ไลฟ์สไตล์

อยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ: ศัพท์และสำนวนสำหรับเรื่องที่พูดไม่ได้-ไม่ได้พูด

The Momentum
อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 07.45 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2562 เวลา 10.05 น. • อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ

In focus

  • Elephant in the room สำนวน 'ช้างในห้อง' เปรียบได้กับประเด็นร้อนที่ทุกคนต่างไม่พูดถึง เป็นเหมือนช้างตัวเบ้อเร่อที่ไม่มีทางที่คนในห้องจะมองไม่เห็นแต่ไม่มีใครเอ่ยถึง
  • คำว่า gag โดยปกติแล้วมักใช้เป็นคำกริยา หมายถึง ใช้สิ่งของอุดปากเพื่อให้ส่งเสียงไม่ได้ หรือหากใช้เป็นคำนาม ก็จะหมายถึงสิ่งที่นำมาอุดปากเพื่อไม่ให้ส่งเสียงได้ คำนี้ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่มีคนถูกอุดปากจริงๆ แต่นำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้เพื่อพูดถึงการปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงสิ่งสิ่งหนึ่ง
  • หากมีใครมาถามคำถามเรา แล้วเราไม่อยากตอบเพราะคำตอบจะทำให้รู้ว่าเราทำอะไรน่าอับอาย ฉาวโฉ่ หรือทำสิ่งที่ไม่ดี เราก็อาจพูดว่า I plead the fifth. ซึ่งแปลแบบไทยๆ ได้ทำนองว่า ขอใช้สิทธิ์ไม่ตอบ

อยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ บอกให้เธอฟังไม่ได้สักคำ

    เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกแบบนี้บ่อยเป็นพิเศษในสภาวะสังคมที่แลดูจะมีความกลัวแผ่ปกคลุมอยู่เช่นนี้ คืออัดอั้นอยากระบายความคับข้องใจหรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพและเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ตั้งแต่คุณภาพชีวิตไปจนถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่กล้าปริปากเอื้อนเอ่ยออกมา เพราะเกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ถูกตีขลุมตราหน้าว่าเป็นคนชังชาติ หรือถึงขนาดถูกกลั่นแกล้งจนติดคุกติดตาราง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนและศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพูดไม่ได้ ทั้งที่ถูกห้ามไม่ให้พูด เลือกที่จะไม่พูด และอึ้งจนพูดไม่ออก

Elephant in the room

เรื่องบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นเหมือนๆ กันหมด แต่ไม่มีใครพูดอะไร ต่างฝ่ายต่างทำเป็นมองไม่เห็นทั้งที่เห็นกันอยู่ตำตา เพราะไม่อยากจะกวนน้ำให้ขุ่นหรือสร้างความบาดหมาง ในกรณีแบบนี้ ภาษาอังกฤษจะใช้สำนวนว่า elephant in the room หรือ ช้างในห้อง คือเปรียบเทียบประเด็นร้อนที่ทุกคนต่างไม่พูดถึงเป็นเหมือนช้างตัวเบ้อเร่อที่ไม่มีทางที่คนในห้องจะมองไม่เห็นแต่ไม่มีใครเอ่ยถึง ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนกลับมารวมตัวกันในงานเลี้ยงรุ่นแล้วปรากฏว่ามีเพื่อนคนหนึ่งไปทำจมูกมา แต่ไม่มีใครเอ่ยอะไรเพราะไม่รู้ว่าควรจะทักไหม กลัวเดี๋ยวเจ้าตัวจะเขิน ก็เลยทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า No one talked about the elephant in the room, which was her nose job.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Gag

คำว่า gag โดยปกติแล้วมักใช้เป็นคำกริยา หมายถึง ใช้สิ่งของอุดปากเพื่อให้ส่งเสียงไม่ได้ (เช่น bound and gagged ก็คือ ถูกมัดและอุดปาก) หรือหากใช้เป็นคำนาม ก็จะหมายถึงสิ่งที่นำมาอุดปากเพื่อไม่ให้ส่งเสียงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำนี้ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่มีคนถูกอุดปากจริงๆ แต่นำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้เพื่อพูดถึงการปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงสิ่งสิ่งหนึ่ง เช่น The government is trying to gag the press. ก็จะหมายถึง รัฐบาลพยายามปิดปากสื่อไม่ให้รายงานข่าว ในกรณีนี้ความหมายจะคล้ายคำว่า silence หรือ muzzle (ปกติหมายถึงตะกร้อรัดปากหมา) หรือหากจะเขียนเป็นคำนามก็คือ a press gag

คำว่า gag นี้ยังไปปรากฏอยู่ในคำว่า gag order ด้วย (ฝั่งอังกฤษเรียก gagging order) หมายถึง คำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูล โดยปกติแล้วจะใช้กับคำสั่งที่ศาลเป็นผู้ออก โดยจะออกคำสั่งลักษณะนี้ในกรณีที่คดีเกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าหรือปฏิบัติการลับของตำรวจหรือทหารเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลออกไปและเกิดความเสียหาย ถ้ามีผู้ที่ได้รับคำสั่งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูล เราก็อาจจะพูดว่า They were slapped with a gag order.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่หากเป็นข้อความในสัญญาที่ระบุไม่ให้ลูกจ้างนำข้อมูลออกไปแพร่งพรายหรือเปิดเผยแก่บุคคลที่สาม แบบนี้ก็มักจะเรียกว่า gag clause (ฝั่งอังกฤษเรียก gagging clause) เช่น ถ้าเจ้าของร้านก๋วยจั๊บเก่าแก่กลัวสูตรลับอายุ 50 ปีจะรั่วไหล ก็อาจจะระบุในสัญญาว่าจ้างว่าห้ามนำรายการวัตถุดิบลับไปบอกใคร หรือหากบริษัทกลัวว่าพนักงานจะ นำความฟอนเฟะภายในบริษัทไปแพร่งพรายจนบริษัทเสียชื่อเมื่อถูกไล่ออก ก็อาจจะใส่ gag clause ในสัญญาว่าจ้าง (ส่วนสัญญาที่ร่างขึ้นมาเพื่อห้ามไม่ให้ผู้ที่เซ็นเปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะเรียกว่า non-disclosure agreement หรือ confidentiality agreement)

Hold my tongue

Hold ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า จับหรือถือ แต่หมายถึง หยุด ระงับ ส่วน tongue หรือลิ้นก็เป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดการจา ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึงการยับยั้งชั่งใจไม่พูดสิ่งที่อยากพูดออกไป อาจเพราะกลัวว่าจะส่งผลเสียกับตนเองหรือเพราะกลัวว่าจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนก็ได้ แปลแบบไทยๆ ได้ว่า ยั้งปาก เช่น I wanted to tell her so bad that her boyfriend was cheating on her, but I decided to hold my tongue. แบบนี้ก็จะแปลว่า คันปากอยากบอกมันมากว่าแฟนมันนอกใจมัน แต่ตัดสินใจยั้งปากไม่พูดออกไป

อีกสำนวนหนึ่งที่ใกล้เคียงกันก็คือ bite my tongue ซึ่งหากแปลตรงตัวว่ากัดลิ้นอาจจะเข้าใจว่าพยายามกัดลิ้นฆ่าตัวตายแบบในหนังจีน แต่อันที่จริงแล้วหมายถึงต้องกัดลิ้นเพื่อไม่ให้หลุดปากพูดบางสิ่งบางอย่างออกไป เช่น When he told the crowd that it was him who initiated the project, I bit my tongue. หมายถึง ตอนเขาประกาศต่อธารกำนัลว่าตนเป็นคนริเริ่มโครงการ ผมข่มใจอดกลั้นไม่พูดอะไรออกไป

นอกจากนั้น หากใครเคยเห็นงานแต่งงานในโบสถ์ของชาวคริสต์ในหนัง อาจเคยได้ยินประโยคที่บาทหลวงพูดก่อนประกาศให้คู่บ่าวสาวเป็นคู่สามีภรรยากันว่า หากใครมีเหตุผลว่าทำไมคู่บ่าวสาวไม่ควรได้แต่งงานกัน ให้ Speak now or forever hold your peace. หรือพูดออก ณ บัดนี้ มิเช่นนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องดังกล่าวอีก Hold your peace. ในที่นี้ก็คล้ายๆ กับ hold your tongue หมายถึง ให้เงียบไว้นั่นเอง

Hush money

หากเรามีหลักฐานว่านักการเมืองท่านหนึ่งใช้เงินแลกตำแหน่งทางการเมืองมา แล้วนักการเมืองคนนี้นำเงินมาเสนอให้แก่เราเพื่อแลกกับการปิดเรื่องนี้เป็นความลับ เงินแบบนี้จะเรียกว่า hush money หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า ค่าปิดปาก มาจากคำว่า hush ที่หมายถึง การให้เงียบลง เช่น Trump was accused of paying hush money to a porn actress that he allegedly had an affair with. ก็คือ ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าได้จ่ายเงินค่าปิดปากให้แก่ดาราหนังโป๊ที่ว่ากันว่าเคยคบชู้กัน

ส่วนถ้าพูดว่า hush up จะหมายถึง พยายามปิดข่าว ทำให้ข่าวซาลงและหายไปเอง เช่น หากมีการสืบสวนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร แต่ผู้บริหารกลัวว่าจะเป็นข่าวใหญ่โตจนองค์กรเสียชื่อเสียง จึงเลือกใช้วิธีสอบสวนและลงโทษแบบเงียบๆ แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า The sexual harassment case was hushed up by the board.

Plead the fifth

หากมีใครมาถามคำถามเรา แล้วเราไม่อยากตอบเพราะคำตอบจะทำให้รู้ว่าเราทำอะไรน่าอับอาย ฉาวโฉ่ หรือทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น เพื่อนสนิทถามว่าเราเคยมีเซ็กซ์บนเครื่องบินไหมแล้วเราไม่อยากตอบว่าเคย แทนที่จะตอบคำถาม เราก็อาจพูดว่า I plead the fifth. ซึ่งแปลแบบไทยๆ ได้ทำนองว่า ขอใช้สิทธิ์ไม่ตอบ

สำนวนนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาสำนวนนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ในบทบัญญัติแก้ไขข้อที่ห้า (the Fifth Amendment) ระบุไว้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ไม่ให้การหรือตอบคำถามที่จะปรักปรำตัวเอง ปกติแล้ว I plead the fifth. เป็นประโยคที่ใช้ในศาลในกรณีที่จำเลยเลือกไม่ตอบคำถามเพราะอาจเข้าข่ายปรักปรำตัวเองได้ แต่ไปๆ มาๆ คนก็ยืมออกมาใช้นอกศาลในชีวิตประจำวันเพื่อเลี่ยงไม่ตอบคำถามที่หากตอบไปแล้วอาจทำให้ตนเองมัวหมอง

Cat got your tongue.

สำนวนนี้แน่นอนว่าไม่ได้มีแมวมาที่ไหนมาเอาลิ้นใครไปจริงๆ แต่หมายถึง พูดไม่ออก อาจเพราะกลัวมากหรืออึ้งกิมกี่ เช่น สมมติว่าพนักงานยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่ได้ขโมยของในออฟฟิศ แต่ฝ่ายนายจ้างงัดหลักฐานเทปกล้องวงจรปิดมาเปิดให้เห็นแบบจะๆ จนทำเอาขโมยหัวแข็งพูดไม่ออก แบบนี่ฝ่ายนายจ้างก็อาจจะพูดว่า Cat got your tongue. ก็คือ เอ้า พูดอะไรไม่ออกเลยเหรอ

ส่วนที่ว่าทำไมแมวถึงมาเกี่ยวกับลิ้นและการพูดไม่ออกนั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะชาวอียิปต์โบราณลงโทษคนให้การเท็จหรือพูดจาบจ้วงพระผู้เป็นเจ้าด้วยการตัดลิ้นแล้วโยนให้แมวกิน แต่บ้างก็ว่าเป็นเพราะในกองทัพเคยมีการลงโทษทหารเรือที่ทำผิดด้วยแส้เก้าหางเรียกว่า cat-o’-nine-tails ซึ่งแสนเจ็บปวดทรมาน ใครที่โดนพิษสงแส้นี้เข้าไปก็จะถึงขนาดพูดอะไรไม่ออกไปอีกหลายวัน แต่บ้างก็ว่าสำนวนนี้มีที่มาจากยุคกลางที่ว่า หากใครเจอแม่มดเข้า แม่มดจะให้แมวดำซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงคู่กายมาขโมยลิ้นไป เพื่อจะได้นำไปบอกใครต่อไม่ได้ว่าได้พบเจอแม่มด

ทั้งนี้ อีกสำนวนที่ความหมายคล้ายกันก็คือ tongue-tied ให้ภาพว่าลิ้นพันผูกเป็นปมจุกอยู่ในปาก ใช้หมายถึงพูดไม่ออกเช่นกัน

Speechless

นอกจากคำและสำนวนที่พูดถึงไปแล้วด้านบน ในภาษาอังกฤษยังมีคำอีกกลุ่มหนึ่งที่แปลว่า พูดไม่ออก หมดคำพูด ที่สร้างด้วยการเอาคำที่เกี่ยวกับการพูดมาเติมส่วนเติมหน้าหรือเติมหลังเป็นปฏิเสธ เช่น speechless เป็นต้น

คำในกลุ่มนี้แม้สร้างด้วยวิธีคล้ายกัน แต่ว่ามีเฉดความหมายต่างกันไป คืออาจมีความหมายออกไปในเชิงบวก หมายถึง ดีงามเกินพรรณนาอย่าง indescribable (เช่น indescribable feeling ในเพลง A Whole New World) หรือมีความหมายไปในแง่บวกหรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบท (อาจจะอึ้งจนพูดไม่ออกเพราะสิ่งที่เห็นนั้นดีงามเกินคาด ไม่ก็ชวนโกรธจนตัวสั่นพูดอะไรไม่ออก) เช่น speechless หรือ ineffable (มาจากคำว่า effable ที่แปลว่า เอื้อนเอ่ยออกมาได้ รวมกับส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ไม่) แต่บางพวกก็มีความหมายไปในเชิงลบเป็นหลัก เช่น unspeakable (เช่น He did unspeakable things to me. หมายถึง เขาทำสิ่งเลวร้ายเกินบรรยายกับฉัน) หรือ unmentionable (เช่น unmentionable disease คือ โรคที่เลวร้ายน่าอับอาย)

ทั้งนี้ เนื่องจากคนเราไม่นิยมพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับชุดชั้นในโดยโจ่งแจ้ง ดังนั้น คำว่า unmentionable  จึงถูกนำมาใช้เป็นคำนาม (ปกติใช้ในรูปพหูพจน์) หมายถึง ชุดชั้นใน กางเกงใน ได้อีกด้วย

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jack, Albert. Black Sheep and Lame Ducks: The Origins of Even More Phrases We Use Every Day. A Perigee Book: New York, 2005.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Fact Box

  • อันที่จริงแล้ว อีกคำที่มีที่มาแปลว่าพูดไม่ได้ คือคำว่าinfant มาจากคำว่า infantem ในภาษาละติน แปลว่า ทารก ประกอบขึ้นจาก in- ที่แปลว่าไม่ รวมกับ fans ที่มาจากรากที่แปลว่า พูด นั่นก็เพราะทารกพูดไม่ได้
  • แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า infantry ที่แปลว่า ทหารเท้า ก็พัฒนามาจาก infant อีกที ไม่ใช่เพราะทหารไม่หือรือหรือไม่มีสิทธิ์เสียงในการพูดแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะคำว่า infantem มีความหมายว่า คนวัยหนุ่มสาว ได้ด้วย (ทำนองว่าเทียบกับผู้แก่ผู้เฒ่าแล้ว เด็กหนุ่มสาวก็เหมือนทารกไร้เดียงสา) ด้วยความที่ทหารใหม่ส่วนใหญ่ก็เกณฑ์จากคนหนุ่ม คำว่า infantem จึงถูกนำมาใช้เรียกทหารเท้าและพัฒนามาจนกลายเป็น infantry ในที่สุด
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Woody Ratthapont
    🐸🐸🐸
    19 ต.ค. 2562 เวลา 12.32 น.
  • Pat Pat
    สำนักนี้มักจะมีบทความแนวชังชาติออกมาให้เห็นอยู่เป็นระยะ
    19 ต.ค. 2562 เวลา 12.15 น.
ดูทั้งหมด