ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.51 #ครองใจอย่างไร สู้ภัย COVID-19

สวนโมกข์
เผยแพร่ 24 มี.ค. 2563 เวลา 21.00 น.

ธรรมlife โดย อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

คำถาม #ครองใจอย่างไร สู้ภัย COVID-19

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตอบโดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

พระสูตรอ้างอิง: โภควิภาค4, พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕ 

บางครั้งชีวิตก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งการอยู่เหนือการควบคุมนี่แหละที่ทำให้เรามีความวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ จนบางคนถึงขั้นใช้ชีวิตไม่เป็นสุขไปเลยก็มี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับใครที่กำลังกังวลในเรื่องนี้ วันนี้พระอาจารย์ท่านเมตตาแนะนำไว้แบบนี้ค่ะ

"ในเบื้องต้น อาตมาขอชวนพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เพราะว่า จริง ๆ ต้องยอมรับก่อนว่าทุกชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วต้องตาย และวันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นว่าจริงๆ แล้วความตายมันใกล้แค่นี้เอง ใกล้ขนาดที่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังตัวเอง หรือคนบางคนไม่ระมัดระวังตัวเองแล้วเป็นพาหะเชื้อ COVID-19 อยู่และไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการกระจายเชื้อให้คนอื่น ซึ่งถ้าเราเป็นหนึ่งในนั้น โอกาสที่เราจะติดเชื้อก็มี

จากนั้นถ้าเกิดใครมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เบาหวาน ความดันโลหิต  ปอดไม่แข็งแรงหรือเป็นผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตเพราะเชื้อนี้ได้ง่าย ๆ  ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เราเห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเตือนก่อนปรินิพพานว่า “อัปปมาเทนะ  สัมปาเทถะ” เธอจงยังกิจของตนให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อาตมาจะชวนให้เรียนรู้ว่า ชีวิตมันไม่แน่  ความตายนี้แหละแน่นอน ถ้าเรานึกถึงอันนี้ได้ แล้วพยายามจัดการชีวิตอย่างไม่ประมาทก็จะเป็นสิ่งที่ดี

ลองมองภาพรวมจากสถานการณ์ตอนนี้จะเห็นว่า

1. ชีวิตเรา ไม่ใช่ชีวิตเราชีวิตเดียว เมื่อเราประมาท ทำอะไรโดยไม่ระมัดระวัง มันจะกระทบคนอื่น เช่น ในองค์กรองค์กรหนึ่ง ถ้าคนหนึ่งประมาทแล้วติดเชื้อ ก็อาจจะเสี่ยงทำให้คนทั้งองค์กรติดเชื้อได้ โดยไม่ยาก

2. ชีวิตคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่มีเพียงเรื่องของสุขภาพอย่างเดียว แต่ยังมีภาวะพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ในส่วนประเทศไทยเราเอง ณ ตอนนี้ก็จะเห็นว่าการที่เราพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการจำนวนมาก หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ สายการบินถูกยกเลิกเที่ยวบิน ลักษณะเหล่านี้มีผลกระทบทั้งหมด

สองเรื่องที่กล่าวมาสะท้อนว่า บางทีการที่มีภาวะเศรษฐกิจแบบพึ่งพามากเกินไปก็อาจจะทำให้ประเทศชาติลำบากได้ เมื่อเกิดวิกฤตอย่างที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ ขนาดประเทศชาติยังลำบาก แล้วตัวเราเล่า

เรามีกำลังทรัพย์พอที่จะเก็บไว้ใช้สอย ในยามจำเป็นหรือเปล่า อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่า  ในการใช้ทรัพย์นั้น 

1 ส่วนต้องใช้ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว, 2 ส่วนต้องใช้เพื่อลงทุนทำงานต่อไป และอีกส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ในยามคับขัน เรียกว่า “โภควิภาค 4” เราทำแบบนั้นหรือเปล่า

นอกจากไม่ประมาทในการบริหารจัดการทรัพย์ แล้วเราไม่ประมาทเรื่องการใช้ชีวิตด้วยหรือยัง เราทำความดีพอหรือยัง ถ้าวันนี้เราจะต้องติดเชื้อ แล้วต้องตาย ถ้าเรารู้สึกว่ายังไม่พร้อม ก็ถือโอกาสนี้ทำตนไม่ประมาท ทำอะไรที่ดี ๆ ได้ กับคนที่เรารัก กับพ่อแม่เรา กับลูกเราก็ทำ

แทนที่จะกังวลว่าติดเชื้อหรือยัง ให้ถือว่าดีแล้ว อย่างน้อยวันนี้ เรายังไม่ติด และใช้ชีวิตวันนี้อย่างไม่ประมาททั้งกาย วาจา ใจ

ปิดท้ายขอเพิ่มเติมเล็กน้อย ถ้าใครรู้สึกว่ายังมีกำลัง ก็อยากชวนว่า อะไรที่เราจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสังคมให้มันดีขึ้นร่วมกันได้ ก็ทำ

ถ้าติดเชื้อ COVID-19 อาจจะทำให้ปอดอักเสบ แต่ถ้าเราไม่มีความใส่ใจ มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่ากับว่า วิธีคิดของเราอักเสบ สิ่งนี้แหละน่ากลัวที่สุด มากกว่า COVID-19 เสียอีก"

อย่าลืมว่า ถ้าคุณรู้สึกหนัก มีทุกข์ในใจแบ่งเรื่องราวของคุณให้พวกเราได้ค่ะ ที่สำคัญลองเติมธรรมกันวันละนิดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife อ้อมจะไปหาคำตอบจากพระอาจารย์มาให้ค่ะ อะไรที่อ้อมช่วยได้ อ้อมยินดีค่ะ 

ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line: @Suanmokkh_Bangkok