ไลฟ์สไตล์

มันคืออดีต ไม่ใช่ปัจจุบัน! ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ผสมโคเคนที่เคยปรากฏในอดีต

The MATTER
เผยแพร่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 09.27 น. • Health

ในช่วงปี ค.ศ.1900 นั้น 'โคเคน' (Cocaine) ได้รับความนิยมจนถือว่าเป็น 'ยาครอบจักรวาล' ที่นำไปรักษาโรคสารพัดนึก มีสรรพคุณเฉพาะที่หาไม่ได้จากยาตัวอื่นๆ ทำให้โคเคนถูกผสมอยู่ในหลายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน น่าทึ่งที่ชีวิตผู้คนสมัยก่อนล้วนมีโคเคนอยู่ในวงจรชีวิต และสังคมยังไม่เห็นผลเชิงลบที่ทำให้ผู้ใช้เกิดเสพติดสาร เกิดภาวะหลอนประสาท โรคซึมเศร้า และมีส่วนให้เกิดระบบหายใจล้มเหลว

จนกระทั่งกฎหมาย Harrison Narcotics Tax Act ในปี ค.ศ.1914 ของสหรัฐฯ ได้ประกาศให้มีการควบคุมและเก็บภาษีการผลิตนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากใบโคคา บังคับให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโคเคนทั้งหมดต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น นี้จึงทำให้ความนิยมในการทำการตลาดด้วยโคเคนเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่กลับมีพีคอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1970 ที่โคเคนมาในรูปแบบสารเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และทำให้เสพติดสูง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรามาดูว่าผลิตภัณฑ์ในอดีตอะไรบ้างที่เคยมีโคเคนเป็นส่วนประกอบ แล้วอะไรทำให้ถูกยกเลิกไปนานจนไม่สามารถมาเป็นข้ออ้างได้แล้ว

ยาหยอดตา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การผ่าตัดดวงตาในอดีตนั้นมีอันตรายสูงและอาจสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย จักษุแพทย์จึงใช้โคเคนเป็นส่วนผสมของยาหยอดตาเพื่อใช้ในการช่วยผ่าตัด ในปี ค.ศ. 1884 จักษุแพทย์ชาวชาวออสเตรีย “คาร์ล โคลเลอร์” ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานของซิกมันด์ ฟรอย ได้ทดลองผสมโคเคนเข้ากับยาหยอดตา โดยหยอดยานี้ไปยังกระจกตา (cornea) ช่วยลดการเคลื่อนไหวและลดความเจ็บปวด ทำให้แพทย์มีโอกาสผ่าตัดตาได้สำเร็จมากขึ้น ปัจจุบันจักษุแพทย์ทั่วโลกใช้สารอื่นทดแทนแล้ว ซึ่งให้ประสิทธิภาพใกล้เคียง แต่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยเสพติด

ยาอมช่วยให้เสียงดีและเข้าสังคมเก่ง

เนื่องจากโคเคนเป็นสารกระตุ้นที่ช่วยทำให้อารมณ์ดี รู้สึกมีพลังซู่ซ่าในช่วงสั้นๆ และช่วยเสริมความมั่นใจเพื่อเข้าสังคม พ่อค้าหัวใสจึงชูสรรพคุณของโคเคน ให้มาอยู่ในรูปโฉมใหม่เป็น “ยาเม็ดอม” เพื่อการเข้าสังคม ให้อมเม็ดนี้ก็จะช่วยให้คุยปร๋อ ดูเป็นคนสนุกสนาน และแก้โรคประหม่าเวที (stage fright) ทำให้เหล่าศิลปิน นักแสดง หรือแม้กระทั่งนักเทศน์ ติดกันงอมแงมต้องอมก่อนการแสดงทุกครั้ง ส่วนเหล่านักร้องก็เชื่อว่ายาอมโคโคนช่วยให้เสียงดีอีกต่างหาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไวน์ผสมโคเคน

ในปี ค.ศ.1860 ไวน์ที่ผสมโคเคนได้จัดจำหน่ายอย่างกว้างขวางในชื่อทางการค้า Vin Mariani โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส Angelo Mariani โดยระบุว่ามีปริมาณโคเคนราว 6 มิลิกรัมต่อขวด  และได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ไวน์เพื่อคนรักสุขภาพ” สามารถแก้โรคได้หลายชนิด แก้หวัด ช่วยด้านกำลังวังชา ช่วยให้เจริญอาหาร ไวน์ตัวนี้ดังขึ้นอีกเมื่อ สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 (Pope Leo XIII) ออกตัวว่าเป็นแฟนตัวยงของไวน์ที่เขามักจะดื่มก่อนเทศน์ และถึงขึ้นปรากฏตัวบนแผ่นผับโฆษณา แถมบริษัทยังผลิตไวน์โคเคนขนาดเหมาะสำหรับเด็กที่ขวดเล็กลง ช่วยให้เด็กๆ เจริญอาหาร และร่าเริง ที่ไม่ต้องไปแย่งผู้ใหญ่กิน

เครื่องดื่มกระตุ้นเจริญอาหาร

ในช่วงปี ค.ศ. 1880 เครื่องดื่มผสมโคเคนจัดเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาหารไม่ย่อย แก้ความหดหู่หมองเศร้า ใครที่ดูผอมซูบไปไม่กระชุ่มกระชวย ก็จะให้ดื่มโคเคนราวกับเป็นยาอัศจรรย์ แต่ในความเป็นจริงโคเคนไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคโดยตรง ผู้ใช้มักต้องการโคเคนเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มไปใช้สารตัวอื่นร่วมด้วย เช่น ฝิ่น และมอร์ฟีน

ยาสวนทวารแก้ริดสีดวง

โคเคนมีฤทธิ์ระงับความรู้สึกชั่วคราว และมักถูกใช้เป็นยาชา สำหรับคนที่เป็นโรคริดสีดวงทวารในอดีตก็จำเป็นต้องใช้ยาสวนที่มีส่วนผสมของโคเคนเพื่อลดความเจ็บปวด ในช่วงแรกยาสวนทวารจากโคเคนได้รับความนิยมสูงเนื่องจากมีฤทธิ์ค่อนข้างดี แต่ภายหลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการได้รับสารเสพติดปริมาณมากเข้าไปยังร่างกาย และยังไม่มีสูตรเป็นมาตรฐานที่บ่งชี้ในการใช้ ทำให้การรักษาด้วยยาสวนทวารจากโคเคนยุติลงในปี ค.ศ.1896

ยาแก้หัวล้านและรังแค

โคเคนมักเป็นที่ยอมรับในฐานะการเป็นยาระงับความรู้สึก แต่การเอาไปทาหัวล้านก็เป็นตรรกะที่แปลกๆหน่อย เทรนด์นี้เกิดจากการอิงกระแสที่ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะต้องกระโดดเข้าไปเพื่อดึงดูดลูกค้า คล้ายยุคนี้ที่อะไรก็ต้องชาเขียว ยาทาหัวล้านโฆษณาว่าสามารถฟื้นฟูเส้นผมให้กลับมางอกงามอีกครั้ง ช่วยแก้อาการคันหนังศีรษะ ให้ความรู้สึกเย็นวาบหรือชาที่โคนผม เพราะโคเคนสามารถลดความรู้สึกได้  แต่งานศึกษาระยะหลังพบว่า โคเคนไม่ได้ช่วยในการรักษารังแค แถมมีแนวโน้มทำให้ผมร่วงมากขึ้นอีกต่างหาก

ยาแก้ปวดฟัน

ในช่วงที่ศาสตร์ด้านทันตกรรมกำลังก่อตัวเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ในจังหวะนั้นทันตแพทย์ยังไม่มียาที่ดีพอในการลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยขณะทำฟัน ทำให้ผู้ป่วยก็ต้องรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา และได้รับความเจ็บปวดจากการทำฟันจนเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายของชีวิต โคเคนจึงถูกนำมาใช้เพื่อลดความเจ็บปวดและให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นขณะทำฟัน แต่วงการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับโคเคนมีความพยายามจะเสพสารนี้อีก และมีอัตราเสียชีวิตสูงขึ้น ทำให้ทันตแพทย์เลิกใช้โคเคน และใช้ยาตัวอื่นที่มีคุณสมบัติลดความรู้สึกปวดมาใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะเสพติดภายหลัง

ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่า โคเคนไม่ได้มีคุณสมบัติในการรักษาตามที่กล่าวอ้างในอดีต และมีผลข้างเคียงเชิงลบอยู่มาก ทำให้แพทย์หันไปใช้สารชนิดอื่นแทนที่มีผลในการยับยั้งความรู้สึก แต่ปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตามสารโคเคนไฮโดรคลอไรด์ยังเป็นส่วนผสมของยาในปัจจุบัน แต่ใช้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1%, 4% และ 10% แต่ส่วนใหญ่มักใช้กันเพียง 1% หรือ 4% เท่านั้น เพื่อเลี่ยงความเป็นพิษต่อร่างกาย

อ้างอิงข้อมูลจาก

Drugs and Drug Policy: The Control of Consciousness Alteration

https://books.google.co.th/books?id=2UQXBAAAQBAJ&pg=PA98&lpg=PA98&dq=fortify+himself+when+prayer+was+insufficient&source=bl&ots=0CXLhOoNxU&sig=VTIJDbHxu60yMvMDEQOWlDS7sfk&hl=en&sa=X&redir_esc=y#v=onepage&q=fortify%20himself%20when%20prayer%20was%20insufficient&f=false

Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital Mahidol University

https://www.rama.mahidol.ac.th/index.php

Vin Mariani — The Cocaine-Laced Wine Loved By Popes, Thomas Edison, And Ulysses S. Grant

https://allthatsinteresting.com/vin-mariani

Pharmaceutical Use of Cocaine

https://www.narconon.org/drug-information/cocaine-circa-1860-1900.html

Illustration by Kodchakorn Thammachart

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • น้ำหวานหลายยี่ห้อเอามาตีตลาดน้ำลีมอนเนทในเมืองไทยซะพังไม่เป็นท่าเลย น้ำต้มเปลือกมะตูมทีเคยนิยมใช้กินแทนน้ำชาในงานเทศน์มหาชาติก็พลอยถูกตีตกไปจากความนิยมด้วย
    04 ส.ค. 2563 เวลา 12.01 น.
  • JITTAKORN
    มันก็เหมือนยาม้านั่นแหละ..จนกลายมาเป็นยาบ้า
    04 ส.ค. 2563 เวลา 11.57 น.
  • เสพย์ก็แค่ชาไม่เห็นมีไร
    04 ส.ค. 2563 เวลา 11.44 น.
  • <ToP SR20DE/NA>The Y
    เห่ยย.!.!.! ยาสวนก้น ก็มี.!.!.!
    04 ส.ค. 2563 เวลา 11.34 น.
ดูทั้งหมด