รีวิวโดยทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs วันที่ 27/03/2562
คนเราย่อมรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่สบายใจบ้างเป็นธรรมดา แต่หากคุณรู้สึกกังวลมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ความวิตกกังวลทั่วไป แต่เกิดจากโรควิตกกังวล ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่ามาก
ความวิตกกังวลเป็นกลไกการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ ทำให้คุณรู้สึกตื่นตัวมากขึ้นและพร้อมที่จะรับมือกับความเครียดและความกดดันต่างๆ ในขณะที่โรควิตกกังวลนั้นเป็นความรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจที่รุนแรงและเป็นอยู่นาน จนขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การไปโรงเรียน หรือการออกไปหาครอบครัวและเพื่อน ซึ่งโรควิตกกังวลจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะอาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้างได้
โรควิตกกังวลมีสาเหตุจากอะไร?
โรควิตกกังวลเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคประมาณสถิติการเกิดโรคนี้ไว้ว่า 15% ของประชากรจะเป็นโรควิตกกังวลในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 60% และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการของโรคนี้ในช่วงวัยเด็ก โดยอายุเฉลี่ยของการเริ่มเป็นโรคอยู่ที่ 11 ปี
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรควิตกกังวลมักเกิดจากทั้งประสบการณ์ส่วนตัวและปัจจัยทางพันธุกรรมที่ยังระบุไม่ได้ โดยโรคนี้อาจมีการถ่ายทอดในครอบครัว เด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวลจะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากขึ้น เมื่อรวมกับเหตุการณ์ความเครียดหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การเสียชีวิตของคนที่รัก การตกงาน ล้มละลาย หรือปัญหาทางการเงินที่ไม่สามารถหาทางออกได้ จึงทำให้บางคนยิ่งเสี่ยงเกิดโรควิตกกังวลได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เมื่อเผชิญเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจแล้วจะเป็นโรควิตกกังวล และใช่ว่าผู้ป่วยโรควิตกกังวลทุกคนจะเคยประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก่อน
ประเภทของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลจัดเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย และสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท เช่น
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorder หรือ GAD) ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีความกังวลแบบเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
- โรคตื่นกลัวอย่างรุนแรง (Panic disorder) โรคนี้ทำให้มีอาการตื่นตกใจกลัวบางสิ่งบางอย่างโดยไม่สมเหตุสมผล และจะรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมาเป็นพักๆ
- โรคกลัว (Phobias) เป็นโรคที่ทำให้มีความกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปกติมักไม่ทำให้เกิดอันตราย และคนทั่วไปไม่กลัวกัน
- โรคกลัวสังคม (Social anxiety disorder หรือ Social phobia) ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความรู้สึกไม่สบายใจอย่างรุนแรงหากต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้มักหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
- ภาวะกังวลต่อการพรากจาก (Separation anxiety disorder) เป็นความกลัวต่อการต้องแยกจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างรุนแรง เช่น พ่อแม่
- ภาวะสะเทือนขวัญหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder) จากการจัดประเภทโรคทางจิตของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) โรคนี้ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลอีกต่อไป แม้ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหรือความกลัวที่เกิดขึ้นตามหลังเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจหรือส่งผลต่อร่างกายอย่างรุนแรง
อาการของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลแต่ละประเภทมีอาการเด่นที่แตกต่างกันออกไป คุณจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคในกลุ่มนี้ก็ต่อเมื่อพบว่ามีความกลัวต่อเหตุการณ์ สถานที่ หรือสิ่งของใดๆ ที่ปกติไม่ได้ทำให้เกิดอันตราย โดยอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ บางครั้งก็สังเกตได้จากการมีความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาเป็นอย่างน้อย 6 เดือน
ผู้ป่วยโรควิตกกังวลส่วนใหญ่มักมีอาการทั้งทางกายและทางจิตร่วมกัน ซึ่งอาการที่สามารถพบได้ร่วมกันในโรควิตกกังวลทุกประเภทก็คืออาการกลัวหรือกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
อาการทางจิตอื่นๆ ของโรควิตกกังวล ประกอบด้วย
- รู้สึกหวาดหวั่นหรือกลัว
- รู้สึกกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่สุข
- รู้สึกเครียดและตื่นตกใจง่าย
- หวาดระแวง มองหาสัญญาณของอันตรายตลอดเวลา
อาการทางกาย ประกอบไปด้วย
- หัวใจเต้นเร็วหรือแรง
- หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก
- มีอาการสั่น
- ปวดหัว
- อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง
- นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้หรือท้องไส้ปั่นป่วน
- ปัสสาวะบ่อย หรือท้องเสียบ่อย
โรควิตกกังวลกำเริบ มีอาการอย่างไร?
โรควิตกกังวลหรือตื่นกลัวอาจมีอาการกำเริบขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวอย่างฉับพลัน ซึ่งอาการมักคงอยู่ได้หลายนาทีจนถึงครึ่งชั่วโมง โดยสถานที่หรือสถานการณ์บางอย่างสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ในบางคน และอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนก็ได้ นอกจากนี้ การมีอาการวิตกกังวลกำเริบบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคหวาดระแวงได้
เมื่อมีอาการของโรควิตกกังวลกำเริบ คุณมักจะต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 ข้อ
- ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว
- เหงื่อออก
- มีอาการสั่น
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- หายใจลำบาก
- รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
- มีอาการชา โดยเฉพาะที่มือ
- รู้สึกร้อนหรือหนาวสั่น
- เวียนศีรษะ มึนศีรษะ หรือรู้สึกโคลงเคลง
- คลื่นไส้ หรือท้องไส้ปั่นป่วน
- รู้สึกเหมือนจะหมดสติ
- รู้สึกสูญเสียการควบคุมหรือรู้สึกเหมือนกำลังจะเป็นบ้า
- กลัวว่าจะมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นอย่างรุนแรง กลัวความตาย
โรควิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่น
โรควิตกกังวลมักเริ่มมีอาการในวัยเด็ก โดยพ่อแม่ของเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรควิตกกังวลมักพบว่าเด็กมีอาการหรือพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางวิชาการหรือทางสังคม
- ต้องการการช่วยเหลือดูแลอย่างมาก ซึ่งมักเกิดจากความกลัวต่อสิ่งร้ายๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- ผลการเรียนไม่ดี
- มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- มีปัญหาด้านการกิน อาจกินน้อยหรือกินมากเกินไป
- มีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
โรคซึมเศร้ากับโรควิตกกังวล ต่างกันอย่างไร?
โรคซึมเศร้ากับโรควิตกกังวลนั้นมีอาการแตกต่างกัน แต่ผู้ป่วยโรควิตกกังวลบางรายอาจเป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วยได้ โดยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึงประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สมาคมโรควิตกกังวลและซึมเศร้าแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Anxiety and Depression Association of America) ระบุว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นมักมีอาการที่คล้ายคลึงกับอาการของโรควิตกกังวลก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรควิตกกังวลเสมอไป ซึ่งอาการที่อาจพบได้ในทั้ง 2 โรค ได้แก่ วิตกกังวล กระสับกระส่าย มีปัญหาในการนอนหลับ และไม่มีสมาธิ ดังนั้น หากคุณมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์เป็นดีที่สุด
การวินิจฉัยโรควิตกกังวล
หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองหรือลูกอาจเป็นโรควิตกกังวล คุณสามารถประเมินอาการเบื้องต้นด้วยตนเองจากการทำแบบสอบถามคัดกรองโรค หากมีอาการเข้าข่ายหรือมีอาการที่น่าวิตกกังวล คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์หรือพยาบาลจะถามคำถามเกี่ยวกับอาการของคุณ โดยอาการทางกายบางอย่างของโรคนี้อาจคล้ายคลึงกับโรคทางกายบางโรค เช่น โรคหัวใจหรือโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง เบื้องต้นแพทย์จึงอาจตรวจร่างกายและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคทางกายเหล่านี้ออกไปก่อน หากไม่พบว่ามีโรคทางกาย แพทย์อาจส่งให้คุณไปพบกับผู้เชี่ยวชาญทางจิตอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตที่อาจเป็นสาเหตุ หากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มโรควิตกกังวล ผู้เชี่ยวชาญจะระบุประเภทของโรควิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว และจะตรวจหาโรคทางจิตอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกันด้วย เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนในการวินิจฉัยโรควิตกกังวลโดยจิตแพทย์นั้น จะมีการใช้คู่มือวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 หรือที่เรียกว่า DSM-5 ซึ่งใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยโรควิตกกังวลและโรคทางจิตเวชอื่นๆ โดยแนวทางการวินิจฉัยโรควิตกกังวลใน DSM-5 ระบุว่าผู้ป่วยโรคนี้ต้องมีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติ และกังวลเกี่ยวกับหลายเรื่อง หลายเหตุการณ์ หรือหลายกิจกรรม รวมถึงเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป และเห็นได้ชัดว่ามีอาการมากกว่าปกติ
ความกังวลที่มากกว่าปกติ หมายถึง ความกังวลที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่มีอะไรผิด ไม่จำเป็นต้องคิดมาก หรือเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล มักมีอาการในเวลาที่ตื่น และได้รับการยืนยันจากบุคคลรอบข้างว่าดูวิตกกังวลผิดปกติจริง ในผู้ใหญ่อาจเป็นความกังวลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบหรือการทำงาน สุขภาพของตนเอง สุขภาพของคนในครอบครัว การเงิน และเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ในเด็ก เรื่องที่กังวลมักเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของตนเอง เช่น การเรียน การแข่งขันกีฬา การได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ เป็นต้น
ความวิตกกังวลที่มีมากผิดปกติ สังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- มีอาการกังวลที่ควบคุมไม่ได้ เรื่องที่กังวลอาจเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้
- ความตื่นตระหนกและกังวลนี้อาจเกิดร่วมกับอาการทางกายหรือทางการรับรู้ 3 อย่างในผู้ใหญ่ และ 1 อย่างในเด็ก ได้แก่ อยู่ไม่สุข เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ไม่มีสมาธิหรือรู้สึกว่าสมองว่างเปล่า กระวนกระวาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอ
- ความกังวลหรืออาการร่วมอื่นๆ ขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวัน และอาจทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์กับเพื่อร่วมงานหรือคนรอบข้าง
- อาจมีอาการอื่นๆ เช่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หรือท้องเสียร่วมด้วยได้
- อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคทางกาย และไม่ได้เกิดจากการใช้ยา แอลกอฮอล์ หรือยาเสพติดใดๆ
- อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากโรคทางจิตเวชอื่นๆ
การรักษาโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลสามารถรักษาให้หายได้ และมีทางเลือกในการรักษาหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและประเภทของโรควิตกกังวลที่เป็น คุณอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันหรือลองเข้ารับการรักษาหลายๆ วิธี จนกว่าจะพบวิธีที่เหมาะกับคุณมากที่สุด
การรักษาโรควิตกกังวลแบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
การใช้ยา
มียาหลายประเภทที่สามารถใช้รักษาโรคนี้ได้ โดยมักใช้ร่วมกับการทำจิตบำบัด กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรควิตกกังวลทั่วไป คือ
- ยาคลายกังวล (Anxiolytics) เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepine
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดที่มักนำมาใช้รักษาโรควิตกกังวลคือการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดหรือรูปแบบพฤติกรรมที่เป็นปัญหา (Cognitive behavioral therapy: CBT) ผ่านการพูดคุยกับนักบำบัดที่ผ่านการอบรมมาแล้ว เพื่อเรียนรู้วิธีคิดในแง่บวกและการจัดการกับความกลัว ความกังวล รวมถึงอาการอื่นๆ ร่วมกับนักบำบัด นอกจากนั้นผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การระบุและจัดการกับปัจจัยที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความกังวลด้วย
การรักษารูปแบบนี้อาจรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดที่เป็นอันตราย ทำให้คุณมีอาการวิตกกังวลน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงเรียนรู้วิธีการผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจเข้าลึกๆ เพื่อช่วยลดอาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรักษา CBT อีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Exposure therapy ซึ่งเป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัวบางชนิด โดยแพทย์จะค่อยๆ ให้คุณเผชิญกับสถานการณ์หรือสิ่งของที่กลัวทีละน้อย เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและช่วยให้ความกลัวลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
การรักษาด้วยการทำจิตบำบัดต้องใช้เวลานาน โดยอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ถึงจะเริ่มเห็นประโยชน์จากการเข้าบำบัด และผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้ยารักษาโรควิตกกังวลไปพร้อมๆ กันด้วย
ธรรมชาติบำบัด
มีการรักษาทางเลือกและการรักษาตามธรรมชาติที่อาจใช้ร่วมกับการใช้ยาและการทำจิตบำบัดเพื่อรักษาโรควิตกกังวล ตัวอย่างการรักษาทางเลือกเหล่านี้ เช่น
- ฝึกทำสมาธิ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่าการทำสมาธิ โดยเฉพาะการฝึกสติเพื่อลดความเครียด (Mindfulness-based stress reduction) สามารถช่วยลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าได้
- ออกกำลังกายและเล่นโยคะเป็นประจำ การเล่นโยคะเป็นการรวมเอาการจัดวางท่าทางของร่างกาย การหายใจ การออกกำลังกาย และการทำสมาธิเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีการศึกษาบางชิ้นที่แนะนำว่าการเล่นโยคะ หรือการออกกำลังกายอื่นๆ เช่น วิ่งหรือเดินเป็นประจำ มีประโยชน์ในการช่วยลดอาการวิตกกังวลได้
- การฝังเข็ม มีงานวิจัยบางชิ้นแนะนำว่าการฝังเข็มสามารถช่วยลดอาการของโรควิตกกังวล โดยวิธีนี้อาจใช้ได้ผลมากขึ้นเมื่อทำร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การทำจิตบำบัด
- คาวา (Kava) เป็นอาหารเสริมจากรากของไม้พุ่มชนิดหนึ่งที่นำมาบด ซึ่งก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงว่าคาวาอาจมีสรรพคุณคลายความกังวลและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรควิตกกังกล อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ Kava เนื่องจากองค์การอาหารและยาได้มีประกาศเตือนเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริมจากคาวาว่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตับได้ในผู้ป่วยบางคน
- ลาเวนเดอร์ น้ำมันดอกลาเวนเดอร์มักนำมาใช้ในการบำบัดด้วยกลิ่น (Aromatherapy) บางคนเชื่อว่ากลิ่นนี้มีผลช่วยทำให้จิตใจสงบ ทว่าก็มีหลักฐานงานวิจัยที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการนำลาเวนเดอร์มาใช้รักษาโรควิตกกังวลน้อยมาก
- สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St.John’s wort) อาหารเสริมจากต้นไม้ชนิดนี้ถูกนำมาใช้รักษาโรคซีมเศร้า โรควิตกกังวล และปัญหาด้านการนอนหลับ แต่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นที่ระบุว่า St.John’s wort อาจไม่ได้ช่วยรักษาโรคเหล่านี้แต่อย่างใด
- รากวาเลอเรียน (Valerian) พืชสมุนไพรชนิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้ามาหลายศตวรรต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุได้ว่าการใช้ รากวาเลอเรียนช่วยรักษาโรควิตกกังวลได้ผลจริงที่มาของข้อมูล
- พิเชฐ อุดมรัตน์, ผู้ป่วยวิตกกังวล (https://med.mahidol.ac.th/rama…)
- Nita V Bhatt, Anxiety Disorders (https://emedicine.medscape.com…), 17 May 2018
- Benzodiazepines (https://med.mahidol.ac.th/pois…)
👩⚕️👨⚕️ ค้นหาโรค อาการ ยา โรงพยาบาล คลินิก และอ่านบทความสุขภาพ เขียนโดยคุณหมอหรือผ่านการรีวิวจากคุณหมอแล้ว ที่ www.honestdocs.co และ www.honestdocs.id
💪❤️ ไม่พลาดข้อมูลดีๆ ที่จะทำให้คุณแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์ @honestdocs หรือแสกน QR Code ด้านล่างนี้ และยังติดตามเราได้ที่ Facebook และ Twitter วันนี้
📱📰 โหลดแอป HonestDocs สำหรับ iPhone ได้แล้ววันนี้! จะอ่านบทความ จะเก็บบทความไว้อ่านทีหลัง หรือจะแชร์บทความให้คนที่เราเป็นห่วง ก็ง่ายกว่าเดิมเยอะ คนอื่นไม่ต้องเสียใจให้เราส่ง sms แจ้งเตือนคุณเมื่อแอปพร้อมได้เลย!
ขอบคุณที่วางใจ ทุกเรื่องสุขภาพอุ่นใจ ให้ HonestDocs (ออเนสด็อกส์) คุณหมอมือถือ ดูแลคุณ ❤️