ไลฟ์สไตล์

เตือนระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบปีนี้ป่วยแล้วกว่า 7,000 ราย

TODAY
อัพเดต 20 ก.ย 2562 เวลา 09.58 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 09.58 น. • Workpoint News

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา ขอให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องโดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค หากมีไข้สูงอย่างฉับพลัน และมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

วันที่ 20 ก.ย. 62 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีพบการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายในพื้นที่ จ.นนทบุรี ว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี รายงานว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลายจริงกว่า 10 ราย ในสี่หมู่บ้านของ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ไม่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง ซึ่งทยอยป่วยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยลดลงแล้ว เป็นการระบาดในวงจำกัดและสามารถควบคุมโรคได้ โดยคาดว่าการระบาดมาจากนอกพื้นที่ ผ่านผู้เดินทางจึงขอให้ประชาชนในพื้นที่อย่าวิตก และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มีทั้งยุงลายสวนและยุงลายบ้าน เป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาการเด่นชัดในผู้ใหญ่คือปวดข้อ อาจพบข้ออักเสบได้ ซึ่งเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อ จะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และอาการจะหายภายใน 1 - 2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือนหรือเป็นปีได้ ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะจึงต้องรักษาตามอาการ

สำหรับสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 16 ก.ย. 62 พบผู้ป่วย 7,481 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 25 - 34 ปี รองลงมาคือ 35 - 44 ปี และ 15 - 24 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ปัตตานี ระนอง ตาก ภูเก็ต และสงขลา ตามลำดับ

การป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
    หากปฏิบัติดังนี้จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ดูข่าวต้นฉบับ