มีถนนอยู่สามสายในฝรั่งเศส ที่ใช้ชื่อว่าสยาม, คือที่ปารีส, ที่เบรสต์ และที่แซงต์มาร์เซลใกล้มาร์ซาย. ในบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวชมถนนทั้งสามสาย, และจากถนนดังกล่าวก็จะพาท่านลัดเลาะเข้าซอกซอยของประวัติศาสตร์ต่อไป…
สมัยเมื่อยังเด็ก ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ผมไม่เคยรู้เลยว่า ใกล้ๆ กับโรงเรียน Lycee Janson de Sailly บนถนน Rue de la Pompe อันเป็นโรงเรียนเก่าของผมที่ปารีสนั้น มีถนนอยู่สายหนึ่งเรียกว่า ถนนสยาม (Rue de Siam).
ตอนนั้น ในสภาพบรรยากาศแบบยุคอาณานิคมหลังสงครามที่ยังคงกลิ่นอายอยู่ในยุโรป ผมกำลังมีปมด้อยคิดถึงบ้านอย่างเหลือทน หากรู้ชื่อถนนสายนี้ก็น่าจะพอช่วยทุเลาปมด้อยของผมลงได้บ้าง. หลังจากนั้นมาอีกนาน ผมถึงได้มารู้ว่า ชื่อถนนสายนั้นมีที่มาจากท่านทวดของผมเอง ซึ่งมาปักหลักอยู่ที่ปารีสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ในฐานะอัครราชทูต หรือ “Minister” ตามศัพท์ที่ใช้กันในช่วงศตวรรษที่ 19. ใช่แล้วละครับ, ก็พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ตัวแทนผู้ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยของสยามท่านนั้นเอง ที่ได้ทรงเจรจาอย่างหนักหน่วงกับเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสและเทศบาลนครปารีสให้ขนานนามถนนสายที่ตัดผ่านหน้าสถานที่ทำการทูตที่ท่านมาตั้งขึ้นในปีนั้นด้วยชื่อนี้.
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมาเป็นทูตประจำอยู่สิบเอ็ดประเทศในยุโรปและประจำอเมริกาด้วยพร้อมๆ กัน, และก็ได้ทรงตั้งสถานทูตสยามขึ้นเป็นแห่งแรกที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1881. ต่อจากที่ปารีส พระองค์ก็ทรงไปตั้งสถานทูตแห่งที่สามที่กรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1886, นั่นคือปีหนึ่งหลังจากที่ทรงเป็นต้นคิดร่างรัฐธรรมนูญสยามกราบบังคมทูลถวายเข้ามาเป็นครั้งแรก แล้วก็ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ ต่อมาในเวลาไม่ช้าไม่นาน.
สถานทูตที่ปารีสตั้งอยู่ในย่านหมู่บ้านผู้ดีแถบชานเมือง, มีอาณาบริเวณกว้างขวางล้อมรอบ, ซึ่งแต่ก่อนเป็นบ้านเลขที่ 49 ถนน Rue de la Pompe. พอพระองค์มาตั้งสถานทูตขึ้นที่นี่ก็มีการตัดถนนสายใหม่จาก Rue de la Pompe ผ่ากลางบริเวณสถานทูต ทำให้บ้านแห่งนี้มีทางเข้าได้ใหม่ขึ้นอีกทางหนึ่ง. หลังจากที่ทรงตกลงเรื่องชื่อของถนนสายใหม่นี้กับทางการฝรั่งเศสได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หมายเลขของสถานทูตก็เปลี่ยนมาเป็นเลขที่ 13 ถนนสยาม (Rue de Siam).
ถนนสยามสายที่ว่านี้อยู่ไม่ไกลจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสปัจจุบันที่ถนน Rue Greuze สักเท่าใด และค่อนจะใกล้กับทำเนียบของท่านเอกอัครราชทูตที่ถนน Rue Alberic Magnard. ตรงหัวมุมที่ถนนสยามบรรจบกับถนน Rue de la Pompe นั้น มีร้านขายเครื่องดื่มเล็กๆ อยู่ร้านหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ก็ยังใช้ชื่ออยู่ว่าร้าน “Roi de Siam” (พระเจ้ากรุงสยาม), มาเดี๋ยวนี้ (2552 – กองบรรณาธิการ) ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Cafes Seize” เสียแล้ว แต่ในหน้ารายการอาหารและในใบเสร็จรับเงินก็ยังคงชื่อเดิมอยู่. นี่ถ้าผมอยู่ที่ปารีส ผมจะไปขอเจ้าของร้านให้เปลี่ยนป้ายหน้าร้านกลับไปเป็นอย่างเดิม แล้วก็จะชวนบริษัทนำเที่ยวของไทยให้ไปช่วยอุดหนุนร้านนี้เป็นการตอบแทนเขาด้วย.
ผมเคยแนะสถานทูตไทยในปารีสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเราให้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสให้ติดแผ่นป้ายจารึกที่บ้านเลขที่ 13 เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสถานทูตเก่าของสยาม. ด้วยความคิดแบบเดียวกันนี้เอง ผมก็ยังได้เสนออีกว่า ให้ทำป้ายอย่างเดียวกันนี้สำหรับติดหน้าคฤหาสน์อีกแห่งหนึ่งที่ปารีสที่เคยเป็นสถานทูตสยามเมื่อปี ค.ศ. 1686-87 ด้วย.
ทูตคณะที่เกี่ยวข้องด้วยนี้ก็คือคณะที่นำโดยออกพระวิสูตรสุนทร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ โกษาปาน, ซึ่งเป็นบรรพชนโดยตรงของพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนั่นเอง. ทูตคณะนั้นเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจากสยาม, ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 30 คน และที่สถานทูตอาจจะยังมีนักเรียนไทยที่ถูกส่งไปฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1684 และที่เดินทางไปกับโกษาปานรวมอยู่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนหนึ่งในจำนวนนั้นยังได้เสนอวิทยานิพนธ์เป็นภาษาละตินที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในปี 1686 ต่อหน้าท่านโกษาปานด้วย.
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตาม “โกษาปาน” ชมอารามแม่ชีที่ฝรั่งเศส ชื่นชมการแต่งกาย “แต่งขาวเป็นการเหมาะ”
จำนวนผู้คนทั้งหมดในสถานทูตอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นสองเท่าของจำนวนดังกล่าวนี้ ถ้านับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสรวมเข้าไปด้วย – อันได้แก่ ทหารอารักขา, ล่ามซึ่งเป็นพวกบาทหลวงเยซูอิต, แม่บ้าน, พ่อครัว, คนรับใช้, คนขนของ, และก็ยังอาจจะมีสายลับบวกเข้าไปด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ คณะคนทั้งหมดนี้เข้าครองคฤหาสน์เป็นที่พำนัก หรือที่เรียกว่า hotel หลังใหญ่เด่นเป็นสง่า, เลขที่ 10 ถนน Rue Tournon หน้าพระราชวังลุกซองบูร์ก. ปัจจุบันคฤหาสน์หลังนี้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของกองทหารองครักษ์ประธานาธิบดีฝรั่งเศสไปแล้ว.
ที่ว่ามาข้างต้นนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกันกับถนนสยามสายต่อไปที่ผมกำลังจะพูดถึง. ถนนสายนี้อยู่ที่ท่าเรือเก่าของเมืองเบรสต์ (Brest) อันเป็นที่ที่คณะทูตท่านโกษาปานมาขึ้นแผ่นดินฝรั่งเศส. วันแห่งความทรงจำรำลึกนี้คือวันที่ 12 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1686, โดยในวันนั้นเมอซิเออร์ เดส์คลูโซส์ (Desclouseaux) ซึ่งเป็นตัวแทนกษัตริย์ (Intendant) และผู้ว่าการเมืองเบรสต์ ได้จัดต้อนรับท่านออกพระวิสูตรสุนทร, อุปทูตและตรีทูต, กับบรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายทั้งปวงในคณะด้วยการยิงสลุต 21 นัด.
ทันทีที่คณะของชาวสยามขึ้นจากเรือ ปืนใหญ่ก็ยิงต้อนรับติดต่อเรื่อยไป – เป็นปืนใหญ่จากป้อมประจำเมืองยิงประสานกับปืนใหญ่ขนาดเบาอีก 210 กระบอก ตั้งที่อู่ทหารเรือและบนสะพาน Recouvrance. ในตัวเมืองประดับประดาด้วยธงทิว และมีประตูชัยดอกไม้ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นการพิเศษสำหรับให้ขบวนราชทูตเดินรอดผ่าน. ในระหว่างนั้น วงดุริยางค์ราชนาวีก็บรรเลงเพลงด้วยแตร, ฮอร์น, ไวโอลิน และเครื่องดนตรีอีกนานาชนิดครื้นโครมไปตลอดทางสู่ตัวเมือง.
ค่ำวันนั้น มีการเลี้ยงรับรองคณะชาวสยามที่จวนตัวแทนกษัตริย์ ซึ่งอยู่ใกล้ตรงสะพาน. ที่นั่นข้าราชการในคณะทูตได้เข้าพัก, ดื่ม และร่วมรับประทานอาหาร ท่ามกลางเสียงดนตรีที่ทางราชนาวีฝรั่งเศสจัดมาบรรเลงอีกครั้ง. ท่านออกพระเดินเคียงคู่พามาดามเดส์คลูโซส์เข้าสู่ห้องรับประทานอาหาร. เรารู้ได้ถึงกระทั่งว่าบนโต๊ะอาหารวันนั้นมีอาหารอะไรบ้าง เพราะว่าพวกนักสอดแนมหาข่าวตามคำสั่งของเดอ วีเซ่ (De Viize) ผู้เป็นทั้งนักจดหมายเหตุประจำราชสำนัก และก็เป็นทั้งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเวลานั้นชื่อ Le Mercure Gallant ได้จดรายการอาหารไว้อย่างละเอียดลออทีเดียว.
พวกนักสื่อข่าวพวกนี้ ต่อมาก็ได้รับคำสั่งให้มาแอบเฝ้าประจำอยู่นอกประตูรั้วสถานทูตสยามที่ถนน Rue Tournon ในปารีส, ซึ่งก็ได้เรื่องชนิดชวนน้ำลายหกจากพวกสตรีราชสำนักที่แอบมาเข้าเยี่ยมราชทูตสยามไปตีพิมพ์อย่างเอิกเกริก.
ถ้าจะว่าฝรั่งเศสลอบสอดส่องสถานทูตสยามแล้วละก้อ ท่านทูตกับข้าราชการของท่านก็ทำแบบเดียวกันนั้นกับฝรั่งเศสเหมือนกัน. จากบันทึกของเดอ วีเซ่ มีสาธยายว่า ท่านโกษาปานได้กำหนดหน้าที่ให้ข้าราชการของท่าน โดยให้แบ่งกันออกเป็นหมู่ย่อย ออกไปสำรวจตรวจตราตัวเมืองเบรสต์ อาคารสถานที่และป้อมปราการของเมือง, แล้วให้กลับมาประชุมรายงานในตอนค่ำ.
เดอ วีเซ่ เองก็จัดการต้านการจารกรรมขึ้น ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องได้รับความร่วมมือจากพวกล่ามคณะเยซูอิตแน่ ดังที่ได้รายงานมาว่า : “ไม่ใช่เพียงแค่ว่าพวกเขาจะจดบันทึกความจำในสิ่งที่พวกเขาได้รู้ได้เห็นมาในวันนั้นทุกค่ำเท่านั้น, หากยังมีขุนนางที่เขียนจดหมายสิ่งที่พวกเขาได้ไปเห็นมาเป็นบทกวีนิพนธ์ (นิราศ) อีกด้วย…พวกเขาทำกันถึงขนาดว่า ให้พวกในคณะออกนับจำนวนต้นไม้ในอุทยานของพระราชวังต่างๆ ที่พวกเขาได้เห็นมาอย่างละเอียด.”
ผมจะไม่เข้าซอยไปไกลจากเรื่องถนนสยามที่เมืองเบรสต์ให้มากนัก, นอกจากจะขอเสริมอีกนิดหน่อยว่า ท่านโกษาปานกับเจ้าหน้าที่ของท่านก็มีคนพาเข้าไปเดินหาซื้อข้าวของในเมืองกันตามสมควรด้วย. นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร! ข้าราชการของเราในยุคนี้จำนวนไม่น้อยก็ยังออกตระเวนช็อปปิ้งในต่างประเทศในรูปของการ “ดูงาน” ด้วยเงินภาษีของประชาชน, จะต่างกันก็ตรงที่ว่า อย่างน้อยท่านโกษาปานกับข้าราชการของท่านได้ฝากภาพลักษณ์ด้านบวกของประเทศชาติไว้ให้ทรงจำ โดยมีถนนสยามเป็นถนนช็อปปิ้งหลักกลางเมืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.
บริษัทนำเที่ยวรู้จักถนนสายนี้ในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย, การขายบริการนำเที่ยวนั้นก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไร เพราะเส้นทางจากเมืองเบรสต์ไปปารีสนั้นตัดผ่านลุ่มแม่น้ำลัวร์ (Loire Valley) อันมีทัศนียภาพงดงาม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกองุ่นที่ดีที่สุด และก็เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถชมและแวะเข้าพักตามปราสาทเก่าแก่ต่างๆ ได้ตลอดทาง แบบเดียวกับที่ท่านโกษาปานกับชาวคณะได้ทำมาแล้วเมื่อปี 1686.
ยังมีเรื่องเกี่ยวกับท่านโกษาปานที่น่าสนใจจำอยู่อีกมาก แต่ผมต้องของดไว้ก่อนสำหรับบทความต่อๆ ไป, โดยจะขอกล่าวถึงเพียงเรื่องเครื่องราชบรรณาการที่ท่านทูตได้นำไปถวายองค์สุริยกษัตริย์, ซึ่งบรรจุใส่ลังใหญ่ๆ ไปจากกรุงศรีอยุธยาถึง 132 ลัง, เพราะลังเหล่านี้มีน้ำหนักมาก จึงต้องส่งไปทางเรืออ้อมแหลมบริตตานี (Brittany) ไปแล้วจึงเข้าไปในแม่น้ำแซนไปสมทบกับคณะสยามที่ชาโตเดอแบร์เนย์ (Chateau de Berney) ชานกรุงปารีส.
การที่เรื่องต่างๆ ได้มีการดำเนินงานประสานกันไปจนลุล่วงเรียบร้อยเมื่อ 320 ปีที่แล้ว โดยมิได้มีอี-เมลและโทรศัพท์มือถือใช้นั้น ออกจะเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน. ในบรรดาลังที่พูดถึงนี้ ก็มีปืนใหญ่หุ้มด้วยเงินแกะสลักลวดลายอยู่ 2 กระบอก. ปืนใหญ่ทั้ง 2 กระบอกนี้ ต่อมาพวกก่อการปฏิวัติได้เอาไปใช้ในการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสด้วย โดยใช้ยิงถล่มประตูคุกบาสติลย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1789 อันเป็นวันแห่งการพลิกแผ่นดินคราวนั้น.
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทหารใช้ “ปืนใหญ่พระนารายณ์” ถล่มป้อมบาสตีย์ ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ?
ทางจากเบรสต์มาปารีส ที่จริงก็เป็นถนนที่ต่อเนื่องจากถนนสยามนั้นเอง. พอมาถึงแม่น้ำลัวร์ก็มีคุ้งน้ำเล็กๆ ชายตลิ่ง ที่เรียกกันมาว่า “Le Trou des Siamois” หรือ“แอ่งของพวกสยาม.” ก็ไม่ทราบจริงแค่ไหน แต่ที่จริงก็คือ คณะชาวสยาม ซึ่งตอนนั้นกำลังอยู่ในระหว่างกลางทางจะไปปารีส และก็ไม่ได้อาบน้ำมาหลายวันแล้ว พากันถอดเสื้อถอดผ้าออกท่ามกลางอากาศที่หนาวยะเยือกแล้วโจนลงน้ำ, ทำเอาพวกฝรั่งเศสซึ่งประเพณีการอาบน้ำอยู่ข้างจะตรงข้ามกับนิสัยของคนไทยเราที่ต้องอาบน้ำทุกวันต้องอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กันทีเดียว.
ผมว่าผมควรจะพาท่านผู้อ่านไปยังถนนสยามสายที่สามในฝรั่งเศสเสียที. การที่จะไปยังถนนสายนี้ต้องไปแซงต์มาร์เซล (Saint Marcel) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ห่างมาร์ซาย (Marseilles) ออกไปทางตะวันออกราวสิบสองกิโลเมตร. ผมมารู้จักถนนสายนี้ก็เนื่องจากการติดต่อทางจดหมายกับคนฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อเมอร์ซิเออร์ อัลลิโอน (M. Allione) ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านนั้น คุณอัลลิโอนอ่านบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับไทยที่ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์ Le Monde เมื่อปี 1985 แล้วเลยเริ่มเขียนจดหมายติดต่อกับผมเรื่อยมา.
คุณอัลลิโอนบรรยายสภาพถนนมาให้ผมอ่านอย่างมีชีวิตชีวา จนผมรู้สึกราวกับว่าได้ไปเห็นมาด้วยตาตัวเองทีเดียว. เขายังได้บอกถึงเหตุผลที่มาของชื่อนี้มาด้วย, นั่นคือว่า ปราสาทหลังหนึ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือเมืองแซงต์มาร์เซลนั้น เป็นที่พำนักของอดีตผู้ว่าราชการเมืองบางกอก และเป็นแม่ทัพเรือในกองทัพเรือสยามในช่วงปี 1686-87 ด้วย. เพราะฉะนั้นเอง ถนนสายนี้จึงมีประวัติย้อนหลังกลับไปถึงรัชสมัยอันรุ่งเรืองของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อันเป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์อันดียิ่งต่อกัน.
บังเอิญพอดีกับที่ผมมีธุระที่จะต้องจัดการที่เมืองนิซ (Nice) กับเพื่อนๆ เมื่อเร็วๆ นี้. ดังนั้น ผมก็เลยถือโอกาสนี้ออกนอกทางไปมาร์ซายกับเพื่อนกลุ่มนั้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าผมอยากไปที่นั่นทำไม. จากนิซไปมาร์ซาย เราใช้ทางด่วนหมายเลข A50, พักกันที่นั่นคืนหนึ่งใกล้ๆ กับภัตตาคารขายบูยยาเบส (bouillabaisse) ที่ดีที่สุดของย่านท่าเรือเก่า, โดยมีบูยยาเบสหรือซุปปลานี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงแลกเปลี่ยนในการที่จะให้เขาขับรถพาผมไปดูถนนสยาม.
ถึงอย่างนั้นแล้วก็ตาม, พอวันรุ่งขึ้น บรรดาเพื่อนๆ ทั้งหลายก็ถูกเวสมนต์ไร่องุ่นแถวบองโดล (Bandol) ใกล้ๆ ตูลอง (Toulon) ทำลายความตั้งใจไปเสียจนได้. กระทั่งจนอีกวันหนึ่งนั่นแหละเพื่อนเขาจึงค่อยหันความสนใจกลับมาที่เรื่องราวของศตวรรษที่ 17 ที่ผมถือว่าสำคัญกว่า และยอมขับรถพาผมไปแซงต์มาร์เซล.
จากทางด่วน เรามุ่งเข้าสู่ทางหลวงชนบท, พยายามหาจุดหมายให้เจอ. เครื่องหมายบอกทางที่เหลือจะสลับซับซ้อนทำให้เราเข้าเส้นทางผิด, และหลังจากที่ขับย้อนกลับไปกลับมาอยู่หลายตลบในถนนที่รถราแน่นขนัดไปหมด ที่สุดเราก็มาถึงแซงต์มาร์เซล. (ผมไม่เข้าใจว่าทำไมรถของเพื่อนผมถึงไม่มีเครื่องนำทาง GPS!) ตามที่ผมค้นได้ใน Google Earth นั้น ถนนสยามจะอยู่ทางใต้ของ Boulevard Saint Marcel, ซึ่งเป็นทางสายหลักของเมือง.
การถามทางของพวกเราได้คำตอบเป็นนิ้วที่ชี้ไปคนละทางสองทาง เพราะบรรดาคนที่บอกทางเราพวกนั้นแทบจะไม่รู้เรื่องเมืองที่พวกเขาอยู่เอาเสียเลย ด้วยว่าเป็นพวกผู้อพยพมาจากแอฟริกาเหนือ. หลังจากขับรถย้อนกลับไปกลับมามากครั้งกว่าเมื่อครู่อีกหน่อย ท้ายที่สุดเราก็เจอป้ายเล็กๆ ชี้ทางไปถนนสยามเข้าจนได้ (ตรงนี้ป้ายเขียนผิดเป็น“Rue du Siam”).
ทางนั้นเป็นถนนแคบๆ หลบอยู่ตรงหัวมุมถนนใหญ่หลังร้านขายยาใกล้กับร้านขายหนังสือพิมพ์ชื่อ “Berrouba Ahmed” – ซึ่งก็บ่งชี้ว่าเป็นร้านของพวกชาวแอฟริกันเหนืออีกนั่นแหละ ป้ายถนนสยามนี้อยู่ใกล้กับโปสเตอร์ขนาดมหึมารูปสาวสวยผมสีบลอนด์โฆษณาสินค้า ซึ่งก็ออกจะฉุดกระชากลากเราออกจากอารมณ์ถวิลหาศตวรรษที่ 17 ได้. จากนั้นตรงไป ถนนก็ค่อยชันขึ้นไปยังจัตุรัสเก่ากลางเมือง ซึ่งตรงกลางจัตุรัสนั้นมีกางเขนเหล็กขึ้นสนิมตั้งอยู่.
ผมยืนเคว้งคว้างอยู่กลางจัตุรัสเก่านั้นเอง เพราะเครื่องหมายถนนสยามไม่มีให้เห็นที่ตรงไหนอีกเลย. ข้างหน้าของเรามีแผ่นป้ายถนนอยู่สองแผ่น เขียนว่า ถนน Rue Courencq (ถนนกูรองค์) กับ Rue de Nazareth (ถนนนาซาเรธ). มีทางเดินทางที่สามลาดลงไปทางขวามือ แต่ดูไม่เหมือนถนนเอาเสียเลย เพราะไม่ได้มีชื่ออะไรบอกไว้. กลุ่มคนแอฟริกันเหนือที่ยืนอยู่ใต้ไม้กางเขนถามว่าพวกเราจะหาอะไร. ผมก็ตอบไปว่า “ถนนสยาม”, แล้วก็อีกนั่นแหละ ผลก็คือการชี้ส่งไปคนละทิศคนละทางพร้อมๆ กัน.
ผมเลยตัดสินใจเดินลงไปตามทางที่ไม่มีชื่อบอกนั่นแหละ, ที่นี่อย่างน้อยที่สุดก็มีบ้านน่าชมอยู่บ้าง และมีถนนแคบๆ น่ารักที่มีชื่อเรียกว่า Transverse Notre Dame ให้ดู. ผมตกลงปลงใจเดินต่อไป. ทางเดินค่อยๆ ขยายออกไปเป็นลานกว้าง, แล้วก็นั่นเอง, บนกำแพงคอนกรีตทางซ้ายมือ, มีป้ายชื่อเดี่ยวๆ ว่า “Rue de Siam”.
ที่ว่ามาสอดคล้องต้องกันกับที่คุณอัลลิโอนเขียนบรรยายถนนนี้เอาไว้, เพราะเขาเขียนว่า : “ผ่านไม้กางเขน, ถนนลาดลงไปทางทิศเมืองมาร์ซายอีกหกสิบเมตร จนมาถึงที่ลุ่มมีน้ำขัง แล้วก็ชันขึ้นไป. จากตรงนี้ไปราวๆ สิบห้าเมตร ถนนจะเป็นบันไดขึ้นไปยังสุสาน…” จริงๆ แล้ว ถนนที่เป็นขั้นบันไดนี้ไปบรรจบกับ Traverse de Raymonds ซึ่งเป็นอีกตรอกหนึ่งที่จะพาย้อนกลับไป Boulevard Saint Marcel. สำหรับผม มันเป็นเหมือนภาพที่เคยเห็นมาก่อนแล้ว -deja vu- แท้ๆ ทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะจดหมายที่ได้เขียนติดต่อกับคนฝรั่งเศสนั้นเอง.
เพื่อนร่วมทางของผมชักเหนื่อย เราก็เลยแวะพักกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งตรงปลายถนนสยามที่เราได้เลี้ยวเข้ามาแต่แรก. (สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย : นี่เป็นที่ที่ควรจะลงทุนซื้อไว้ และปรับปรุงทำให้ดูดีขึ้นหน่อย เพราะจะต้องมีกำไรแน่ๆ จากนักท่องเที่ยวชาวไทย!) ไวน์แดงบองโดลขวดหนึ่งกับอาหารง่ายๆ ช่วยฟื้นฟูพละกำลังให้เราไว้ใช้เดินสำรวจช่วงที่สองต่อไป, นั่นคือ การไปเยือนปราสาทของอดีตผู้ว่าราชการบางกอกและแม่ทัพเรือสยามแห่งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ.
ปราสาทโบราณหลังนั้นอยู่ไม่ไกลจากถนนสยามนัก. Traverse de Cavillon ซึ่งเป็นซอยแยกออกไปจาก Boulevard Saint Marcel พาเราขึ้นไปบนเนินจนถึงประตูเหล็กสีเขียวที่ใส่กุญแจไว้. “นั่นคือปราสาทเก่าแก่” ชายที่อยู่บ้านติดกับทางเข้าปราสาทบอกเราว่าผ่านเข้าไปข้างในไม่ได้ และเขาก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือเราอย่างไรได้.
ที่จริงผมรู้อยู่แล้วว่าปราสาทมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรจากภาพที่คุณอัลลิโอนส่งมาให้. ภาพนั้นเป็นภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์เก่าแก่ของท้องถิ่นชื่อ “Le Provencal”, เป็นภาพแสดงลักษณะปัจจุบันของตัวปราสาทที่สร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งหมดในปี 1862 บนฐานรากเดิม ซึ่งนับย้อนหลังไปได้ถึงปี 1450. ว่ากันว่า ออกพระศักดิสงคราม, ผู้ครองปราสาทหลังนี้ในศตวรรษที่ 17 ยังเป็นเจ้าของปราสาทอีกสองหลังในย่านนี้ด้วย.
ปราสาทที่แซงต์มาร์เซลนั้นสามารถค้นหาได้ใน Google Earth และคุณก็สามารถค้นชื่อออกพระจาก Google ได้ด้วย. อันที่จริง ออกพระผู้นี้ได้เขียนบันทึกความทรงจำเรื่องการมาอยู่ในสยามและรับราชการในสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไว้เอง ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ 1730 ก็ได้มีการตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนังสือที่เมืองอัมสเตอร์ดัม.
อย่างไรก็ตาม, ถ้าคุณต้องการจะค้นหาใน internet คุณจะต้องใส่ชื่อฝรั่งเศสของเขาเข้าไป, ชื่อนั้นคือ “Le Comte de Forbin”.
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552 ชื่อบทความว่า “ท่องถนนสยามในฝรั่งเศส” เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2564 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ