ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คอนโดล้นกรุง 4หมื่นยูนิต 1.3แสนล.รอขาย

ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 02.00 น.

ตลาดคอนโดมิเนียมน่าห่วง เหลือขายทั่วกทม.สูงกว่า 4 หมื่นยูนิต กูรูอสังหาฯชี้ใช้เวลาระบายสต๊อก 28-30 เดือน ดีเวลอปเปอร์มึนยอดขายมีแต่รายได้ไม่เกิด ลูกค้ากู้ไม่ผ่าน หวังรัฐบาลใหม่อัดยาแรงกระชากกำลังซื้อ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาหนัก กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเมืองที่ยังวุ่นจับขั้วแย่งชิงกันตั้งรัฐบาล บวกด้วยมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (หลักเกณฑ์ LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสกัดความร้อนแรงในตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งในปี 2561 เปิดใหม่ทำลายสถิติสูงสุดจำนวน 6.5 หมื่นหน่วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตัวเลขตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ สิ้นปี 2561 มีอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 451,475 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 3.471 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบ้าน จัดสรรทั้งหมดประมาณ 177,531 ยูนิต มูลค่าประมาณ 1.107 ล้านล้านบาท และคอนโดมิเนียมทั้งหมดประมาณ 273,944 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 2.363 ล้านล้านบาท

หลังตลาดรับรู้มาตรการ ธปท.ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างมาก ต่อภาพรวมของธุรกิจอสังหา
ริมทรัพย์ ผู้ประกอบการมีความห่วงกังวลกับสินค้าเหลือขายที่อยู่ในมือแต่ละราย โดยเฉพาะบริษัทที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมากๆ แม้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่เพิ่งออกมาก็ไม่สามารถช่วยได้

จากความกังวล สะท้อนออกมาให้เห็นช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ มีคอนโดมิเนียมเปิดขาย
ใหม่ในกรุงเทพฯ 18 โครงการ 8,443 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 45,432 ล้านบาท และส่วนใหญ่เปิดในช่วงปลายเดือนมีนาคม ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าถึง 12,438
ยูนิต หรือคิดเป็น 59.6% และลดลงจาก ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ที่ประมาณ 5,607 ยูนิต หรือคิดเป็น 39.9% และมูลค่าการลงทุนที่ประมาณ 85,910 ล้านบาท ถึง 47.1%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบันตลาดคอนโดมิเนียม มีอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จหลังจาก วันที่ 1 เมษายน 2562 ประมาณ 134,909 ยูนิต ด้วยมูลค่าประมาณ 403,261 ล้านบาท ขายไปแล้วประมาณ 89,179 ยูนิต มูลค่าประมาณ 270,187 ล้านบาท และเหลือขายอีกประมาณ 45,730 ยูนิต ด้วยมูลค่าประมาณ 133,074 ล้านบาท

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กทม.ล้นกว่า4.2หมื่นยูนิต

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอล ลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันน่ากังวล เนื่องจากมีอุปทานเหลือขายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯรวมกันกว่า 4.2 หมื่นยูนิต โดยอัตราการขายอยู่ที่ประมาณ 45-50% ทั้งนี้ช่วงไตรมาส 1ปีนี้มีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มอีกประมาณ 8,000 ยูนิต และตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงครึ่งปีหลัง ผู้ประกอบการทุกรายคงเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ๆออกสู่ตลาด หลังจากไตรมาสแรกวุ่นกับการกระตุ้นให้ลูกค้ารีบซื้อรีบโอนกรรมสิทธิ์ก่อนมาตรการคุมสินเชื่อบ้านของธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2562

ในสต๊อกที่มีกว่า 4.2 หมื่นยูนิต คอนโดมิเนียมกลุ่มระดับราคา 3-5 ล้านบาท มีเหลือขายค่อนข้างมาก ผู้ซื้อกลุ่มใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ มีปัญหาการเลิกจ้างงาน ขณะที่ระดับราคา 1.5-2.5 ล้านบาทยังไปได้ แต่ผู้ซื้อกลุ่มนี้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มราคา 1.5 ล้านบาท ส่วนกลุ่มราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อลงทุน ก็เริ่มระมัดระวังมากขึ้นหลังมาตรการรัฐเริ่มมีผลบังคับใช้

“ด้วยสต๊อกที่มีกว่า 4.2 หมื่นยูนิต ประเมินว่าต้องใช้เวลาระบายนานประมาณ 28-30 เดือน โดยที่ไม่มีการเปิดขายโครงการใหม่เติมเข้ามา ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้”

“ถ้าหากว่าปีนี้สถิติการเปิดขายใหม่ยังสูงถึง 5 หมื่นยูนิต ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แบงก์เข้มการปล่อยสินเชื่อ ก็จะซํ้าเติมปัญหาสต๊อกล้น คาดการณ์ว่าดัชนีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในปีนี้จะถอยไปใกล้เคียงกับปี 2560 คือเฉลี่ยที่ประมาณ 7.4% ต่อเดือน คงต้องรอรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นที่แรงๆ ออกมา”

 

ยอดขายมีแต่รายได้ไม่เกิด

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวถึงสถานการณ์การขายในปัจจุบันว่ายอดขายมี แต่รายได้ไม่มีเพราะลูกค้ามีปัญหากู้ไม่ผ่าน โดยเฉพาะกลุ่มราคา 3 ล้านบาทซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ผู้ซื้อมีปัญหาหนี้ครัวเรือน กับหนี้ส่วนบุคคล ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงนี้มีปรากฎการณ์ลูกค้าทิ้งดาวน์ ทิ้งโอนเกิดขึ้น

“สะท้อนว่าแบงก์ชาติออกมาตรการมาเพื่อจะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดฟองสบู่ แต่กลับทำให้เกิดฟองสบู่ จากการที่ผู้ประกอบการสร้างเสร็จ แต่ไม่สามารถขายได้เพราะลูกค้าคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระสต๊อกจำนวนมาก ถ้ารัฐไม่ออกมาตรการมาอุ้มคงตายกันหมด”

 

ตลาดรวมโตลดลง

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มีโครงการเปิดขายใหม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทรายเล็กก็ปรับตัวเน้นเจาะตลาดเฉพาะ เช่นโฮมออฟฟิศ ที่พัฒนาบนที่ดินของตนเอง ลดต้นทุนราคาที่ดินแพง อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับปีนี้คงเติบโตลดลง แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนก็ยังเป็นบวก ซึ่งช่วง 5 ปีนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์บวกมาตลอด

ด้านนายศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังเพิ่งเปิดตัวคอนโด มิเนียมระดับลักชัวรี “ต้นสน วัน เรสซิเดนซ์” ในย่านเพลินจิต-หลังสวน มูลค่าโครงการรวม 2.9 พันล้านบาท ว่า ยอมรับตลาดอสังหาฯไทยขณะนี้ ชะลอตัว ไม่มีปัจจัยบวก โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองไม่ชัดเจน การจัดตั้งรัฐบาลไม่พร้อม ขณะเดียวกันตลาดต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯราคาตํ่ากว่า 5 ล้านบาท ที่เคยมีกำลังซื้อหลักจากผู้ซื้อชาวจีนเริ่มเห็นภาพชะลอลง ขณะที่นโยบายที่รัฐออกมา ลดค่าธรรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ในกลุ่มที่อยู่ตํ่ากว่า 1 ล้านบาทนั้น มองเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน จุดประสงค์เพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อย แต่ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวไม่มีกำลังซื้อ และแทบไม่มีซัพพลายในตลาดตอบรับ

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มตลาดบน ระดับลักชัวรี-ซูเปอร์ลักชัวรี ทั้งแนวราบและคอนโดฯ มองว่ายังไปได้ สะท้อนจากยอดขายโครงการแนวราบก่อนหน้า “วนา เรสซิเดนซ์” มูลค่า 1.8 พันล้านบาท ขณะนี้มียอดขายแล้ว 60% คาดปิดการขายปี 2563 ส่วนโครงการ “ต้นสน วัน เรสซิเดนซ์” พัฒนาภายใต้การร่วมทุนในนาม ต้นสน ดีเวลลอปเม้นท์ ราคาเริ่ม 20 ล้านบาท (เฉลี่ย 3.6 แสนบาท/ตร.ม.) คาดจะได้รับการตอบรับดีเช่นกัน หลังจากมีจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้ง เป็นกรรมสิทธิ์ฟรีโฮล ย่านเพลินจิตที่มีทำเลศักยภาพสูงสุดและที่ดินหายากมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ จำนวนซัพพลายในตลาดเกิดขึ้นน้อยมาก จึงเป็นที่ต้องการของทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติกลุ่มมีกำลังซื้อสูง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการซื้อเพื่อปล่อยเช่าให้ชาวญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน เป็นต้น เนื่องจากมีความน่าสนใจในแง่ผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับทำเล CBD อื่นๆ

ขณะที่นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมบ้านจัดสรร ไม่เชื่อว่าไตรมาส 1 ที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์มากนั้นเป็นเพราะต้องการหนีมาตรการรัฐ เพราะถ้าหนีจริงตัวเลขต้องสูงกว่านี้ จากปัจจุบันไม่ต้องรอจบไตรมาส 2 ก็เห็นถึงความแย่ของตลาดแล้ว 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,471 วันที่ 19 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Cdr.Kitti42
    ขายแพงขนาดนั้น คิดว่าคนที่ซื้อตั้งมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะกู้ผ่าน ติดกับดักรายได้ปานกลาง
    20 พ.ค. 2562 เวลา 15.22 น.
ดูทั้งหมด