ไลฟ์สไตล์

เหตุผลที่เราควร ‘เข้าใจและยอมรับ’ ใครสักคนไปพร้อม ๆ กัน (สำหรับทุกความสัมพันธ์) - ห้องแนะแนว

LINE TODAY
เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • nawa.

 ด้วยความที่เราแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ตั้งแต่หน้าตา, นิสัยใจคอ, ความชอบ, มุมมองต่าง ๆ บางครั้งการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ บ้างก็ขัดแย้งทางกาย บ้างก็ขัดแย้งทางใจ แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายปรองดองกันได้คือ ‘ความเข้าใจและการยอมรับ’ 

 แต่เข้าใจไม่เท่ากับยอมรับเสมอไป เรื่องบางเรื่องเราเข้าใจสิ่งที่มันเกิด แต่หากให้ยอมรับความจริง คงไม่ได้ เหมือนเวลาพูดคุยกันแล้วมักจะมีประโยคทำนองว่า ‘เข้าใจนะ แต่ว่า…’ นั่นแหละค่ะ น่าจะดีหากในคน ๆ เดียว มีทั้งสองอย่างนี้อยู่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 การยอมรับ ในทางจิตวิทยาให้คำอธิบายไว้ว่า มันคือปฏิกิริยาที่เรายินยอมต่อความจริง, ขั้นตอน, เงื่อนไข แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีก็ตาม โดยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง,ต่อต้าน หรือหลีกหนี หากจะพูดกันให้ง่ายกว่านี้คือ การที่เรายินยอมจะเห็นใคร, สิ่งของ, สถานการณ์ ใดก็ตาม เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่มันเป็น 

 การเข้าใจ ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว จะเป็นขั้นตอนหลังจากการยอมรับอีกทีหนึ่ง คือเป็นกระบวนการที่เข้าถึงความรู้, ความรู้สึกเกี่ยวกับใครสักคนหรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ โดยไม่สงสัยหรือต่อต้านอะไร

 โดยทั้งสองเกี่ยวพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ เพราะความเข้าใจที่ปราศจากการยอมรับ หรือการยอมรับ แต่ไม่เข้าใจ ก็ไม่สมบูรณ์แบบ สำหรับวิธีที่จะช่วยให้เรา ‘เข้าใจและยอมรับ’ ผู้อื่นได้ ลองทำตาม 6 ข้อเหล่านี้ดูนะคะ เผื่อจะนำไปปรับใช้กับทุก ๆ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ค่ะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 1.วางอคติลง  

เป็นปกติที่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะชอบควบคุมสิ่งรอบตัว เพราะเมื่อควบคุมให้ได้ดั่งใจ เราก็มีความสุข แต่ในเรื่องนี้ เราต้องไม่พยายามตัดสินผู้อื่นด้วยมุมมองของตัวเอง ไม่เอาตัวเราไปคอนโทรลคนอื่น เพราะนั่นจะทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกกดดัน พาลจะไม่แฮปปี้เอาได้ ควรเปิดใจให้กว้าง เปิดรับความต่างให้ได้ดีกว่าค่ะ บางทีความไม่เข้าใจกันก็เกิดจากที่ต่างฝ่ายต่างมีอคติซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่รู้ตัว หากปล่อยวางอคติความลำเอียงทั้งหมดลงแล้วเผชิญหน้ากับความเป็นจริง พูดคุยกัน หาจุดสมดุลของทั้งสองฝ่าย เท่านี้ก็ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับกันได้มากยิ่งขึ้นนะคะ

 2.ฟังอย่างตั้งใจ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทักษะพื้นฐานที่เราทุกคนควรฝึกไว้คือการฟัง ใช้หูฟังโดยไม่ต้องใช้ปากตอบโต้ ในสังคมแห่งความหลากหลาย และเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน ใครบางคนต้องการเล่า, ระบายออกมาเพื่ออธิบายสิ่งที่อยู่ในใจของเขาให้ฟัง เพื่อปลดเปลื้องความอึดอัดเหล่านั้นสู่โลกภายนอก จริงอยู่ที่คนฟังอาจไม่ถูกใจเรื่องราวเหล่านั้นเสียทั้งหมด แต่อย่าลืมว่า เวลานี้เราเป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น ไม่มีสิทธ์ไปตัดสินความคิดความชอบของเขาเลยค่ะ หากแสดงความคิดเห็นหรือคำชี้แนะในแบบของเราออกไป อาจจะเป็นชนวนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันมากยิ่งกว่าเดิมได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาเป็นผู้ฟัง ก็ต้องเปิดใจรับฟังอย่างเต็มที่จะมีคุณค่ามากกว่าค่ะ บ่อยครั้งที่อีกฝ่ายกำลังอธิบายอะไรบางอย่าง แต่เรากลับแสดงความคิดเห็นหรือพูดโพล่งขึ้นมาแทรกกลางโดยอดไม่ได้ นั่นอาจทำให้การสนทนาที่กำลังเป็นไปด้วยดีต้องติดขัดลงไปด้วยความไม่ตั้งใจฟังของเราก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บอกว่าเหตุใดเราจึงควรใช้ใจฟังโดยไม่แสดงความคิดเห็นหากไม่จำเป็นจริง ๆ ค่ะ

ลองอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการฟังเพิ่มเติมได้ที่นี่

 3.ทุกคนย่อมอยากเป็นตัวของตัวเอง 

เราทุกคนถูกสรรสร้างมาในแบบของตัวเอง ไม่มีใครเหมือนใครทั้งนั้นใช่ไหมคะ เราก็อยากเป็นในแบบของเรา คนอื่นก็เช่นกัน ไม่มีใครอยากอยู่ในกรอบที่คนอื่นวาดให้หรอกค่ะ เราต่างก็มีแนวทาง, จังหวะ, เวลาของตัวเองทั้งนั้น เคยมีประโยคหนึ่งที่คุณโอปอล์และคุณหมอโอ๊คกล่าวไว้ว่า ลูกแฝดคลอดมาพร้อม ๆ กัน กินเหมือนกัน เลี้ยงดูเหมือนกัน แต่เขายังมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไป อันนี้เห็นภาพมาก ๆ นะคะ ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าการได้เป็นตัวเองของเองอย่างแน่นอน ชีวิตคนเราก็เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ต้องสร้างสรรค์ด้วยตัวเองค่ะ ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจตัวตนของอีกฝ่าย จะช่วยให้เราสามารถประคับประคองความสัมพันธ์ได้อย่างถูกทางมากขึ้น

 4.ไม่เปรียบเทียบ  

 ไม้บรรทัดของแต่ละคนยาวไม่เท่ากัน อย่าตัดสินหรือวัดคนอื่นจากความคิดส่วนตัวของเราเพียงคนเดียว เพราะมันอาจไม่ถูกเสมอไป คล้าย ๆ กับข้อที่บอกว่าแต่ละคนมีแนวทางชีวิตเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าการเปรียบเทียบใครกับใครจึงไม่ใช่คำตอบ ในการทำความเข้าใจหรือยอมรับจะต้องมองในสิ่งที่แต่ละคนเป็นเท่านั้น จึงจะถูกต้อง ทุกคนล้วนดีในแบบที่ตัวเองเป็นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบคนนู้นคนนี้เลยค่ะ

 5.อยู่กับปัจจุบัน 

ไม่มุ่งแต่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง และไม่พูดถึงแต่อดีตที่ผ่านมา เพราะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย จงโฟกัสกับสิ่งที่กำลังเกิด สิ่งที่กำลังเป็นจะดีที่สุด การจดจ่อกับปัจจุบันจะทำให้เราค่อย ๆ ซึมซับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตรงนี้แหละเป็นจุดที่จะหล่อหลอมให้เราค่อย ๆ รับรู้ ทำความเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ และยอมรับตัวตน, เหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างเต็มหัวใจ และมีความสุขได้ง่ายยิ่งขึ้น

 6.เอาใจเขามาใส่ใจเรา  

พยายามศึกษาหรือทำความเข้าใจสิ่งที่คนนั้นสนใจ เพื่อหาจุดร่วม หรือหากไม่มีอะไรสนใจเหมือนกันจริง ๆ ก็ต้องหาทางสายกลาง ลองคิดว่าหากเราเป็นเขาในสถานการณ์นั้น เราจะทำอย่างไรบ้าง ลองแทนตัวเองลงไปในความรู้สึกเขาดูค่ะ การเอาใจเขามาใส่ใจเราจะทำให้เราเองมองโลกได้กว้างขึ้น มองมุมที่ต่างออกไป และสุดท้ายจะได้เข้าใจว่าเราต่างคนต่างคิด ไม่มีถูกไม่มีผิดแบบเดียวเสมอไป 

 ขอยกตัวอย่างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มักจะเจอปัญหาบ่อย ๆ อย่างเช่น เวลาพ่อแม่วาดฝันให้ลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงหัวอกลูกเลย นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตแบบที่เขาอยากเป็น ตรงนี้ต้องมองอย่างใจกว้างว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการดีไซน์ชีวิตของตนเอง อยากเป็นแบบไหนก็ปล่อยให้เขาลองผิดลองถูกเอง ตรงไหนที่พ่อแม่สามารถสนับสนุนได้ ก็สนับสนุน ตรงไหนที่ช่วยให้คำปรึกษาได้ ก็ชี้แนะกันไป แต่อย่าถึงขั้นตีกรอบให้ชีวิตลูกจนอึดอัดใจเลยดีกว่าค่ะ เข้าใจและยอมรับคือคำตอบในโจทย์ชีวิตข้อนี้ จริง ๆ แล้วไม่ว่าความสัมพันธ์จะเป็นแบบไหน ทุกคนย่อมต้องการการยอมรับและเข้าใจทั้งนั้นล่ะค่ะ

 แน่นอนว่าทั้งหมดที่แนะนำไปนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย การยอมรับหรือเข้าใจใครสักคนอย่างลึกซึ้งต้องใช้เวลาและกระบวนการทางใจอย่างมาก ในเมื่อทุกคนมีเส้นทางชีวิตของตนเอง รู้สึกได้อย่างที่อยากรู้สึก เป็นได้อย่างที่เขาต้องการเป็น การได้รับความเข้าใจและการยอมรับจากคนรอบข้างน่าจะเป็นส่งเสริมความสุขให้กับเขาได้อย่างมาก เมื่อเขามีความสุข เราก็มีความสุข จริงไหมคะ

.

.

อ้างอิง

1,2

ความเห็น 12
  • ในการที่ได้รับฟังบางครั้งก็อาจที่จะช่วยทำให้มีแนวทางในการแนะนำเพื่อให้เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้นมากว่าเดิมได้เหมือนกัน.
    23 ม.ค. 2563 เวลา 22.37 น.
  • Yongyuth
    การรับฟัง คือการเรียนรู้ เช่นเดียวกับการ อ่าน ถึงกับต้องใช้ตาหู ที่มีอย่างละ 2 ข้าง เพื่อ Balance ความพอดี ไม่เข้าข้าง ฝักใฝ่ เพราะฟังความข้างเดียว แต่ใจมีดวงเดียว เป็นผู้ตัดสิน ไก่จึงต้องเป็นกลาง อยู่เสมอ ทุกอย่างมันจะเห็น ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ส่วนปาก มีเพียงปากเดียว เท่ากับใจเดียว เรียกว่า ปากกับใจต้องตรงกัน ถึงจะซื่อตรง ไม่ โกหกหลอกลวง ให้เข้าใจผิด และการพูดเท็จ ย่อมเป็นบาป เพราะทำให้คนเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจผิด ก็ย่อมคิดผิด ถ้าคิดผิด ก็ย่อมทำผิด ทำให้เดือดร้อน ทั้งตนเอง และผู้อื่น
    27 ม.ค. 2563 เวลา 10.05 น.
  • NickyRATH
    PB จาก Adventure Time ได้เคยกล่าวไว้ว่า “คนเราถูกสร้างมาแตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจ แต่ควรเคารพในความต่าง”
    25 ม.ค. 2563 เวลา 07.22 น.
  • ชีวิตจะเป็นแบบไหนคงต้องเลือกเอา ตัวของเราใจของใครของมัน เพราะคนเรามีสมองอันแตกต่างกัน
    25 ม.ค. 2563 เวลา 10.37 น.
  • โจ๊กเกอร์ จูเนียร์
    ส่วนตัวชอบฟัง มากกว่าพูด คิดว่าดีน่ะ มันทำให้เราเวลาเจอปัญหา มักหาวิธีเเก้ หรือ หาทางออกง่าย
    24 ม.ค. 2563 เวลา 14.01 น.
ดูทั้งหมด