ไลฟ์สไตล์

วิกฤต นักศึกษาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ลดลง 10-15%

Campus Star
เผยแพร่ 14 ม.ค. 2562 เวลา 06.56 น.
แนวโน้มเป็นเช่นนั้น นักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลงตามจำนวนประชากร ตัวเลขนักศึกษาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ลดลง

นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยกรณี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่าตัวเลขการรับนักศึกษาเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศลดลง 10-15%

ขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในต่างจังหวัด บางแห่งลดลงมากถึง 30% เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะลดลงมากกว่านี้ว่า ตัวเลขการรับนักศึกษาลดลงจริง ส่วนจะลดลงเท่าไหร่อยู่ระหว่างหาข้อมูลตัวเลขมายืนยัน อย่างข้อมูลตัวเลขจาก ทปอ.จำนวนนักเรียนที่เข้าลงทะเบียนออนไลน์สมัครในระบบการคัดเลือกบุคคลกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 หรือทีแคส มีที่นั่งมีเกือบ 4 แสนที่นั่ง แต่มียอดนักเรียนลงทะเบียนไม่ถึง 3 แสนคน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจำนวนนักศึกษาลดลง 10-15%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นักศึกษาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ลดลง

จำนวนนักศึกษาที่ลดลงสาเหตุมาจาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จำนวนประชากรเกิดลดลงเด็กบางส่วนไม่เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาเพราะต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือต้องการทำงานหาประสบการณ์ก่อน หรือเพราะวิกฤตเศรษฐกิจของครอบครัว เป็นต้น และปัจจุบันมีทางเลือกเรียนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษานอกระบบ ทำให้นักศึกษาเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยลดลง

“ในส่วนของ 9 มทร.ได้หารือถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ โดย 9 มทร.เริ่มปรับตัวตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เพราะสัญญาณนักศึกษาลดลงไม่ได้เพิ่งมาเกิดวันนี้ แต่ส่งสัญญาณกันมานานแล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีหลักสูตรที่ทันสมัย จัดสอนหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์อาชีพใหม่ อย่าง มทร.ธัญบุรี ไม่รับพนักงานเพิ่มมา 1-2 ปีแล้ว และปรับตัวโดยส่งอาจารย์ไปฝึกอบรม สร้างทักษะใหม่ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเปิดสอนหลักสูตรทันสมัย อาจารย์อาจเปลี่ยนหน้าที่โดยทำงานวิจัย และงานวิชาการเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น”

นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แนวโน้มเป็นเช่นนั้น นักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลงตามจำนวนประชากร ซึ่งมีเรื่องที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือ ในแผนนโยบายของรัฐบาล ต้องการให้นักเรียนเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น 60% แต่ขณะนี้มีไม่ถึง 40% ถ้านโยบายนี้ประสบความสำเร็จ สามารถดึงนักเรียนเข้าเรียนอาชีวะได้ 60% มหาวิทยาลัยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นแน่นอน

มองว่าถึงเวลาที่ต้องมารื้อระบบกันใหม่ ทบทวนว่าการแยกอุดมศึกษา และอาชีวะออกจากกันเป็นเรื่องดีหรือไม่ มองว่าทั้ง 2 ส่วนนี้มีหน้าที่เหมือนกันคือ ผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการวิจัยเพื่อหาความรู้ ฉะนั้น การที่ประเทศไทยแยกอาชีวะและอุดมศึกษาออกจากกัน ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก

“ผมเคยเสนอข้อคิดเห็นแล้วว่าการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรควบรวมอาชีวศึกษาเข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้ หาก 2 ส่วนนี้ไม่ถูกบริหารงานภายใต้เนื้อเดียวกันจะลำบาก เพราะไม่สามารถบริหารงาน และผสมผสานเนื้อหาทางวิชาการร่วมกันได้” นายภาวิชกล่าว

ปัจจุบันการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของแต่ละแห่ง

ไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพราะขณะนี้เปิดรับเสรี มหาวิทยาลัยอยากรับเท่าไหร่ก็เปิดรับได้เรื่อยๆ กลายเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีชื่อเสียง เปิดรับนักศึกษาจำนวนมาก ทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก อาจถึงขั้นปิดตัวลง หากทุกมหาวิทยาลัยวางแผนร่วมกัน จัดสรรจำนวนนักเรียนให้ลงมาสู่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กบ้าง จะทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กอยู่รอดได้ แต่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กต้องไปพิจารณาคุณภาพทางวิชาการด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนได้

“ผลที่ตามมาจากการที่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่รับนักศึกษาไม่จำกัด คืออาจารย์มีภาระงานสอนเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักเรียน ทำให้เวลาสอนรุกล้ำเวลาในการทำงานวิจัย ทำให้งานวิจัยอ่อนลง กลายเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะจากงานวิจัยที่แย่ ทำให้อันดับมหาวิทยาลัยของไทยแย่ตามไปด้วย เนื่องจากเกณฑ์หนึ่งของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย คือดูเรื่องงานวิจัยว่ามหาวิทยาลัยได้สร้างความรู้ให้กับสังคมมากแค่ไหน ดังนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป อันดับของมหาวิทยาลัยไทยจะแย่ลงตามไปด้วย” นายภาวิชกล่าว

นายภาวิชกล่าวอีกว่า

ที่มหาวิทยาลัยบางแห่งต้องปรับลดพนักงานและเจ้าหน้าที่เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยจะปรับลดพนักงาน เพราะสอดคล้องกับระบบบริหารบุคคลในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นข้าราชการ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหมดแล้ว ทำให้คนออกจากงานง่ายมาก และปัจจุบันบางมหาวิทยาลัยเริ่มทำสัญญากับพนักงานเพิ่มเติม นอกเหนือจากข้อกำหนดทั่วไป

โดยเพิ่มเงื่อนไขว่าเมื่อหมดภาระงาน หรือไม่มีภาระงาน หรือเมื่อใดที่มหาวิทยาลัยปิดสอนหลักสูตรใด เป็นเหตุให้เลิกจ้างโดยอัตโนมัติ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยไม่สามารถร้องเรียนได้ เพราะถูกใส่อยู่ในสัญญาแล้ว มองว่าถึงเวลาที่อุดมศึกษาควรจะหันหน้ามาระดมความคิดร่วมกัน ว่าจะช่วยกันผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างไร

ข่าวจาก pr.rmutt.ac.th

บทความอื่นๆ เกี่ยวกับ มทร.

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • การศึกษาไทย เรียนไปเพื่อเป็นลูกจ้าง(ที่ดี?)
    14 ม.ค. 2562 เวลา 08.20 น.
  • ส.โอม(มทบ.31)
    เรียนแล้วตกงาน
    14 ม.ค. 2562 เวลา 14.20 น.
ดูทั้งหมด