ไลฟ์สไตล์

สาระของชีวิต - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY
เผยแพร่ 10 ก.ย 2561 เวลา 04.31 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เราเห็นจากหนังมากมาย ฉากคล้ายกัน อุกกาบาตพุ่งลงมาจากฟ้าถล่มโลกกึกก้องกัมปนาท แผ่นดินสะท้านสะเทือน ลูกไฟกระจายไดโนเสาร์ล้มตายหมด

ความจริงไดโนเสาร์ไม่ได้ตายหมดในวันเดียว มันอาจกินเวลาหลายปีที่สายพันธุ์นี้ต้านแรงธรรมชาติไม่ไหว ล้มตายสิ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การถล่มของอุกกาบาตก็เหมือนการถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์จะมีเถ้าดำแผ่คลุมท้องฟ้านานหลายปี อากาศเย็นลงทั้งโลกจนพืชต่างๆ ตายเกือบหมด ที่เรียกว่า Nuclear Winter

มีทฤษฎีมากมายเสนอความคิดว่า ทำไมไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ทฤษฎีหนึ่งพูดเรื่องอุณหภูมิกับไข่ เราเชื่อว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง แพร่พันธุ์ด้วยไข่ และเราก็รู้จากธรรมชาติว่า อุณหภูมิมีผลต่อการกำหนดเพศของตัวอ่อนในไข่ ถ้าอุณหภูมิโลกในช่วงนั้นต่ำมากเท่ากัน อาจทำให้ไข่แทบทั้งหมดเป็นเพศเดียว ทำให้ไม่สามารถสืบสายพันธุ์ต่อไปได้

ไม่ว่าไดโนเสาร์จะจากไปอย่างไร ยักษ์ใหญ่ที่ครองโลกร่วมสองร้อยล้านปีเหลือเพียงซากในฟอสซิล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อพี่ใหญ่ไดโนเสาร์จากไป น้องเล็กชื่อ แมมมอล (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ก็มาแทน

ดังนั้นหากเชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมาจากการสร้างสรรค์ของอำนาจเบื้องบน ก็ต้องเชื่อว่าการที่อุกกาบาตถล่มโลกในวันนั้นเป็นการกำหนดของอำนาจเบื้องบน เป็นส่วนหนึ่งของ ‘แผน’

นักวิทยาศาสตร์สายวิวัฒนาการจำนวนมากไม่เชื่อเรื่อง ‘แผน’ ตรงกันข้ามกลับเห็นพ้องกันว่า วิวัฒนาการของโลกและคนเกิดขึ้นแบบไร้แผน ชีวิตไม่ว่าจะมีต้นกำเนิดในโลกนี้หรือนอกโลก อาจเกิดมาด้วยความบังเอิญ เมื่อธาตุต่างๆ มาเจอกันอย่างลงตัว จะเรียกว่าฟลุกก็ได้ เหมือนสายน้ำแห่งชีวิตที่ไหลไปเรื่อย ผ่านภูมิประเทศต่างๆ เจอหินก็หลบเลี่ยง แตกสายสาขาออกไปมากมายนับไม่ถ้วน สายไหนตันก็เหือดแห้งหายไป ที่ที่ยังไหลได้ดีก็ไหลต่อไป แตกแขนงต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สายน้ำไดโนเสาร์เหือดแห้งไป สายน้ำแมมมอลไหลต่อมาจนทุกวันนี้ และเราเป็นแขนงหนึ่งที่แตกมาจากสายน้ำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

หากไดโนเสาร์ไม่สูญพันธุ์ โอกาสที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะผงาดขึ้นแทนคงน้อยมาก และโอกาสที่จะวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ก็ยิ่งน้อย ดังนั้นจะว่าไปแล้ว สายพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญหมายเลข 1 คือไดโนเสาร์ถูกอุกกาบาตถล่มตาย

ความบังเอิญหมายเลข 2 คือสภาพแวดล้อมของโลกในยุคหนึ่งเปลี่ยนแปลงและเอื้อให้มนุษย์วานรตัดสินใจเดินสองขาเพื่อความอยู่รอดสูงกว่า แล้ววิวัฒนาการเป็นมนุษย์สมัยใหม่ที่ชาญฉลาดในวันนี้

นี่อาจจะแปลว่ามนุษย์เกิดมาอย่างบังเอิญซ้อนบังเอิญ

…………..

เอาละ สมมุติว่าเราเป็นเจ้าของตัวเราเอง ไม่มี ‘พระเจ้า’ หรืออำนาจพิเศษวางแผนกำหนดชีวิตเรา นี่แปลว่าเราสมควรปล่อยชีวิตไปเรื่อยเปื่อยกระนั้นหรือ?

หามิได้ เป็นคนละเรื่องกัน

หลักฐานในฟอสซิลบอกเพียงว่าเรามาจากไหน ส่วนเราจะทำอย่างไรต่อเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราควรดำเนินชีวิตที่เหลือของเราอย่างไร? ใช้อย่างมีจุดหมายหรือไม่ต้องมี?

ก่อนอื่น อะไรคือจุดหมาย?

เราจะอยู่ต่อไปอย่างไร แบบไหน

อยู่เพื่อสนองความสุขของเรา หรือว่าเพื่อชื่อเสียง อำนาจ

เราอยู่เพื่ออะไร? คำว่า ‘เพื่ออะไร’ ก็เป็นการสร้างกรอบล้อมตัวเองอย่างหนึ่ง

ใครจะรู้ ชีวิตอาจเป็นเรื่องยถากรรมจริงๆ ก็ได้ เราอาจคิดเองเออเองว่าชีวิตต้องมีความหมาย!

บางทีความหมายของชีวิตและอุดมคติต่างๆ เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์

แต่ทว่าต่อให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์จริง ก็มิได้แปลว่าเป็นเรื่องไม่ดี เพราะมนุษย์มีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่ได้มีในธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

บางทีการใช้ชีวิตก็คือการดำเนินตามกลไกของชีวิต นั่นคือหายใจ และมีชีวิต ส่วนสาระหรือเป้าหมายหรือจุดหมาย อาจจะขึ้นอยู่กับเราเอง และอาจไม่มีถูกหรือผิด สิ่งที่มีค่าที่สุดก็อาจเป็นอิสรภาพที่จะหายใจ มีชีวิตต่อไปอย่างนั้น

…………..

อาจารย์เจ้าโจวฉงเซิน (趙州從諗) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า เจ้าโจว เป็นพระเซนใน (พ.ศ. 1321-1440) เป็นพระเซนที่มีสีสันที่สุดรูปหนึ่ง สอนธรรมแบบแทงทะลุใจ

เจ้าโจวเป็นเจ้าอาวาสวัดเก่าแห่งหนึ่งชื่อ กวนยินเหยียน ทางตอนเหนือของจีน

ท่านบอกว่า “เซนก็คือจิตในทุก ๆ วันของเจ้านั่นเอง”

ครั้งหนึ่งพระใหม่รูปหนึ่งพูดกับอาจารย์เจ้าโจวว่า “ศิษย์เพิ่งมาใหม่ในวัดนี้ โปรดสั่งสอนศิษย์ด้วย”

เจ้าโจวถามศิษย์ใหม่ว่า “เจ้ากินข้าวต้มแล้วหรือยัง?”

“กินแล้ว”

“ถ้าเช่นนั้นก็จงไปล้างชามเสีย”

ได้ยินเท่านี้ ศิษย์ใหม่ก็บรรลุธรรม

บทสนทนานี้บอกอะไร? อาจารย์เจ้าโจวอาจต้องการบอกศิษย์ว่าวิถีทางที่ดีที่สุดก็คือวิถีชีวิตสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ และเราเรียกความไม่มีอะไรพิเศษนี้ว่า ‘เซน’ อาจารย์เจ้าโจวอาจอยากบอกว่าจงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เดินไปทีละขั้น หิวก็กิน กินแล้วก็ล้างชาม ไม่ต้องคิดไปไกลถึงสาระของชีวิตหรือเป้าหมายไกลๆ

บางทีอาจารย์เจ้าโจวอาจอยากบอกว่า การค้นหาสาระก็คือความไร้สาระชนิดหนึ่ง

อาจารย์มู่โจวเต้าหมิง (睦州道明) ก็เป็นปรมาจารย์เซนอีกท่านหนึ่ง (พ.ศ. 1323-1420) เมื่อศิษย์ถามท่านว่า “เราสวมเสื้อผ้าและกินทุกวัน มีทางใดหรือไม่ที่จะหนีพ้นจากการสวมเสื้อผ้าและกินทุกวัน?”

อาจารย์ก็ตอบว่า “เราสวมเสื้อผ้า เรากิน”

“ศิษย์ไม่เข้าใจ”

“หากเจ้าไม่เข้าใจ ก็จงสวมเสื้อผ้าและกินอาหารเถิด”

ฟังดูเหมือนอาจารย์กวนประสาท แต่ความหมายคล้ายจะบอกว่า ชีวิตก็คือการใช้ชีวิต ไม่มีอะไรซับซ้อน

Don’t think too much!

แต่กว่าจะไม่คิดมากได้อย่างนี้ ก็ผ่านการคิดมากจนเข้าใจว่า สาระของชีวิตอาจเป็นเพียงมายา

คำพูด “ง่วงก็นอน หิวก็กิน” อาจเพียงชี้ว่าชีวิตไม่ได้มีสาระหรือไม่มีสาระ

มันไม่มีอะไร

มันเป็นเช่นนี้เอง

นี่เองที่ทำให้ผมเลิกถามตัวเองมานานแล้วว่า ชีวิตจำเป็นต้องมีสาระไหม

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

กันยายน 2561

ความเห็น 5
  • สาระคือไม่มีสาระ ไม่มีสาระนั่นแหละคือสาระ เป็นมุมมองที่แปลกดี แต่ถ้าคิดให้ดีก็อาจจะจริง
    10 ก.ย 2561 เวลา 05.19 น.
  • Ake
    สิ่งที่อาจารย์เซนสอนเป็นหนึ่งในเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ถ้าคนอ่านตีความไม่ถูก จะกลายเป็นอยากทำอะไรก็ทำไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวนะครับ
    10 ก.ย 2561 เวลา 23.58 น.
  • ⭐ Meayki ⭐
    ถ้ามัวแต่กังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรืออดีตที่ผ่านมาแล้ว เราก็จะไม่มีสติที่จะรับรู้ความเป็นปัจจุบัน
    11 ก.ย 2561 เวลา 01.47 น.
  • @...
    สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือแบบอย่างนั่นเอง.
    10 ก.ย 2561 เวลา 07.17 น.
  • ปวดหัวเลย แต่มนุษย์เปนสิ่งมีชีวิตที่มีอายุขัยนานมาก(หลายสิบปี)เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น แถมอยุ่บนของห่วงโซ่อาหารด้วย --หัวข้อที่คิดช่วงนี้คือ ใช้ชีวิตยังไงให้สอดคล้องไปกับกระแสธรรมชาติ พยายามออกห่างวัตถุนิยม เพราะสัมผัสที่ได้มันไม่สบายตัว เหมือนจับผืนหญ้าเทียมกับพลาสติก
    10 ก.ย 2561 เวลา 17.06 น.
ดูทั้งหมด