กองทัพเรือ ทดสอบอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ลาดตระเวนทางทะเล ใช้ในภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติ
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ ชมการสาธิตการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับที่ดำเนินการพัฒนาโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ภายใต้ชื่อโครงการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล กองทัพเรือ (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System:MARCUS)
โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ, พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1, พล.ร.ต.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ, พล.ร.ต.อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ บน ร.ล.อ่างทอง ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
โดยกำหนดสถานการณ์สมมติเป็นการปฏิบัติของ ศรชล.ภาค 1 สั่งการให้ ร.ล.อ่างทอง ที่กำลังลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ ค้นหา พิสูจน์ทราบ และจับกุมเรือต้องสงสัยว่าจะลักลอบนำเข้าสารอันตราย เพื่อใช้สร้างสถานการณ์ในพื้นที่สำคัญทางภาคตะวันออก ต่อมา ร.ล.อ่างทอง ได้ตรวจพบเรือ 1 ลำ มีพฤติกรรมต้องสงสัย จึงใช้ MARCUS เข้าพิสูจน์ทราบ ก่อนที่จะส่งชุดตรวจค้นเข้าปฏิบัติการต่อไป
จากวัตถุประสงค์ ในการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ตามที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ที่ได้ทำการพัฒนาให้มีขีดความสามารถ ขึ้น-ลง ในพื้นที่จำกัด (ทางดิ่ง) ที่อากาศยานแบบปีกนิ่งทั่วไปไม่สามารถทำได้ และพัฒนาระบบควบคุมและสั่งการทางยุทธวิธีทางอากาศ (Tactical-Based Aerial Command Control System:TBACCS) ให้สามารถสั่งการพ้นระยะสายตา หรือในบริเวณจุดอับสัญญาณของการสื่อสารได้
การสาธิตในครั้งนี้ได้นำกล้องตรวจการณ์ของ UAV นารายณ์ ติดตั้งเข้ากับระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าในทะเลอีกด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คุณลักษณะของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ประกอบด้วย ความกว้างปีก 3.4 เมตร น้ำหนักขึ้นบิน 24 กิโลกรัม ความเร็ว ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาปฏิบัติการบนอากาศ ประมาณ 1 ชั่วโมง ระยะบินไกลสุด 15 กิโลเมตร และกำลังพัฒนาในรุ่นต่อไป ให้สามารถบินได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร
อากาศยานไร้คนขับ MARCUS ได้ผ่านการทดสอบทดลองจากหน่วยปฏิบัติงานทั้งทัพเรือภาค, ศรชล.เขต และหน่วยบิน ว่าสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการตรวจสอบและถ่ายภาพเป้าหมายในทะเล ได้ตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ MARCUS มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาระยะเวลาในการปฏิบัติงานในอากาศให้ได้มากกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งคณะวิจัยฯ กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างลำตัว, เพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และอื่นๆ เพื่อให้ MARCUS สามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธวิธีได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นต้นแบบงานวิจัย ที่จะสามารถนำเข้าสู่สายการผลิตให้แก่กองทัพเรือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากจะเปรียบเทียบ MARCUS ที่กองทัพเรือ วิจัยจนเป็นผลสำเร็จในครั้งนี้ สามารถเทียบคุณสมบัติได้ใกล้เคียงกับอากาศยานไร้คนขับแบบ ORBITER-3B ที่กองทัพเรือจัดหาจากประเทศอิสราเอล โดยปล่อยยิงแบบ Launcher ในวงเงิน 50 ล้านบาท ต่อ 1 ชุด (อากาศยาน 1 เครื่อง และชุดควบคุม 1 ชุด) แต่ MARCUS จะใช้งบประมาณในการผลิตเพียงไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อชุด อีกทั้งยังสามารถขึ้นลงทางดิ่งที่จะสามารถตอบสนองการปฏิบัติการร่วมในทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อากาศยานไร้คนขับ MARUS จะถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยที่เข้าสู่สายการผลิต ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปี งบประมาณ 64 ที่มอบให้ว่า “ขับเคลื่อนงานวิจัยของกองทัพเรือให้สามารถนำไปสู่ภาคการผลิต และเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม”
Phong 9897 กองทัพ มีงานอะไรทำเอาให้ชัดเจน เวลาไม่มีสงครามยาวนานเป็นสิบปี จะอยู่ไม่มีภาระกิจจริงๆไม่ได้แล้ว ลดนายพลได้แล้ว งบประมานก็ต้องเหมาะกับ สภาพของประชาชน กินหรู่อยู่สบาย เวลานี้ไม่สมควร
10 มิ.ย. 2564 เวลา 20.36 น.
อำนาจ พรมจันทร์ ของเล่นอันใหม่ เอากันให้พอใจ
10 มิ.ย. 2564 เวลา 21.30 น.
ImäGinãTioÑ จะวิจัยเพื่อ?
10 มิ.ย. 2564 เวลา 20.45 น.
Off ปรหยัดกว่าดำน้ำเนอะ
10 มิ.ย. 2564 เวลา 20.12 น.
ดูทั้งหมด