วิชาที่เราชอบเรียนที่สุดก็คือ Multicultural หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ, เพศสภาพ, ศาสนา, และอื่นๆ
ล่าสุด เราต้องเขียนรายงานศึกษาวัฒนธรรมของตัวเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อสะท้อนผลงานของเราในฐานะนักจิตบำบัดในอเมริกา ว่ามันมีความยากลำบากหรือความติดขัดใจยังไงบ้างไหม
.
.
.
‘สังคมที่เป็นปัจเจก (Individualistic culture) คุณค่ามันอยู่ที่การแสดงออกด้วยความแน่วแน่เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการมา แต่สังคมที่เน้นอยู่กันด้วยความผูกพันแบบกลุ่มอย่างคนไทย (Collectivist culture) คุณค่าของมันอยู่ที่การให้ความสำคัญกับสันติภาพของส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง’
.
คนเอเชียโดนสอนมาตั้งแต่เด็ก ให้ใจดี แบ่งปัน คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมไว้ก่อน (Collectivist culture)
บวกกับการโตมาในครอบครัวใหญ่ หลายคนจะถูกพร่ำบอก ให้เป็นเด็กเรียบร้อย พูดน้อยๆ ไม่เถียงผู้ใหญ่ (ในงานวิจัยที่เจอมาสำหรับเด็กเอเชีย มีคนบอกว่า ไม่ใช่แค่ต้องไม่เถียงพ่อแม่นะ แต่เวลาพี่ชายพี่สาวพูดอะไร ตัวเองก็ไม่กล้าขัดอีกแหนะ ต้องเงียบๆ เอาไว้)
ชุดความคิดที่เรายึดถือมาตั้งแต่เด็กคือ เรามีความเอาใจเขามาใส่ใจเราสูง (หลายครั้งก็สูงเกินไป) จนกลายเป็นฟองน้ำที่ดูดความรู้สึกคนอื่นมาจมไว้กับตัวเอง แล้วบีบออกไปไม่ได้ซะงั้น
.
‘คนไทยถูกสอนให้อย่ามีเรื่องกับใครซึ่งๆ หน้า ให้เก็บความโกรธ เกลียด แค้น หมองหม่น เศร้าโศกนั้นไว้กับตัว’
หลายครั้งวิธีจัดการกับอารมณ์ขุ่นมัวของคนเอเชีย
จะเข้าสูตร ‘ยอมรับ, เปลี่ยนความคิด, อดทนสู้ต่อไป’ (accepting, reframing, striving)
จะเห็นได้จากการ ยอมรับกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด เปลี่ยนชุดความคิดที่เรามีให้มองบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าให้ได้ เพื่อจะเดินหน้าต่อ
.
‘ความเกรงใจ’
หนึ่งคำจำกัดความเดียว ที่ประเทศอื่นไม่มี และเราภูมิใจกับสิ่งนี้สุดๆ
และบางครั้งมันก็ขัดกับชุดความคิดของคนที่นี่
เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าคุณจะ ‘สุภาพ’ มันก็ต้องอยู่ในตรรกะที่มีเหตุผลเพียงพอในรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ หลายครั้งฝรั่งจะงงว่าคนไทยจะเกรงใจทำไม เช่น เห็นคนไทยถือของหนักอยู่ แล้วเขาเสนอตัวจะมาช่วยถือ คนไทยเกรงใจ บอกไม่เป็นไร ถือเองได้ ฝรั่งก็ไม่เข้าใจ ก็ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าถือของหนักจะไม่ไหวแล้ว จะปฏิเสธทำไมว่าไม่เป็นไร ดูไม่จริงใจและไม่มีเหตุผลเอาซะเลย ซึ่งมีผู้ให้คำอธิบายความเป็นไทยได้อย่างดีมาก เขาบอกว่ามันคือ ‘heart and mind’ ระบบความคิดและจิตใจของเรา คนอื่นคิดว่า การปฏิเสธของเราอาจหักหน้าของเขาในที่สาธารณะ แต่ความตั้งใจที่บริสุทธิ์ของเรานั้นมาจากการไม่อยากรบกวนผู้อื่น การคิดถึงผู้อื่นก่อนนั่นเอง และหลายครั้ง ‘ความเกรงใจ’ ก็เลยไปถึงชุดความคิดแห่งความ ‘กตัญญู’ ที่ไม่ใช่แค่อยากให้พ่อแม่สบาย เลี้ยงดูเขาให้มีความสุขนะ แต่หมายถึงไม่อยากเป็นภาระ ไม่อยากให้เขาระแคะระเคืองใจ หลายครั้งเราเลยไม่เลือกจะเล่าเรื่องราวโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ท่านฟัง เพราะไม่อยากให้ท่านต้องมากังวล ให้เราต้องเป็นภาระหัวใจของท่าน
.
.
.
เรา ในฐานะนักจิตบำบัดที่นี่
เราเคยตอบคำถามเพื่อนหลายคนมาก
ว่าการมีคนไข้เป็นคนอเมริกันนั้นง่ายกว่าคนเอเชียเยอะเลย
เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่เครียดแล้วจบแค่เรื่องตัวเอง แต่คนเอเชียมีความรักครอบครัว มีความต้องรับผิดชอบสังคมที่ตัวเองอยู่มากล้น ความเครียดและหนักหน่วงของพวกเขาจึงต้องพ่วงอีกหลายชีวิตที่พวกเขาแคร์
- เราเป็นเลสเบี้ยน แต่แม่เรารับไม่ได้
- เราเป็นนักเขียน แต่มันไม่ดีพอสำหรับครอบครัว
และอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาค้นหา ‘คุณค่า’ ที่คนไข้ยึดอยู่กับใจ คุยความเสี่ยง คุยความขับข้องใจ ซึ่งในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคนไข้จะเลือกครอบครัว หรือเลือกความสุขของตัวเอง เราทำได้ก็แค่อยู่กับคนไข้ไปเรื่อยๆ เท่าที่คนไข้ต้องการ
.
เราต้องฝึกการมีปากมีเสียงบอกเล่าเรื่องราวความคิดของเราให้มากขึ้น ไม่ใช่เก็บมันเอาไว้ เออออห่อหมกเหมือนตอนอยู่ไทย แต่เรารู้สึกภูมิใจมากที่มีความ ‘เรียบร้อยและกาลเทศะ’ ที่โดนปลูกฝังมาให้มีพลังมากพอจะเคลือบการแสดงออกทางความคิดของเราเอาไว้ ให้คิดถึงใจเขาใจเรา มีความมั่นใจ แต่ไม่กลายเป็นคนก้าวร้าว (เวลาเห็นนักเรียนยุโรปเถียงครูที่นี่ที นึกว่าจะหาเรื่อง ตกใจมาก)
หลายครั้งที่มันก็ทำเราวิตกกังวลเครียดหนักไปหลายวัน อย่างตอนที่เราต้องโทรไปแจ้งเรื่องการล่วงละเมิดของเด็ก เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องจัดการอย่างหนักแน่นไม่ปวกเปียก เป็นบทบาทที่เรานั้นไม่คุ้นเคย
ความเกรงใจของเรา บางครั้งมันเลยเถิดไปถึงการ ‘ไม่กล้าถามซ้ำซาก’ เพราะเกรงใจอาจารย์ที่ปรึกษาเราที่ต้องมานั่งอธิบายแล้วอธิบายอีก แต่เอ้อ! มันก็หน้าที่ของเขา และเราก็ต้องเข้าใจถ่องแท้เพราะมันมีผลต่อคนไข้! และหลายครั้งที่เราก็เกิดความลำบากใจที่จะถามคำถามจี้ใจคนไข้ แต่เอ้อ! นั่นมันก็หน้าที่เราอีกนั่นแหละ! เรามักเป็นคนกลัว ‘ความขัดข้องใจ’ แต่จริงๆ แล้วหน้าที่ของเราคือ ‘ขุดความขัดข้องใจ’ นั้นออกมา ให้คนไข้เข้าใจตัวเองให้มากที่สุด (มัวแต่เป็นเชียร์ลีดเดอร์อยู่กับที่ คนไข้ก็ไม่ไปถึงเส้นชัยซะที)
ทุกวันนี้ก็สนุกมากกับการปรับตัว และรู้สึกตลกตัวเองไปอีกแบบ
.
.
และสุดท้ายเลย กับความขัดแย้งในใจของเราระหว่างทำการบำบัดคนไข้ในข่วงแรกๆ
คือหลายครั้ง เวลาคุยกับคนไข้ เราต้องขุดออกมาให้ลึกที่สุดให้ได้ เหมือนเป็นคนดราม่า (ซึ่งจริงๆ แล้วเราเป็นคนดราม่า) เพื่อจะใช้อดีตมาอธิบายให้สมเหตุสมผลกับการกระทำและความคิดฝังรากลึกที่มีอยู่นี้
ซึ่งมันขัดกับความเป็น ‘ชาวพุทธ’ ที่ให้เราปล่อยวางและเป็นไปตามกฎแห่งกรรมเหลือเกิน จนบางครั้งความเป็น ‘ฟองน้ำ’ ของเรา มันก็เลยเถิดจนกลายเป็นตรงกันข้ามกับการ ‘ปล่อยวาง’ อย่างสิ้นเชิง
เราหยุดคิดถึงเรื่องของคนไข้ไม่ได้ จนมีอยู่ช่วงหนึ่งเรา Burn Out อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้จากความกดดันที่สุมหัวเพราะไม่รู้จักเอาตัวเองไปพัก
เราเริ่มรู้สึกสูญเสียความเป็นพุทธไปทีละน้อย และหากเรากลับมาใช้ความเป็นพุทธ เราก็กลัวว่าเราจะเป็นนักจิตบำบัดที่ไม่ดีพอ
จนในที่สุด เราถึงได้เรียนรู้ ‘การแบ่งรับแบ่งสู้ให้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของกันและกัน’
คนหนึ่งคน เอาหลายวิถีแนวคิดที่เลือก มาปรับใช้กับช่วงชีวิตในแต่ละส่วนได้อย่างสมดุล
จนตอนนี้ เราก็พยายามทำอย่างที่เพื่อนนักบำบัดของเราบอกนั่นแหละ
‘เธอมีเวลาจะช่วยคนไข้ให้ดีที่สุดก็แค่ 50 นาทีในห้องเองนะ และเมื่อหมดเวลานั้นแล้ว เธอก็ต้องปล่อยหัวสมองที่ทำงานหนักวุ่นหาเหตุผลในตอนนั้นออก ปล่อย-วาง
คิดถึงคนไข้น่ะได้ แต่ให้คิดถึงแค่เบาๆ’
อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันอังคาร บน LINE TODAY
ประเด็นต้องเช็คนักบำบัดก่อนเลย
17 มี.ค. 2563 เวลา 14.39 น.
bon ami Liว่าไงมีอะไร
17 มี.ค. 2563 เวลา 16.12 น.
Mookie ทางสายกลางดีทีสุด
18 มี.ค. 2563 เวลา 12.21 น.
บางครั้งในการที่จริงจังกับในการดำเนินชีวิตมากจนเกินไป ก็อาจไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขเกิดขึ้นมาได้.
18 มี.ค. 2563 เวลา 11.37 น.
pongpipat โดนหลอกให้ทำวิทยานิพน เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย
คนที่ได้ประโยชน์คือฝรั่ง เขาไม่ต้องจ้างคนมาศึกษาวิจัยเขียนรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย. เขาแค่หลอกให้วุฒิกับ นศ ไทย. ก็ได้คนเขียนรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยให้เขา ฟรีๆ
เหมือนหลายปีก่อนหน้านี้ ที่ นศ ไทย ไปเรียน ดอกเตอร์ สาขาเกษตร ที่เมกา แล้วโดนหลอกให้เขียนวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าวไทย. พวกเขียนซะ เมกาได้ข้อมูลข้าวไทยไปแบบเต็มๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลเองเลย
แลกกับใบปริญญา
เอาข้อมูลวัฒนธรรมไทย ไปแลก
19 มี.ค. 2563 เวลา 12.57 น.
ดูทั้งหมด