ไอที ธุรกิจ

แกะรอย "ฟาร์มปลาสลิด" เงินล้าน! ใช้หญ้าเลี้ยงลดต้นทุน จดบันทึกอาหารเคร่งครัด

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 09.32 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2561 เวลา 05.11 น.

เกษตรกรปราดเปรื่อง ด้านปลาสลิด

คุณปัญญา โตกทอง ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer) ในเรื่องของการเลี้ยงปลาสลิดด้วยงานวิจัย เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบ แทนจากการผลิตสูง

คุณปัญญา เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร เรียนจบแค่ ป.4 พ่อแม่เลี้ยงกุ้งในนาเป็นอาชีพ สมัยเด็กๆ ก็เคยช่วยพ่อแม่เลี้ยงกุ้ง หลังแต่งงาน ก็แยกตัวออกมาทำกิจการนากุ้งเป็นของตัวเอง แต่เจอปัญหาอุปสรรคบางประการทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงกุ้งช่วงหนึ่ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ช่วงประมาณปี 2537 คุณปัญญาเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่นาข้าวได้ผลกำไรงาม จึงตัดสินใจเลี้ยงปลาสลิดบนเนื้อที่ 30 กว่าไร่ เนื่องจากอ่อนประสบการณ์ทำให้ประสบปัญหาทุนหายกำไรหด ปีแรกมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงแค่ 50,000 บาทเท่านั้น

แม้ธุรกิจจะล้มลุกคลุกคลานในปีแรก แต่คุณปัญญาก็ไม่ท้อถอย ใช้วิธีการศึกษาปัญหา หาวิธีการแก้ปัญหา โดยใช้ภูมิปัญญา ใช้ความรู้ จากวิถีชีวิตชาวบ้านมาพัฒนาวิธีการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดที่เป็นรูปแบบของตัวเอง โดยใช้หลักการเลี้ยงปลาตามหลักธรรมชาติแบบง่ายๆ คือ ฟันหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลา ปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดีแถมมีต้นทุนต่ำ ฟาร์มเลี้ยงปลาแห่งนี้จึงเริ่มมีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำไรในปีที่ 3 ในวงเงินกว่า 300,000 บาท ปีที่4 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่เขาพึงพอใจแล้ว

เดิมทีคุณปัญญาและเกษตรกรในชุมชนแห่งนี้เลี้ยงปลาแบบปล่อยตามธรรมชาติ ไม่มีการจดบันทึก ไม่มีเทคนิคการเลี้ยงที่เป็นแบบแผน แต่ภายหลังพวกเขาได้รับการอบรมด้านงานวิจัยประมง จึงได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ในอาชีพการเลี้ยงปลา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คุณปัญญานำเทคนิคการจดบันทึกข้อมูลในงานวิจัยทุกขั้นตอน มาปรับใช้กับการเลี้ยงปลาสลิด ทุกขั้นตอน จนเข้าใจวิธีการเพาะฟักลูกปลาให้มีอัตราการรอดสูง วิธีการให้อาหารที่เหมาะสมกับปลาในแต่ละช่วงวัยวิธีการดูแลให้ปลาแข็งแรงปลอดโรค วิธีลดปริมาณศัตรูปลาที่แย่งอาหาร ทำให้ฟาร์มแห่งนี้ มีผลผลิตคุณภาพดี ในปริมาณที่มากขึ้น และมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น

จากเดิม ฟาร์มเลี้ยงปลาเนื้อที่ 30 ไร่แห่งนี้ เคยมีรายได้จากการขายปลาอยู่ที่ 600,000 บาทหลังปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 1,112,500 บาท ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน หลังจากนั้น เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทะลุหลักล้านมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับเลี้ยง “ปลาสลิด” ให้มีความสุข

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ฟาร์มแห่งนี้ เน้นการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดแบบธรรมชาติ ก่อนเลี้ยงต้องตากบ่อ ประมาณ 45 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยปลาเข้าเลี้ยงในบ่อ แต่ละบ่อมีความกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร ระดับความลึก 1-1.2 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 50-70 เซนติเมตร ระดับน้ำในบ่อสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ที่นี่ปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นหนาแน่นบริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลา เพื่อใช้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิดแล้ว ต้นหญ้ายังมีประโยชน์ เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู และใช้ต้นหญ้านำมาหมัก ในแปลงนาก่อนเพาะฟัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำ

เมื่อปลาสลิด อายุราว 20 วัน คุณปัญญาสามารถใช้ต้นหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีกทางหนึ่ง โดยจะฟันหญ้าอ่อนให้ลูกปลากินทุกๆ 15 วันจนกระทั่งลูกปลาอายุประมาณ 4 เดือน สำหรับปลาสลิดที่อายุ 3 เดือน คุณปัญญาจะให้อาหารคือหญ้าอ่อน ควบคู่กับอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยทำยอเป็นที่ให้อาหารในอัตรา 2% ของน้ำหนักตัว เพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า

การให้อาหารปลาสลิดในแต่ละครั้ง คุณปัญญาจะจดบันทึกปริมาณอาหารที่ให้ปลา และคอยสังเกตว่า ปลากินอาหารหมดช่วงเวลาไหน ถ้าปลาสลิดกินหมดช่วงเวลาเย็น แสดงว่าอาหารพอดีกับความต้องการของปลา หากปลาสลิดกินอาหารหมดเร็ว แสดงว่าอาหารไม่พอ ควรเพิ่มปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม

เมื่อปลาสลิดมีอายุได้ 3 เดือน คุณปัญญาจะใช้วิธีการจับปลาแบบยกยอ ทุกๆ 15 – 20 วัน จนกว่าจะจับขายเพื่อตรวจสอบดูว่า 1 กิโลกรัม มีปลากี่ตัว และใน 1 บ่อ มีปลากี่ตัว เพื่อเป็นการคำนวณน้ำหนักของปลาที่เลี้ยงในบ่อทั้งหมด เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราส่วนการแลกเนื้อของปลา และอาหาร รวมทั้งคำนวณต้นทุนกำไร

ต้นทุนการเลี้ยงปลาของคุณปัญญา จะคำนวณจากปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา 87,750 กิโลกรัม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่  10 บาท/ก.ก. รวมมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารปลา 877,500 บาท ขายปลาได้ 48,750 กิโลกรัม แสดงว่าอัตราการแลกเนื้อและอาหารคือ 1:1.8 กิโลกรัม

ส่วนการคำนวณต้นทุนและกำไร ในการเลี้ยงปลาสลิด ให้เอาน้ำหนักปลาที่จับได้คูณราคาขายที่กิโลกรัมละ 50 บาท พบว่าขายได้ 2,437,500 บาท หักค่าต้นทุนค่าอาหารจะเหลือเงิน 1,560,000 บาท จากนั้นนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักจะได้ตัวเลขที่เป็นกำไรสุทธิ

“เกษตรกรที่เลี้ยงปลาสลิดในชุมชนแห่งนี้จะมีการแลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารกันตลอด เน้นเลี้ยงปลาสลิดแบบธรรมชาติ เลี้ยงในปริมาณที่ไม่หนาแน่น เพื่อให้ปลาเจออากาศบริสุทธิ์ ผมเน้นเลี้ยงปลาสลิดทุกตัวให้มีความสุข เพื่อให้เกิดสารความสุขอยู่ในตัวปลา คนกินปลาก็จะมีความสุขไปด้วย” คุณปัญญากล่าว

ตลาดปลาสลิด

หลังจากเลี้ยงปลาสลิด เป็นระยะเวลา 9 เดือนจะมีพ่อค้าจากสมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม มาเหมาบ่อจับปลา โดยใช้วิธีเปิดอวนออกเช่นเดียวกับการจับกุ้ง สามารถช่วยไม่ให้ตัวปลาบอบช้ำและขายได้น้ำหนักดี โดยปลาสลิดที่จับได้ส่วนใหญ่จะน้ำหนักประมาณ 7-8 ตัว/ กิโลกรัม นอกจากผลิตขายในประเทศแล้ว ส่วนหนี่งยังถูกส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม กัมพูชา อีกด้วย

คุณปัญญาภาคภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบอาสาสมัครของ สศก. ทุกวันนี้ คุณปัญญาเปิดบ้านเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านประมงและด้านเกษตรอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หากใครมีเวลาว่างสามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมหรือพูดคุยเรื่องการเลี้ยงปลาสลิดได้ทุกวัน ณ บ้านเลขหมู่ที่ 5 ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คุณปัญญายินดี ถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจทุกคน หรือ โทรศัพท์พูดคุยกับ คุณปัญญา โตกทอง ได้โดยตรงที่โทร. (083) 706-6006

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Champ Lkpd
    ตายตาหลับแล้วกู ได้เห็นหัวปลาสลิด 😅
    25 พ.ย. 2561 เวลา 05.41 น.
  • Jaengthaisong S.
    ตั้งแต่อ่านข่าวมา อันนี้มีสาระที่สุดแล้วครับ
    25 พ.ย. 2561 เวลา 05.15 น.
ดูทั้งหมด