ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ โคตรคูล-กู๊ดเดย์ ติดอันดับ บริษัทในฝันเด็กเจนใหม่

MATICHON ONLINE
อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว

‘เวิร์คเวนเจอร์’ เผยผลโหวต ’50 บริษัทในฝันของคนรุ่นใหม่’ กูเกิล ครองแชมป์ 5 ปีซ้อน เอสซีจี-ปตท. ขึ้นแท่นอันดับ 2-3 ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ โคตรคูล-กู๊ดเดย์ ฮอต

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายเย็นส์ โพลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด กล่าวว่า Top 50 Companies in Thailand จัดทำขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกผ่านการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ โดยให้มีการระบุองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านแบรนด์นายจ้าง และได้รับการจดจำในฐานะองค์กรอันดับต้น (Top-of-Mind) รวมทั้งปัจจัยที่ช่วยดึงดูดและสร้างความพึงพอใจให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 12,559 คน อายุ 22-35 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยไม่จำกัดเพศของผู้ตอบแบบสำรวจ สำรวจเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2567

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“Top 50 Companies in Thailand เป็นการสำรวจที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากองค์กรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศว่ามีความน่าเชื่อถือที่สุด การมอบรางวัลนี้ยังถือเป็นการยกย่ององค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมในการสร้างประสบการณ์และสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าร่วมงานด้วยที่สุด” นายเย็นส์กล่าว

จากการวิเคราะห์ผลสำรวจ Top 50 Companies in Thailand 2025 พบประเด็นที่น่าสนใจหลายด้าน โดยบริษัทที่ติดอันดับในปีนี้ส่วนใหญ่มีจุดเด่นในการใช้ โซเชียลมีเดีย และการสร้าง พื้นที่สื่อ รวมถึง คอนเทนต์ของตนเอง เพื่อเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ โดยสามารถถ่ายทอดบรรยากาศการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร และชีวิตการทำงาน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ขึ้น เช่น โคตรคูล กู๊ดเดย์ และ เดอะสแตนดาร์ด ซึ่งมีพื้นที่สื่อที่แข็งแกร่งของตนเอง นอกจากการผลิตคอนเทนต์ทั่วไปแล้ว ยังมีคอนเทนต์ที่สะท้อนชีวิตการทำงานในองค์กร ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัทที่ติดอันดับหลายแห่งยังมีการนำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงานอย่างจริงจัง หรือเป็นผู้นำด้าน Digital Transformation ซึ่งสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ในปีที่ผ่านมา การชูจุดเด่นด้านการใช้ AI และการมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ช่วยดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เอสซีบีเอ็กซ์ ซึ่งมุ่งสู่การเป็น AI-first Organization รวมทั้ง กูเกิล บริษัทระดับโลกที่พัฒนา AI Chatbot ชื่อดังอย่าง Gemini

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะเดียวกัน บริษัทที่แสดงถึงความ ใส่ใจต่อสังคม ก็ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เช่นกัน เพราะการได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ไม่ได้เน้นเพียงผลกำไร แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่า ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ เอสซีจี และ ปตท. ซึ่งติดอันดับทุกปี ด้วยชื่อเสียงและความเป็นผู้นำด้านกิจกรรมเพื่อสังคมที่ชัดเจน ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อชุมชนขององค์กรเหล่านี้ จึงสอดคล้องกับค่านิยมและความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน

เมื่อวิเคราะห์ถึง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ติดอันดับมากที่สุดในปี 2568 พบว่า

อันดับ 1 ได้แก่ FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ซึ่งครองพื้นที่อันดับ 1 ต่อจากปี 2567 โดยมีบริษัทติดอันดับถึง 9 บริษัท ได้แก่ ไทยเบฟ ยูนิลีเวอร์ มิตรผล โอสถสภา สหพัฒน์ ซันโตรี่เป๊ปซี่โค พีแอนด์จี บุญรอดบริวเวอรี่ ยูนิชาร์ม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อันดับ 2 ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงิน มีบริษัทติดอันดับ 8 บริษัท ได้แก่ เอสซีบีเอ็กซ์ เคแบงก์ บิตคับ เอสซีบี กรุงศรี กรุงไทย อีวาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ

อันดับ 3 ได้แก่ ธุรกิจบันเทิงและสื่อ มีบริษัทติดอันดับ 6 บริษัท ได้แก่ เน็ตฟลิกซ์ โคตรคูล ติ๊กต็อก เดอะสแตนดาร์ด อาร์เอส กู๊ดเดย์

อีกหนึ่งความน่าสนใจจากการสำรวจในปีนี้ คือมี บริษัทหน้าใหม่ที่เข้ามาติดอันดับ ได้แก่ กู๊ดเดย์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป กัลฟ์ และมี บริษัทที่กลับมาติดอันดับอีกครั้ง ได้แก่ อีวาย พีทีจีเอ็นเนอยี การบินไทย เอพี ไทยออยล์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายเย็นส์กล่าวเพิ่มเติมว่า งานประกาศผลและมอบรางวัล Top 50 Companies in Thailand 2025 เป็นเวทีสำคัญที่ได้รวมผู้บริหารระดับสูง และทีมทรัพยากรบุคคลจากองค์กรชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อฉลองความสำเร็จและยกระดับมาตรฐานในแวดวงธุรกิจ ภายในงานยังมีปาฐกถาพิเศษโดย คุณคริสเตียน แดสสันวิลล์ Country HR Manager อิเกีย ประเทศไทย ที่มาบรรยายในหัวข้อ Building a Global Employer Brand with Local Heart: IKEA Thailand’s Journey to Inspire the Workforce of Tomorrow ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซีบี เอกซ์ บรรยายในหัวข้อ AI-First Begins with People: Transforming People and Culture for the Future of Work และ คุณอรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กู๊ดเดย์ ออฟฟิสเชียล บรรยายในหัวข้อ GoodDay: A Small Brand with a Big Heart – Inspiring the Next Generation to Work with Purpose ซึ่งการบรรยายครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดมุมมองใหม่ในการสร้างแบรนด์นายจ้างได้เป็นอย่างดี

นายจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการสร้างแบรนด์องค์กรนายจ้าง บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของ “แบรนด์นายจ้าง” ในยุคที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูงว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดบุคลากรคุณภาพ และรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร โดยทุกปีจะมีเทรนด์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างแบรนด์นายจ้างให้เป็นที่ต้องการของผู้สมัครงานและพนักงาน สำหรับเทรนด์ในการสร้างแบรนด์นายจ้างในปี 2568 คือ การนำ ESG (Environmental, Social, Governance) มาใช้ในกลยุทธ์สร้างแบรนด์นายจ้าง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การใช้ แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเล่าเรื่องราวของพนักงานให้เข้าถึงผู้สมัครงานรุ่นใหม่ และการพัฒนา Employer Value Proposition (EVP) ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาขององค์กรที่สะท้อนถึงคุณค่าและประสบการณ์ที่พนักงานจะได้รับ ทั้ง 3 เทรนด์นี้จะช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ได้ในยุคที่พนักงานเลือกงานมากขึ้น และไม่ได้เลือกงานจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

“การผสานแนวคิด ESG ในการสร้างแบรนด์นายจ้างมีความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ เช่น Millennials และ Gen Z ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่องค์กรยึดถือ โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนและจริยธรรม ซึ่งทำให้องค์กรที่ดำเนินงานตามหลัก ESG สามารถดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ได้มากขึ้น” นายจีรวัฒน์ กล่าว
สำหรับการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ ในปีนี้ Meta (Facebook และ Instagram), YouTube และ TikTok จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่นายจ้างใช้ในการสร้างแบรนด์ เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียค้นหาข้อมูลองค์กร โดยเน้นการสร้างเนื้อหาที่ตรงกลุ่ม เช่น การเล่าเรื่องราวของพนักงานที่สะท้อนความเป็นจริง และสร้างความเชื่อมโยงกับผู้สมัครงานที่มีศักยภาพ รวมทั้งการนำเสนอประสบการณ์ส่วนตัวของพนักงาน เพื่อให้ผู้สมัครเห็นภาพว่าการทำงานในองค์กรนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้ วิดีโอสั้นที่สนุกและทันสมัย เช่น TikTok หรือ Reels จะมีบทบาทในการนำเสนอวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี

นายจีรวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันในตลาดแรงงานและความต้องการ “งานที่มีความหมาย” ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ Employer Value Proposition หรือ EVP กลายเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งแนวทางที่องค์กรควรนำมาปรับใช้ในปีนี้ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนา EVP ให้กลายเป็น Strategic EVP ที่ตอบโจทย์และดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย และสร้างความแข่งแกร่งด้านบุคลากรให้กับองค์กรไปพร้อมกัน รวมถึงการสื่อสาร EVP อย่างโปร่งใสและเป็นจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความผูกพันของพนักงาน หากองค์กรสามารถพัฒนา EVP ได้เหมาะสม จะได้เปรียบในการแข่งขันและดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพได้มากขึ้น

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ โคตรคูล-กู๊ดเดย์ ติดอันดับ บริษัทในฝันเด็กเจนใหม่

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th

ดูข่าวต้นฉบับ