ไลฟ์สไตล์

“จำวัด-จำพรรษา-จำศีล” ทำไมต้องจำ “จำ” คำเขมรที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 30 ก.ย เวลา 05.05 น. • เผยแพร่ 28 ก.ย เวลา 07.53 น.
อักษรเขมรโบราณ ศิลาจารึกปราสาทบันทายศรี พุทธศตวรรษที่ 16

จำวัด จำพรรษา จำศีล ทำไมต้องจำ “จำ” คำเขมรที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า “จำ” ไว้ใน 4 ความหมายด้วยคือ (1) ก. กำหนดไว้ในใจ, ระลึกได้ (2) ก. ลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ตรวนล่ามไว้ เช่น จำโซ่ จำตรวน, ลงโทษด้วยวิธีขัง (3) ก. อาการที่ต้องฝืนใจทำ (4) (โบ) น. ชายผ้า โดยในความหมายที่ 1 ที่ว่า “ก.กำหนดไว้ในใจ, ระลึกได้, เช่น จำหน้าได้” นั้นมีความอธิบายต่อไปว่า “ลูกคำของ ‘จำ 1’ คือ จำพรรษา จำวัด จำศีล”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อค้นคำอธิบายต่อไปของลูกคำในความหมายที่ 1 พจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า จำวัด “ก. นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร)”, จำพรรษา “ก. อยู่ประจำที่วัด 3 เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์)” และ จำศีล “ก. ถือศีล, รักษาศีล”

ถึงตรงนี้จะเห็นว่า “จำ” ที่อธิบายไว้แต่ต้น เมื่อเอามาผสมเป็นคำว่า จำวัด จำพรรษา จำศีล แล้วความหมายดูจะลักลั่นกันอยู่บ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะคำว่า “จำ” นั้นไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำเขมร

ความเข้าใจในเรื่องนี้ ขออ้างอิงจากข้อเขียนของ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในหนังสือ “แลหลังคำเขมร-ไทย” (สนพ.มติชน, ธันวาคม 2562) ที่เปิดพจนานุกรมเขมรอธิบายคำว่า “จำ” พจนานุกรมเขมรฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ พ.ศ. 2512 อธิบายว่า “เฝ้าอยู่ไม่ไปไหน, อยู่ดูแลรักษา”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะคำว่า “จำ” นั้นเป็นคำเขมรโบราณ ที่พบในสิลาจารึกโบราณเขียนในรูปแบบต่างกัน เช่น จํ, จม และจำ แต่มีความหมายเดียวกันคือ “เฝ้า, เฝ้าดู, เฝ้ารักษาเป็นพิเศษ”

นอกจากพจนานุกรมเขมร ผู้เขียน (รศ. ดร. ศานติ) ยังมีอ้างอิงข้อความ ในศิลาจารึก K. 732 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ถเว ตโปวน จำวรุษ แปลว่า “ทำตโปวนจำพรรษา” มาเป็นหลักฐานอีกด้วย คำว่าจำพรรษา* (จำวรุษ) เป็นคำที่มีใช้ในศิลาจารึกเขมรโบราณ หมายความว่า “เฝ้าอยู่ไม่ไปไหนในฤดูฝน”*

ดังนั้น คำว่า จำ ที่มาจาก ภาษาเขมร เป็นภาษาเขมรโบราณ แปลว่า “เฝ้า อยู่ไม่ไปไหน, อยู่ดูแลรักษา” เมื่อประสมเป็นคำว่า จำวัด จำพรรษา จำศีล ความหมายจริงๆ ของคำว่า จำวัด จึงหมายถึง “เฝ้าอยู่ที่วัด (นอน)” ขณะที่จำพรรษา หมายถึง “เฝ้าอยู่ไม่ไปไหนในฤดูฝน” และจำศีล หมายถึง “อยู่รักษาศีล”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อรู้รากที่มาของคำ การทำความเข้าใจจึงง่ายขึ้น เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “จำวัด-จำพรรษา-จำศีล” ทำไมต้องจำ “จำ” คำเขมรที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • John KR
    จำเพาะ จำกัด จำเขี่ย จำเริญ จำอวด จำพราก
    25 พ.ย. 2566 เวลา 21.13 น.
  • Tang Pairat
    เมื่อก่อนไม่มีประเทศอยู่ปนๆกันไป..ลาว พม่า เขมร..ภาษาเลยใช้ผสมๆกันไป คนเขียนประวัติศาสตร์ไทย ทำให้เราหลงลืมรากเหง้าเหล่านี้ไป..ลองศึกษาประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิดูคับ น่าสนใจ
    07 มี.ค. 2564 เวลา 07.04 น.
ดูทั้งหมด