ทั่วไป

รู้จัก "โมโนโคลนอลแอนติบอดี" ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้ามารักษาโรคโควิด-19

Khaosod
อัพเดต 23 ก.ย 2564 เวลา 20.28 น. • เผยแพร่ 23 ก.ย 2564 เวลา 20.25 น.

ยารักษาโรคโควิด-19 ที่ชื่อว่า "โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) เริ่มได้รับความสนใจจากคนไทยตั้งแต่เดือน ส.ค. เมื่อประเทศเยอรมนีได้บริจาคยาแอนติบอดีค็อกเทลชนิดนี้ให้ประเทศไทยใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดอาการป่วยหนักและการเสียชีวิต

การบริจาคยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีของเยอรมนีมีขึ้นราว 1 เดือนหลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยอนุมัติให้ใช้ยา "แอนติบอดีค็อกเทล" (Antibody Cocktail) ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังจากนั้นมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.) ดูเหมือนจะเป็นองค์กรที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโมโนโคลนอลแอนติบอดีมากที่สุด ตั้งแต่เป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาชนิดนี้ซึ่ง รจภ. เรียกว่าเป็น "ค็อกเทลมหัศจรรย์" และระบุว่าเป็นนวัตกรรมทางยาล่าสุดที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในวิกฤตการระบาดที่อาจเกินกำลังรับของระบบสาธารณสุขของประเทศ

หลายประเทศมีการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีเพื่อรักษาโรคโควิด-19 โดยมีชื่อทางการค้าที่แตกต่างกันไป

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เปิดเผยว่า รจภ. จะนำเข้าและกระจายยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีให้โรงพยาบาลต่าง ๆ พร้อมกับเปิดเผยแผนการใช้ยาแอนติบอดีค็อกเทลตัวนี้ ซึ่งเป็นยาที่ทำให้ร่างกายผู้ติดเชื้อต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานนึงที่รัฐบาลกกำหนดให้สามารถจัดหาทั้งวัคซีนทั้งยา ที่ใช้รักษา(โรคโควิด-19)ในภาวะฉุกเฉินได้ ทางเราก็ได้ไปมีส่วนในการที่จะจัดหา นำเข้า และไปกระจายตัวที่เราเรียกว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดี ในที่นี้เราจะเรียกว่าแอนติบอดีค็อกเทล เป็นตัวแรกที่ทางอย.ไทยได้ให้การรับรองที่จะใช้ในภาวะฉุกเฉิน" นพ. นิธิกล่าว

เลขาธิการ รจภ. กล่าวด้วยว่าคาดว่าประเทศไทยจะได้ทดสอบยาดังกล่าวเร็ว ๆ นี้

โมโนโคลนอลแอนติบอดีคืออะไร และทำงานอย่างไรในการรักษาผู้ป่วยโควิด บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มาไว้ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โมโนโคลนอลแอนติบอดีคืออะไร

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการ

โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม

โดยยาแอนติบอดีแบบผสมหรือที่เรียกว่า "แอนติบอดีค็อกเทล" เป็นการนำโมโนโคลนอลแอนติบอดีตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกัน ซึ่งในยาตัวนี้ได้นำแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล 2 ชนิดมารวมกัน คือ แอนติบอดีที่สกัดจากหนู ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ ผสมกับแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19

รพ. จุฬาลงกรณ์ยกตัวอย่างโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ไทยได้รับบริจาคจากเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่ารีเจนคอฟ (REGEN-COV) เป็นการผสมค็อกเทลระหว่างคาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab)

โฉมหน้ายาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ชื่อ REGEN-COV

ขณะที่ รจภ. อธิบายเพิ่มเติมว่ายาแอนติบอดีนี้จะทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายอย่างเฉพาะเจาะจง และตรงเข้าจับเชื้อไวรัสได้ดีกว่าแอนติบอดีทั่วไป เพราะจัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing monoclonal Antibody) คือทำให้ไวรัสเป็นกลาง อ่อนกำลังลง และยับยั้งการติดเชื้อในร่างกายไม่ให้ลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้

ผลการวิจัยพบด้วยว่า ยาชนิดนี้ช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้ย่นระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลให้สั้นลง อีกทั้งลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ แต่ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีอาการป่วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาในมนุษย์ถึงการรักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เบตา แอลฟา แกมมา และเดลตา

การผลิตยาโดยใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนายารักษาทั้ง เช่น Trastuzumab ใช้รักษามะเร็งเต้านม Abciximab Panitumumab รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

เพจเฟซบุ๊กของ รจภ. อธิบายการให้ยาแอนติบอดีค็อกเทลไว้ว่า จะใช้วิธีหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำครั้งเดียว (single intravenous infusion) ในยาประกอบด้วยสารภูมิต้านทานที่พร้อมทำงานยับยั้งการติดเชื้อได้ทันที จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของยาดังกล่าวพบว่าเหมาะสมต่อการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียวที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดก่อนรับยา

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับยาแอนติบอดีค็อกเทลอาจมีอาการข้างเคียงเช่นเดียวกับที่พบจากการฉีดยาอื่น ๆ ได้ เช่น ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) แต่มีโอกาสน้อยมาก

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับยาแอนติบอดีค็อกเทล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดภายใน 1 ชม. ได้แก่ ผื่นแพ้ อาการคล้ายไข้หวัด อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ความดันต่ำ

ภาพประกอบการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เผยแพร่จากเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 ก.ย.

โมโนโคลนอลแอนติบอดีในต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่อนุมัติการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีในภาวะฉุกเฉิน โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยยาชนิดนี้รักษาหลังจากที่เขาติดโควิด ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์อย่างหนัก เพราะขณะนั้นยังไม่มีการอนุมัติจากหน่วยงานภายใน

แต่ต่อมาในเดือน พ.ย. 2563 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็ได้ออกใบอนุญาตการใช้ในกรณีฉุกเฉิน สำหรับยาที่มีชื่อว่า คาซิริวิแมบและอิมเดวิแมบ ซึ่งเป็นค็อกเทลสูตรเดียวกับที่ไทยได้รับบริจาคมาจากเยอรมนี เพื่อใช้ร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง ที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรง

โดยเอฟดีเอของสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า ผลการทดลองทางคลินิกพบว่าแอนติบอดีค็อกเทลชนิดนี้ช่วยลดระยะการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้

ประเทศอื่น ๆ ก็มีการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีเช่นกัน โดยมีชื่อทางการค้าที่แตกต่างกันไป เช่น อังกฤษใช้ชื่อทางการค้าว่าโรนาพรีฟ (Ronapreve) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการรักษาและป้องกันโควิด-19 ในกว่า 20 ประเทศ และยังมีการอนุมัติใช้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก

………..

ข่าวBBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • K a o r i
    ข้อมูลแน่นดีมากค่ะ 👍🏻
    24 ก.ย 2564 เวลา 03.17 น.
ดูทั้งหมด