ในหนังเรื่อง World War Z ทั่วโลกถูกโรคระบาดซอมบี้กลืนกิน เมืองแล้วเมืองเล่าในโลกตกเป็นของพวกซอมบี้ ตัวเอกกับครอบครัวหนีจากฝูงซอมบี้หวุดหวิด และได้รับความช่วยเหลือไปอยู่ในเรือบัญชาการลำหนึ่งซึ่งกำลังปฏิบัติการแก้ปัญหาซอมบี้
ขณะที่เมืองส่วนใหญ่ถูกพวกซอมบี้ยึดครอง คนที่ยังเป็นปกติก็ต้องหนีหรือหลบซ่อนตัว เรือบัญชาการเป็นสถานที่ปลอดภัยจากซอมบี้ ผู้บัญชาการเรือขอให้ตัวเอกไปทำงานอย่างหนึ่งให้รัฐ เขาปฏิเสธ
ผู้บัญชาการจึงบอกว่า ทุกคนที่อยู่บนเรือเป็นพวก ‘Essential’ ถ้าไม่มีส่วนช่วยการทำงาน ก็อยู่บนเรือลำนี้ไม่ได้
Essential แปลว่าสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือสำคัญ
ถ้าไม่สำคัญต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์หนึ่ง ๆ ก็เรียกว่า ‘Non-essential’
ช่วงแรก ๆ ที่โรคโควิด-19 ระบาด ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ปิดพรมแดน หลายรัฐกลับยอมให้บุคคลบางประเภทเดินทางเข้าออกได้ เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เหตุผลคือเป็นกลุ่มที่ ‘Essential’
หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโรคระบาด ย่อมเป็นบุคคลที่ ‘Essential’ อย่างยิ่ง เพราะมีหน้าที่รักษาชีวิตคนทั้งประเทศ
หลายประเทศปิดสถานที่ที่ไม่ ‘Essential’ ต่อชีวิต เช่น ศูนย์การค้า โรงหนัง ร้านกาแฟ ยกเว้นสถานที่ ‘Essential’ เช่น ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต
การกักตัวในช่วงโรคระบาดทำให้เราเห็นว่า มีหลายกิจกรรมเดิมในชีวิตที่ไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ใช่สิ่งจำเป็นยิ่งยวด ยกตัวอย่าง เช่น การเดินเล่นในศูนย์การค้า หรือไปดูหนังในโรงภาพยนตร์
บางทีมันเป็นโอกาสดีที่จะพิจารณาว่า อะไรในชีวิตเราที่ ‘Essential’ อะไรไม่เป็น
นักเรียนรุ่นก่อนท่องจำมาแต่เด็กว่า ปัจจัย 4 ของมนุษย์คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
มาถึงวันนี้บางคนอาจรวมสมาร์ตโฟนเป็นปัจจัยที่ 5 เพราะบางคนเห็นว่าชีวิตไร้ค่าถ้าไม่มีสมาร์ตโฟน
แต่สี่ปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการดำรงชีพก็ยังมีระดับของ ‘Essential’ ต่างกัน เห็นชัดในช่วงโรคระบาด ยกตัวอย่าง เช่น การรักษาพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต แต่ในช่วงโควิดระบาด ผู้ป่วยบางคนกลับเลือกไม่ไปหาหมอ เพราะกลัวติดโควิดจากโรงพยาบาล ก็รักษาตัวเองจนหาย หรือไปโรงพยาบาลต่อเมื่อระดับความจำเป็นถึงขีดสุด
บ้านเป็น ‘Essential’ แต่สำหรับคนจรจัดไร้บ้านในหลายที่ ไม่มีบ้านก็อาจไม่ถึงกับตาย
รถยนต์สำหรับคนคนหนึ่งเป็น‘Essential’เพราะบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงานมาก มันเป็นความจำเป็นจริง ๆ สำหรับอีกคนหนึ่ง อาจไม่ใช่
แม้แต่เสื้อผ้า ก็มีระดับ ‘Essential’ต่างกัน บางคนมี 2-3 ชุดก็อยู่ได้ บางคนมี 100-200 ชุด
บางคนใช้รองเท้าทีละคู่ ทั้งชีวิตใช้เพียงไม่กี่คู่ ขณะที่อีกคนมีรองเท้าสามพันคู่
จำนวนเสื้อผ้า รองเท้า หรือบ้าน ฯลฯ มากหรือน้อย ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดถูก มันขึ้นอยู่กับ ‘มาตรวัดความจำเป็น’ ของแต่ละคน คนบางอาชีพอาจจำเป็นต้องมีเสื้อผ้ามากกว่าคนทั่วไป
เมืองไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเดือดร้อนกันทั่วหน้า ปัจจัย 4 ขาดแคลนอย่างหนัก ก็อยู่กันมาได้ ดังนั้นพิจารณาให้ดี มองให้ลึก เราอาจพบว่าท้ายที่สุดแล้ว เรา ข้าวของ สมบัติพัสถานในชีวิตก็เช่นกัน มันเป็น ‘Essential’ หรือไม่เป็นขึ้นกับสถานการณ์ มุมมอง ทัศนคติ และวิถีชีวิตแต่ละคน
คนที่มีมาตรวัดความจำเป็นต่ำ ชีวิตก็ไม่รุ่มร่าม เวลาจากโลกไป ก็ไม่ต้องเสียเวลาตัดใจนานนัก
ความมากความน้อยของแต่ละคนต่างกัน สำหรับคนที่ชอบชีวิตแบบพอเพียง อาจรู้สึกว่าปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ ง่ายกว่า หรือมีความสุขได้ง่ายกว่า เพราะมีข้อแม้ในชีวิตน้อยกว่า
เวลาวิกฤติช่วยสอนเราให้รู้ว่า อะไรเป็นสิ่ง ‘Essential’ จริง ๆ
บางครั้งวิกฤติและภยันตรายก็เป็น ‘Essential’ อย่างหนึ่งในชีวิต มันทำให้เราต้องเรียนรู้และปรับตัว หรือทำให้ท้ายที่สุดเรารอดตายมาได้
บทเรียนเรื่องเลวร้ายก็อาจเป็น ‘Essential’ อย่างหนึ่งของชีวิต
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY
ธวัลรัตน์ จริงนะ ลองดูของในบ้านสิ ใช้ถึง 10% รึเปล่า บางทีการไม่มีอะไร จะรู้สึกสบาย ไม่ต้องรักษา & หวงแหน
03 ส.ค. 2563 เวลา 09.36 น.
Pattie จริงค่ะ ปัจจัยสี่หรือห้าของคนไม่เหมือนกัน ยิ่งคนมีน้อยก็ยิ่งทุกข์น้อย ปล่อยวางว่าย อยู่กับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ และมองปัญหาว่าเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ
03 ส.ค. 2563 เวลา 04.02 น.
BThee อยู่มาได้ อยู่มาแล้ว ไม่เห็นต้องมีเธอ ฉันก็มีลมหายใจ
03 ส.ค. 2563 เวลา 02.46 น.
ในการมีสามัญสำนึกที่ดี ย่อมที่จะทำให้รู้ถึงในสิ่งที่ควรจะทำเสมอ.
03 ส.ค. 2563 เวลา 03.48 น.
สุกิจ อ่านประโยคย่อหน้าสุดท้ายเผินๆก็ว่าดีและคมคาย พอมาไตร่ตรองแล้วก็คิดว่า จริงหรือ
03 ส.ค. 2563 เวลา 03.10 น.
ดูทั้งหมด