ทั่วไป

ไซเบอร์ บุลลี่ ผลพวงสื่อโซเชียลฯ น้ำผึ้งเคลือบยาพิษ

คมชัดลึกออนไลน์
อัพเดต 23 ต.ค. 2562 เวลา 02.32 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 02.25 น.

เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า โซเชียลมีเดียนั้นมีทั้งประโยชน์และด้านมืดอยู่ควบคู่กัน แต่ผู้คนมักเล็งผลเลิศจากผลกำไรและความเพลิดเพลินโดยลืมอีกด้านของโซเชียลมีเดียไปจนหมดสิ้น การที่ผู้คนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเสมือนการมอบอำนาจให้คนกลุ่มใหญ่ได้แสดงออกถึงความรู้สึก ความชอบ ความไม่ชอบของตัวเองให้โลกได้รับรู้ และทำให้รู้จักกับใครต่อใครในโลกได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์ยังทำให้มนุษย์ได้ลิ้มรสของความเป็นอิสระ และกลายเป็นเครื่องมือปลดปล่อยความอัดอั้นของมนุษย์ที่เคยถูกจำกัดด้วยช่องทางการสื่อสารที่เข้าไม่ถึง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่โซเชียลมีเดียจะกลายเป็นของวิเศษที่คนจำนวนมากขาดไม่ได้ และในขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น และอาจวกกลับมาทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัวก็ได้เช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนั้น สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่ใครต่อใครหวังพึ่งพิงเพื่อใช้ประโยชน์กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดสำหรับการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ หรือที่มักเรียกกันว่าการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber bullying) ซึ่งเป็นกลั่นแกล้งกันโดยใช้โทรศัพท์ อีเมล ห้องแชท รวมทั้งโซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายชื่อเสียง ทำร้ายจิตใจ หรืออาจรวมไปถึงการทำลายชีวิตได้เช่นกัน

รูปแบบการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เท่าที่พบเห็นโดยทั่วไปได้แก่
1.การรังควาน (Harassment) เป็นการส่งหรือโพสต์ข้อความหรือภาพที่ไม่เหมาะสมไปยังบุคคลเป้าหมาย ทำให้ผู้ได้รับข้อความเกิดความเสียใจ โกรธ หรือขุ่นเคืองใจอย่างมากต่อสิ่งที่ได้รับ และผู้กระทำมักไม่กระทำเพียงครั้งเดียว

2.การเผา (Flaming) จุดมุ่งหมายของการเผาจะเน้นเรื่องของการสร้างความทุกข์ทรมานทางใจแก่บุคคลเป้าหมาย ในรูปแบบของการเขียน ส่งเสียงพูด หรือสร้างความขุ่นมัวทางอารมณ์แก่เป้าหมาย การกลั่นแกล้งด้วยวิธีนี้ ผู้กระทำมักหวังผลให้มีการตอบโต้จากผู้ถูกกระทำ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3.การขับออกจากกลุ่ม (Exclusion) เป็นการรวมหัวของกลุ่มคนเพื่อกลั่นแกล้งเป้าหมายเพื่อให้เป้าหมายโดดเดี่ยว การกลั่นแกล้งประเภทนี้หากเกิดขึ้นกับเด็กจะมีผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือนก็ตาม

4.ภาพ-เสียง-ข้อความหลุด (Outing) คนจำนวนมากมักส่งภาพ เสียง ข้อความต่างๆ ที่เป็นความลับระหว่างคนสองคนให้แก่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาบหวิวต่างๆ ที่ผู้ส่งไว้ใจผู้รับ และเชื่อว่าจะรู้เห็นกันแค่สองคน แต่กลายเป็นว่าภาพ เสียง และข้อความต่างๆ ถูกเผยแพร่ต่อออกไป ซึ่งสร้างความอับอายและความทุกข์แก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเป็นอย่างยิ่ง เหยื่อของภาพหลุดจำนวนไม่น้อยจึงต้องใช้ชีวิตเหมือนตายทั้งเป็นเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย

5.การปลอมตัว (Masquerading) คือการใช้สื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียเพื่อการปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น เช่น ใช้อีเมลที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ใช้ชื่อบุคคลที่เป็นเป้าหมาย หรือสร้างบัญชีบนโซเชียลมีเดียโดยใช้รูปและชื่อบุคคลอื่น หรือใช้วิธีการใดๆ ทางดิจิทัลเพื่อปลอมตัวตนเป็นบุคคลอื่น เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

6.การเกาะติดชีวิตผู้อื่น (Cyber stalking) เป็นรูปแบบหนึ่งของการรังควาน ซึ่งมีระดับความเข้มข้นมากกว่าการรังควาน เพราะผู้กระทำจะมีพฤติกรรมหมกมุ่นอยู่กับเป้าหมายมากผิดปกติ เช่น ส่งข้อความ ภาพ หรือคอมเมนต์ต่างๆ ไปยังเป้าหมายอย่างไม่หยุดหย่อน รวมทั้งสร้างความหวาดกลัวให้แก่เป้าหมาย เช่น ไปปรากฏตัวที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่โรงเรียน เป็นต้น เท่าที่เป็นข่าวพฤติกรรมประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับดารา นักร้อง หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มักใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารถึงกิจกรรมที่ชอบทำ หรือชอบแชร์ภาพและสถานที่ต่างๆ เป็นต้น

ด้วยความง่ายของต่อการใช้งานและมีลูกเล่นสารพัดรูปแบบ โซเชียลมีเดียจึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการฉกฉวยประโยชน์ในทางมิชอบ รวมไปถึงถูกนำไปใช้ในการกลั่นแกล้งโดยบุคคลที่เรารู้จักหรือไม่รู้จักได้ทุกนาที ตราบเท่าที่เรายังติดต่อสื่อสารกับผู้คนบนโลกออนไลน์ ปรากฏการณ์ของการกลั่นแกล้งบนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียจึงไม่ต่างจากปัญหาทางสังคมรูปแบบอื่นๆ ที่มนุษย์เผชิญตลอดมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดีย

ความเป็นพิษของสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้คือต้นเหตุอาการป่วยของสังคมในยุคดิจิทัล ซึ่งต้องการมาตรการการป้องกันและการเยียวยาที่เข้มข้นมากกว่าเดิม ตราบเท่าที่มนุษย์ยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการติดต่อสื่อสารทุกนาที

โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์เป็นเสมือน "น้ำผึ้งเคลือบยาพิษ" ที่ต้องใช้สติในการแยกแยะความเป็นประโยชน์ออกจากความเป็นพิษด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโลกที่ไร้ความเมตตาปรานี และหากผู้คนในสังคมรู้ไม่เท่าทันและไร้ภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งเพียงพอ ก็อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีบนโลกแห่งความน่าเกรงกลัวนี้…ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ดูข่าวต้นฉบับ