอดเลอร์ (Alfred Adler อัลเฟรด แอดเลอร์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ผู้โด่งดังจากหลักจิตวิทยาปัจเจกบุคคล’) แล้ว:

‘ไม่มีประสบการณ์ใดในอดีตเป็นสาเหตุของความสำเร็จหรือความล้มเหลวในปัจจุบัน คนเราไม่ได้ทุกข์ทรมานเพราะเคยได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิดใจแบบรุนแรง… เราเพียงแค่นำประสบการณ์ในอดีตใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ ดังนั้น ชีวิตของคนเราจึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ถูกกำหนดโดยความหมายที่ตัวเรามอบให้แก่ประสบการณ์ต่างหาก’

ประโยคของครูเหมือนเป็นประโยค ‘ปลดล็อก’ ไขกุญแจสิ่งที่ถูกขังค้างคาอยู่ในใจเกี่ยวกับดิว ฉากที่ภพในวัยผู้ใหญ่ไป ‘เยี่ยม’ ดิว ณ สถานที่ของพวกเขาพร้อมไส้กรอกเซเว่น เป็นฉาก ‘ปลดปล่อย’ ที่สวยงามสำหรับคนเฝ้ามองและฟังภพสารภาพความรู้สึกที่มีกับคนที่จากไป

เรากลับมารู้สึกเศร้าใจนิด ๆ เมื่อภพกล่าวว่า หากต้องลืมดิว เพื่อก้าวต่อไป ภพก็ไม่อยากทำ 

เราเชื่อว่าการจดจำเรื่องดีๆ ความทรงจำที่มีความสุขเป็นสิ่งที่ดีงามที่พึงระลึกถึงว่าอย่างน้อย เราก็เคยมีความทรงจำเหล่านั้น ตราบใดที่ไม่เกาะกุมรัดแน่น hold on too tight กับความทรงจำเรื่องเก่าทั้งดีและร้ายจนอีกคนในความสัมพันธ์รู้สึกได้ ว่าอีกฝ่ายไม่เคยลืมอดีตพอที่จะก้าวต่อ

เราเก็บเพราะเราอยากจะจดจำ เราเก็บบางสิ่งเพราะเรากลัวมันจะสูญหาย 

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าฮู้ดดี้ตัวสีแดงของดิว สกรีนคำว่า ‘Destiny’ หรือ ‘ชะตาลิขิต’ ตรงกับประโยคที่ภพในวัยผู้ใหญ่กล่าวกับหลิวที่เชียงใหม่ว่า “บางสิ่งถูกกำหนดมาแล้ว”

ทั้งคู่พบเจอกัน และจากลาในวันที่ไม่พร้อม แล้วได้โอกาสเจอกันอีกครั้งยี่สิบกว่าปีถัดมา ราวเป็นคำตอบของคำถามในเพลง Another Place เกี่ยวกับรักปลอมหรือรักผิดเวลา (แล้วแต่การตีความ) ของวงอินดี้ฝั่งอังกฤษ Bastille: 

“In another place/in another time, what could we have been? 

ในอีกภพ อีกกาลเวลา เราสองคนจะเป็นอย่างไรกันนะ”

ติดตามบทความจากเพจ CINEFLECTIONS ได้บน LINE TODAY ทุกวันศุกร์ 2 และ 4 ของเดือน

ความเห็น 7
  • kunk909
    ภาษาของผู้กำกับอ่านแล้วเข้าใจมั่งไม่เข้าใจมั่ง มองภาพตามบทความออกมั่งไม่ออกมั่ง สรุปแล้วคือเป็นหนัง แนวชายรักชาย รักที่เริ่มจากความไร้เดียงสา จุดสำคัญของหนังคือความคิดและคำพูด(dialog)ที่เอาคำพูดพื้นๆที่เป็นคำพูดที่เป็นจริง(reality)แบบธรรมชาติที่จะสื่อออกมาให้กินใจคนดู หนังแบบนี้กว่าจะกำกับเสร็จ เหนื่อยน่าดูเพราะเน้นคำพูด(conversation)ของตัวแสดง สรุป น่าไปดู
    08 พ.ย. 2562 เวลา 12.05 น.
  • Nai noi Sisumangkala
    ดูแล้ว สามวันผ่านไป คำถามเกิดขึ้นในหัวมากมาย ไม่ใช่หนังที่ดีเริ่ดแต่ทำไมสามารถทิ้งคำถามในหัวของเราได้มากมายขนาดนี้
    08 พ.ย. 2562 เวลา 15.05 น.
  • หนังในเรื่องนี้คงจะเป็นการสื่อให้รู้ถึงในเรื่องของสิทธิในความรักของเพศเดียวกันหรือปล่าว.
    08 พ.ย. 2562 เวลา 22.33 น.
  • 🇨🇵 ET ALORS 🇨🇵
    เคยมั้ย? คนไม่ชอบเรา​แต่กลับรักเรา
    08 พ.ย. 2562 เวลา 14.37 น.
  • หนังสนองตัณหา ผกก โดนแท้ ไม่เอาใจคนดูเลย จบแบบห่วยๆ
    08 พ.ย. 2562 เวลา 23.37 น.
ดูทั้งหมด