ต่างประเทศ

IMF เตือนเศรษฐกิจโลกโตแบบค่อนข้างอ่อนแอ ความเสี่ยงทางการเงิน-การคลังยังมาก

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 07 ต.ค. 2566 เวลา 08.13 น. • เผยแพร่ 06 ต.ค. 2566 เวลา 08.47 น.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยเศรษฐกิจโลกมีโอกาสรอดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การเติบโตของเศรษฐกิจยังค่อนข้างอ่อนแอ เงินเฟ้อในหลายประเทศยังจะสูงกว่าเป้าหมายต่อไป และดอกเบี้ยยังคงต้องสูงต่อไป ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินและการคลังยังมีมาก

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2023 คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า อุปสงค์ที่แข็งแกร่งในภาคบริการ และความคืบหน้าในการลดอัตราเงินเฟ้อ ได้เพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถหลีกหนีจากภาวะถดถอยได้ แต่ความเสี่ยงทางการคลังและการเงินก็ยังคงมีอยู่มาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จอร์เจียวาซึ่งกำลังเตรียมเวทีสำหรับการประชุมร่วมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (WorldBank) ในสัปดาห์หน้ากล่าวว่า ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 ส่งผลให้ผลผลิตทั่วโลกลดลง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 และแนวโน้มการเติบโตในระยะกลางก็อ่อนแรงลงไปอีก

อัตราเงินเฟ้อที่ดื้อรั้น ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยจะต้อง “สูงต่อไปอีก” และการแตกแยกกระจายตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอย่างหนักที่สุด

จอร์เจียวาบอกว่า รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับใหม่ของ IMF ซึ่งจะเผยแพร่ออกมาในวันอังคารที่ 10 ตุลาคม จะฉายให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวที่ช้าและไม่สม่ำเสมอ โดยมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เศรษฐกิจโลกแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรับมือวิกฤตและการฟื้นตัวจากวิกฤต (resilience) ได้อย่างน่าทึ่ง และครึ่งแรกของปี 2023 ก็มีข่าวดีด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะอุปสงค์ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ รวมถึงในภาคการบริการ และความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ” จอร์เจียวาระบุในคำกล่าวที่เตรียมไว้

“นี่เป็นการเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะลงจอดอย่างนุ่มนวล (soft landing) แต่เราก็ไม่สามารถลดการ์ดของเราลงได้”

ถึงอย่างนั้น กรรมการผู้จัดการ IMF ก็บอกอีกว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน “ค่อนข้างอ่อนแอ” ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 ที่เติบโตเฉลี่ย 3.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในบางประเทศน่าจะยังสูงกว่าเป้าหมายต่อไปถึงปี 2025

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“การต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง” จอร์เจียวากล่าว และบอกอีกว่า ราคาสินค้าและบริการที่สูงจะบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน และส่งผลกระทบอย่างลำบากที่สุดต่อกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในสังคม

“การจะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้นั้น จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกนาน”

“ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การหลีกเลี่ยงการผ่อนคลายนโยบาย (การเงิน) ก่อนเวลาอันควร เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะฟื้นขึ้นอีก”

จอร์เจียวาเตือนว่า ความคาดหวังว่าจะสามารถนำเศรษฐกิจลงจอดอย่างนุ่มนวลได้นั้น ช่วยเพิ่มราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ แต่การฟื้นตัวกลับอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้ออาจนำไปสู่ภาวะทางการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้นอีก

ข้อความบอกสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อึมครึมของกรรมการผู้จัดการ IMF มีขึ้นไม่กี่วันก่อนที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารกลางจาก 190 ประเทศจะไปมารวมตัวกันในการประชุมร่วมประจำปี 2023 ของธนาคารโลกและ IMF ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก ในระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2023 เพื่อหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญ

จอร์เจียวาเน้นย้ำถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของพลวัตการเติบโต โดยตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักเพียงประเทศเดียวที่ได้เห็นผลผลิตกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 ขณะที่มีอินเดียและไอวอรีโคสต์เป็นจุดสว่างอีกเพียงไม่กี่แห่ง

ส่วนประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อีกหลายประเทศกำลังดิ้นรนกับภาวะการเติบโตอย่างเบา ๆ จาง ๆ

การแตกแยกกระจายตัวทางเศรษฐกิจจะบ่อนทำลายโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

ตอนนี้หลายประเทศยังเผชิญกับความเสี่ยงในทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้าง buffer ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินขึ้นมาใหม่ ขณะที่แอฟริกาและภูมิภาคอื่น ๆ ก็กำลังเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอีก

จอร์เจียวากล่าวอีกว่า ธนาคารต่าง ๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันและเสียงเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างโครงข่ายความมั่นคงทางการเงิน (financial safety net) ซึ่งการวิเคราะห์ของ IMF แสดงให้เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และมีรายได้น้อยจำนวน 100 ประเทศ รวมถึงประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่ขาดทรัพยากรที่เพียงพอและขาดการเข้าถึง Swap Line ทำให้ประเทศเหล่านั้นตกอยู่ในความเสี่ยงในกรณีที่เกิดวิกฤตทางการเงิน

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้จัดหาเงินทุนประมาณ 320,000 ล้านดอลลาร์ให้กับ 96 ประเทศนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ยังจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการกู้ยืมให้แก่ประเทศเหล่านั้นด้วย ซึ่งจอร์เจียวาเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อเพิ่มทรัพยากรสำหรับการให้กู้ยืมเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ IMF ยังเรียกร้องให้สมาชิกกองทุน “Poverty Reduction and Growth Trust” และกองทุน “Resilience and Sustainability Trust” ที่มีความแข็งแกร่งจัดหาเงินทุนเข้ากองทุนเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนเข้าถึงเงินทุน

ดูข่าวต้นฉบับ