ไลฟ์สไตล์

วิธีอยู่กับคนเห็นแก่ตัว - ดังตฤณ

THINK TODAY
เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 08.23 น.

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พูดง่ายๆ ท่านให้มองว่า ถ้าคนเห็นแก่ตัวมีคนหนึ่งอยู่แล้ว ก็อย่าไปเพิ่มคนเห็นแก่ตัวขึ้นมาอีกคนเลย ขอให้เอาความไม่เห็นแก่ตัวไปปราบคนเห็นแก่ตัวกันเถอะ

แต่ฟังเช่นนี้ ความคิดแรกที่จะผ่านเข้ามาในหัวของคนทั่วไป คือ เรื่องอะไร ทำดีกับคนชั่ว มันก็ยิ่งได้ใจ ทำชั่วหนักเข้าไปใหญ่น่ะสิ ไม่มีทางสร้างสำนึกในคนไร้สำนึกหรอก ที่ถูกต้องมองว่าทำอย่างไรจะแก้เผ็ดให้รู้สำนึก และเอาชนะคนเลวด้วยการสั่งสอนให้หลาบจำ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไม่ปล่อยคนชั่วให้ลอยนวลต่างหาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าคุณต้องอยู่กับคนเห็นแก่ตัว แล้วโต้ตอบด้วยวิธีรุนแรง หรือคิดสั่งสอนให้หลาบจำด้วยคำด่าทอหรือการลงโทษหนักๆ สิ่งที่ได้กันจริงๆ คือ สมรภูมิ ไม่ใช่สวนดอกไม้เป็นแน่

เราจึงอาจต้องหันกลับไปพินิจนโยบายอยู่กับคนเห็นแก่ตัวของพระพุทธเจ้ากันใหม่ ชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ชนะคนไม่ดีด้วยความดี

เพื่อให้คนเห็นแก่ตัวใจอ่อน นึกอยากดีตาม คุณต้องนึกถึงคำสองคำ คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

- รู้จักให้ ในจังหวะที่พอดี -

- ดีในแบบที่ได้ใจ -

เพื่อจะ ให้ในจังหวะที่พอดี คุณต้องให้ในแบบที่เขาเห็นค่า ไม่ใช่มีเท่าไหร่ให้หมด ให้ทุกครั้ง จนเขานึกว่าเราเกิดมามีหน้าที่ต้องให้เขา ซึ่งแบบนั้นจะโดนมองว่า ‘โง่ดี’ มากกว่า ‘ใจดี’

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วิธีให้แบบพอดี คือ ให้เมื่อเขาเดือดร้อน และให้แบบที่เขาต้องมีส่วนช่วยเหลือตัวเองด้วย ให้แบบที่เขาเห็นว่าเราร่วมแรงร่วมใจเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขา ไม่ทิ้งเขาไปไหน แล้วเขาจะจดจำภาพกับความรู้สึกร่วมแรงร่วมใจ ไม่ใช่จดจำว่าเราทำอะไรงกๆให้เสร็จสรรพ ราวกับเป็นข้าทาสบริวาร หรือลูกหนี้ที่ถึงเวลาชดใช้

ขอให้นึกถึงพ่อแม่ที่ให้ลูกทุกอย่าง ทำเพื่อลูก เหนื่อยเพื่อลูกทุกอย่าง กระทั่งลูกจำว่าพ่อแม่เหมือนคนใช้ เกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า ชีวิตก็อย่างนี้มั้ง อยากทำให้เราเกิดมา ก็ต้องทำให้เราทุกอย่าง นับว่าสมควรแก่เหตุแล้ว นี่เรียกว่าพ่อแม่เลี้ยงให้ลูกสำคัญตัวผิด คิดในทิศทางที่เป็นบาปอกุศลต่อตนเองไปทั้งชาติ

และเพื่อจะ ดีใจแบบได้ใจ คุณต้อง ดีในแบบที่เขารู้ว่าเราตั้งใจเสียสละ ดีแบบไม่กะถอนทุน ดีแบบที่เราเป็นของเราอย่างนี้อยู่จริงๆ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจทางความสุขให้กับเขา แล้วอยากถือเอาเป็นแบบอย่างบ้าง

ขอให้ทราบว่ามนุษย์เราชอบความสุขอันเกิดจากการเสียสละ เพราะความรู้สึกอันเกิดจากการเสียสละ คือการถอดเกราะหนักๆแห่งความตระหนี่ออกจากใจ ถอดได้แล้วเบาสบายดี เสียแต่ว่าไม่ค่อยมีแบบอย่างดีๆเป็นแรงบันดาลใจ มีแต่ต้นแบบแย่ๆให้ขาดศรัทธากัน

ขอให้นึกถึงพี่ตูนที่วิ่งยาวเพื่อระดมความสุขร่วมกันจากคนทั้งประเทศ ถ้าพี่ตูนไม่เปิดโอกาสให้คนทั้งประเทศได้ร่วมสละทรัพย์สินตามกำลังไปด้วย บอกแค่ว่านี่เป็นความสุขส่วนตัวของผม ผมวิ่ง ผมเจ๋ง ผมเก่ง 

คนอื่นไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับความเก่งของผม วิ่งเสร็จผมจะบริจาคเงินเป็นร้อยๆล้านของผมเองให้กับโรงพยาบาล ได้ยินอย่างนี้ เราๆท่านๆจะรู้สึกแตกต่างไปขนาดไหน?

แล้วความดีที่โดนใจคนเห็นแก่ตัว ก็ไม่ใช่หมายถึงการเอาแต่ อภัย อภัย อภัย ไม่ว่าคนเห็นแก่ตัวจะทำอะไรเลวๆใส่ตนแค่ไหน แต่หมายถึงเป็นตัวอย่างความดีที่มีอยู่จริง และช่วยกระตุ้นให้รู้สึกขึ้นมาจริงๆว่า คนดีไม่ใช่คนที่ใจอ่อน ยอมโง่เสียเปรียบ แต่คนดี คือคนที่ีมีความสง่างาม ด้วยสติที่เข้มแข็งพอจะไม่ทำโลกที่ร้ายอยู่แล้วให้ร้ายขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น เขาทำผิดมา เราฟ้องร้อง พอเขาขออภัยจากใจ เราก็ถอนฟ้อง ไม่เอาเรื่อง อย่างนี้เขาจะมองว่า เราเอาคืนได้ แต่ไม่ทำ เป็นต้น

แต่ถ้าต้องอยู่กับคนเห็นแก่ตัว ใกล้ชิดติดกันขนาดที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนอยู่กับหลุมดำ ดูดแสงบุญแสงกุศลออกไปจากตัวคุณได้จนเกลี้ยง อย่างนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำทันที ไม่ใช่เป็นการพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงเขา แต่ต้องหาวิธีอยู่กับเขา โดยไม่สูญเสียความเป็นเรา ซึ่งก็นี่แหละ ลองย้อนกลับไปอ่านพระพุทธพจน์อีกครั้ง

พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี เขาร้ายมาอย่างไร เราดีไปเป็นตรงข้ามกับอย่างนั้น แม้คุณไม่อาจเปลี่ยนเขา อย่างน้อยหลุมดำก็จะไม่ดูดคุณหายเข้าไปกับเขาด้วย!