ในยุคที่ทุกคนหิ้วถุงผ้าแทนถุงก๊อบแก๊บไปซูเปอร์เพื่อแลกกับส่วนลด ในช่วงที่ทุกคนจูงมือกันไปซื้อหลอดโลหะด้วยใจที่หวังว่าจะช่วยลดการใช้พลาสติกได้บ้าง แต่อีกใจนึงก็คืออยากลองใช้ตามเพื่อนๆ ดูสักตั้ง ในเวลาที่การปลูกป่าชายเลนคือกิจกรรม CSR เพื่อสังคม เทียบเท่ากับการทำความดี ตัวอย่างเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของกระแส “รักษ์โลก” ที่ทุกคนกำลังตื่นตัว ผ่านการปลุกปั้นของสื่อต่างๆ ผ่านวีดีโอไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดีย และผ่านแฮชแท็กที่ใครๆ ก็อยากติดบนรูปของตัวเอง แสดงตัวว่าฉันก็เป็นประชากรของโลกนะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว การ “รักษ์โลก” นี้เป็นแค่อีกเทรนด์ที่กำลังมาและอาจจากไปในไม่ช้าหรือเปล่า?
ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอะไรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นร้อยๆ ปี มีกลุ่มที่ออกเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นจริงเป็นจังเกิดขึ้นครั้งแรกหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงเวลาที่โรงงานผุดขึ้นมาเต็มเมืองใหญ่และระดับมลพิษอยู่ในขั้นวิกฤต เลยทำให้มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและจำกัดการปล่อยของเสียจากโรงงานตัวแรกที่ถูกผ่านออกมาในประเทศอังกฤษ มีขบวนการ Back to Nature ที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรปหลังจากนั้น นำโดยนักวิชาการเพื่อต่อต้านระบบบริโภคนิยมที่ทำลายธรรมชาติ มียุคที่การใช้ยาฆ่าแมลงถูกแบนหลังจากที่ได้รับความนิยมมากในช่วงปฏิวัติเกษตรกรรม มีขบวนการที่ประท้วงเรื่องสัมปทานพื้นที่ป่าด้วยวิถีสันติ ใช้การโอบกอดต้นไม้แทนเสียงของตัวเอง ขบวนการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่กลายเป็นจุดกำเนิดขององค์กรอย่างเช่น WWF ไล่มาถึงการก่อตั้ง Earth Day วันคุ้มครองโลกในปีพ.ศ. 2513
จะเห็นว่าการรักษ์โลกไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นปุบปับแต่เป็นแนวคิดที่เติบโต จนมาถึงในช่วง 10 ปีหลังนี้ การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์รอบโลกเริ่มบีบบังคับให้เราต้องเห็นความสำคัญของมัน ในเวทีโลกมีการถกถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นวาระสำคัญ มีการทำสนธิสัญญาในกลุ่มประเทศเพื่อทำข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนี้มากขึ้น มีการผ่านร่างกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เข้าช่วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งแรง และการอัดฉีดของสื่อก็ทำให้เรื่องนี้แทรกซึมไปยังบุคคลทั่วไปในภาคประชาชนได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ที่ทุกคนตื่นตัวเพราะเราเห็นถึงอนาคตว่าหากเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันแบบไม่ยั้งคิด วันหนึ่งป่าก็จะหมด น้ำจืดที่ตอนนี้ยังมีอยู่เหลือเฟือ สักวันจะร่อยหรอ ผืนดินที่เราอยู่อาศัยก็จะถูกทำลายโดยมลพิษ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทุกอย่างจะย้อนกลับมาที่ตัวของมนุษย์เองทั้งสิ้น
“รักษ์โลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเก่า แนวคิดนี้ควรอยู่ในบรรทัดฐานการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่ “ฮิตทำ” กันเป็นครั้งคราว แต่มันควรเป็นสิ่งที่เรา “คิดทำ” กันจนเป็นเรื่องธรรมดา
เพื่อโลก…หรืออย่างน้อยก็เพื่อความอยู่รอดของเราเอง
คุณเห็นด้วยหรือไม่?
NO One Here มันไม่ใช่เทรนมันคือสำนึก เค้าผลักดันมาหลายปีแล้ว คนไม่มีจิตสำนึกมันก็คิดไม่ได้
15 มิ.ย. 2561 เวลา 13.04 น.
Empty Chat แต่เราคิดว่าถุงผ้ามันokอยู่นะ
15 มิ.ย. 2561 เวลา 11.59 น.
Jumjim ที่นี่เค้าไม่แจกถุง ใครอยากได้ถุงต้องซื้อ เว้นแต่จะพาถุง ไปเอง รถเข็นก็ไม่มีคนเก็บ ต้องเก็บเองใช้เหรียญปลดล็อค ห้างที่ไทยน่าทำแบบนี่บ้างนะคะ
15 มิ.ย. 2561 เวลา 14.16 น.
เราปลูกฝังมาสี่ 50 ปี แต่เราไม่ได้ทำเป็นตัวอย่างแล้วลูกหลานจะทำตามหรือไง คือต้นไม้ต้นนี้ให้ปุ๋ยกับน้ำที่ไม่ถูกวิธีมันเลยไม่โต
15 มิ.ย. 2561 เวลา 14.13 น.
พิษณุ ใช่ครับเรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึกล้วนๆแค่ลดให้ได้ก่อนเถอะอย่าพูดถึงเลิกใช้เลยของบางอย่างบางทีก็ใส่ด้วยกันได้แต่ก็ให้แยกถุงน้ำดื่มแพคจะเป็นตัวปัญหามากโดยเฉพาะ1.5ลิตรแพค6ต้องใช้2ใบซ้อนเจอมือเล็กต้องเพิ่มอีกใบผูกทำหูหิ้วมีแค่ยี่ห้อเดียวที่ทำหูหิ้วแต่ก็ไม่ใช้แพมเพิสเด็กก็ถามใส่ถุงแม้จะมีหูหิ้วก็ตามแนะนำก็ไม่ได้โดนคอมเพลนอีกคงจะเลิกใช้ถุงกันได้ก็ต่อเมื่อต้องซื้ออากาศหายใจกันล่ะ
15 มิ.ย. 2561 เวลา 14.56 น.
ดูทั้งหมด